รัฐสภา 21 มิ.ย.-“ประเสริฐ” รมว.ดีอี แจงแอปฯ ทางรัฐ ไม่ร้าง เตรียมใช้บริการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ หลังจบดิจิทัลวอลเล็ต ชี้งบเตือนภัยไม่ได้ซ้ำซ้อน เหตุแจ้งเตือนคนละเหตุการณ์ ด้าน “ปกรณ์วุฒิ” แนะรวมเป็นโครงการเดียวได้หรือไม่
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่สอง สมัยวิสามัญเป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลุกขึ้นชี้แจงว่า งบประมาณของกรมอุตุนิยมวิทยามีผลการดำเนินการคือ อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง 19 รายการ วงเงิน 1,892 ล้านบาท อยู่ระหว่างการทำทีโออาร์ 45 ล้านบาท ซึ่งทางกระทรวงได้กำชับการประกวดราคาให้เป็นไปตามระเบียบ ให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และมาตรฐานเครื่องมือให้เป็นมาตรฐานของกรมอุตุนิยมวิทยาโลก
ส่วนเรื่องการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์หรือ AOC 1441 ซึ่งมีการแนะนำในเรื่องของ 191 เพราะมีงบประมาณหลายพันล้านบาท รวมถึงเกี่ยวกับ กสทช. ตนเองจะรับดูในรายละเอียดและปรึกษา หากเห็นแล้วว่ามีประโยชน์จะรับไปดำเนินการต่อไป
เรื่องของกรมอุตุนิยมวิทยา โครงการดังกล่าว ไม่ใช่งบฝาก หรือแฝงไว้ กรมอุตุนิยมวิทยาวางยุทธศาสตร์ในการจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติในเรื่องการแปลงของสภาพพูมิอากาศ ดังนั้น การตรวจซื้อเครื่องมือ ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปตามมาตรฐาน และงบประมาณที่ซ้ำซ้อนด้านการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ขอชี้แจงว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้มีความซับซ้อน กับกระทรวงสาธารณสุข และกับกระทรวงอื่นๆก็ยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ส่วนการอภิปรายของนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ข้อห่วงใยในแอพลิเคชั่นทางรัฐ หรือเอไอ กระทรวงดีอีมีการอนุมัติเรื่องการเช่าระบบคลาวน์ อยู่ในระหว่างการดำเนินการ เธอเป็นโครงการที่มีความจำเป็น และต้องเร่งดำเนินการมีแหล่งเงินรองรับ
ศูนย์ AOC ขณะนี้ มีคู่สายเพียงพอแล้วต่อการบริการพี่น้องประชาชนและทำงานตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง และแอพทางรัฐ ภายหลังจากโครงการดิจิทัล วอลเล็ต จบลง ก็จะมีการใช้อย่างต่อเนื่อง ในการใช้บริการทางรัฐ
ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน ที่ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็มี และในกระทรวง ก็ยังตั้งงบอีก ซึ่งจะมีในส่วนรายละเอียดที่แตกต่างกันเพราะในปัจจุบันภัยที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะแค่ภัยแล้งหรือภัยน้ำท่วมแต่ยังมีในส่วนของเหตุการณ์ต่างๆซึ่งส่วนนี้ก็จะเป็นส่วนที่ต่างกันและจะเฉพาะเจาะจงเข้าไปอีก
หลังจากนั้น นายปกรณ์วุฒิ ขอใช้สิทธิ์พาดพิง ว่า เรื่องระบบเตือนภัย เราน่าจะมีทางออกที่ทำให้ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศ คือสามารถแก้ไขปัญหาได้ การแก้กฎระเบียบ หรือกฎหมาย เพื่อให้โครงการที่เราจะเตือนภัย เป็นโครงการเดียว สามารถแจ้งได้ในทุกรูปแบบ โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ และไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งหากทางรัฐมนตรีเห็นด้วย ก็สามารถแจ้งให้ทางให้หน่วยงาน แจ้งกับคณะกรรมธิการให้ปรับงบส่วนนี้ออก
ต่อมา นายประเสริฐ กล่าวว่า จะรับข้อสังเกตของนายปกรณ์วุฒิไว้ และคงขึ้นอยู่กับคณะกรรมการอีกครั้ง.-317.-สำนักข่าวไทย