รัฐสภา 22 พ.ค.-“เทวฤทธิ์” ชงญัตติด่วนขอ สว.ชะลอเลือกกรรมการองค์กรอิสระ จนกว่าจะรู้ผลคดีฮั้ว มั่นใจไม่กระทบกรอบ ชี้หากดึงดันเดินหน้า จะส่งผลกระทบร้ายแรงกว่า
นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา พร้อมด้วยนางสาวมณีรัฐ เขมะวงศ์ สมาชิกวุฒิสภา แถลงข่าวถึง “การยื่นญัตติชะลอการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.,กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ กรรมการ ป.ป.ช., ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอัยการสูงสุด และการให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง” ที่ที่ประชุมวุฒิสภา จะมีการพิจารณาในการประชุม สมัยวิสามัญในวันที่ 29-30 พฤษภาคมนี้ โดยได้ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อเสนอประธานวุฒิสภาตามขั้นตอนแล้ว จนกว่าจะมีคำตัดสินในคดีฮั้ว สว.ที่มี สว.ถูกร้องจำนวนมาก จึงหวังว่า ประธานวุฒิสภา จะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม
นายเทวฤทธิ์ ยังระบุว่า สว.ที่ถูกร้องเรียน ณ ปัจจุบัน ยังมีสถานะว่าบริสุทธิ์อยู่ แต่อีกสถานะหนึ่ง สว.เหล่านี้ จะต้องให้ความเห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระ ที่ตนเองกำลังเป็นคู่กรณี ทั้งการตัดสินของ ป.ป.ช., ศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต.ดังนั้น การให้ความเห็นชอบกรรมการองค์กรเหล่านี้ จึงควรชะลอไว้ก่อน เพื่อความเป็นธรรม และรักษาความเป็นอิสระ ไม่ขัดกันของผลประโยชน์ และหวังว่า สว.ที่ถูกร้องเรียน จะยอมงดใช้อำนาจ และตัดสินใจบนมาตรฐานเดียวกันกับการร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อการเลือก สว.
ส่วนกรณีที่นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา กำลังล่ารายชื่อวุฒิสภา เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญขอให้ศาลฯ มีคำสั่งให้วุฒิสภา ชะลอการให้ความเห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระไปก่อนนั้น นายเทวฤทธิ์ ระบุว่า ขณะนี้ ยังไม่สามารถยื่นได้ เพราะจะต้องรอให้รายชื่อครบ 20 รายชื่อ แต่ตนเองเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 มีช่องให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็น ควรวินิจฉัยข้อกฎหมาย และสถานบันการเมือง ไม่ควรมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ควรยึดโยงที่มา จึงไม่สนับสนุนให้ใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัย และหวังว่า วุฒิสภา ควรรับผิดชอบตนเอง
นายเทวฤทธิ์ ยังระบุว่า หากประธานวุฒิสภา ไม่บรรจุเข้าสู่วาระการประชุม ตนเองก็จะเสนอเป็นญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อขอให้วุฒิสภาชะลอการดำเนินการ โดยมั่นใจว่า จะไม่กระทบกับกรอบเวลาการให้ความเห็นชอบกรรมการในองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม รวมถึงยังไม่กระทบต่อการทำหน้าที่ของกรรมการองค์กรอิสระ เพราะตามกฎหมายยังสามารถให้รักษาการณ์ได้ แต่การเร่งให้ความเห็นชอบ จะเกิดผลกระทบร้ายแรงมากกว่า.-312.-สำนักข่าวไทย