รัฐสภา 25 ต.ค.-ปธ.วิปรัฐบาล และพรรคร่วม แจงโหวตคว่ำญัตติประชามติแก้ รธน.พรรคก้าวไกล ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงปล่อยให้รัฐบาลเป็นผู้จัดทำประชามติ
นายอดิศร เพียงเกษ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล พร้อมด้วยนายชูศักดิ์ ศิรินิล รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล แถลงการณ์ชี้แจงกรณีสภาผู้แทนฯ มีญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ เพื่อแจ้งให้ ครม.ดำเนินการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรมีมติ 261 ต่อ 162 ไม่เห็นชอบที่จะส่งญัตติดังกล่าวไปยัง ครม. เพื่อทำความเข้าใจถึงผลการลงมติดังกล่าว
นายอดิศร กล่าวว่า ประเด็นญัตติการทำประชามติฯ วิปรัฐบาลได้ประชุม 2 ครั้ง โดยประชุมครั้งแรก น่าจะเอาญัตติอื่นขึ้นพิจารณาโดยไม่เปิดให้ฝ่ายค้านมีโอกาสพูดในสภาฯ แต่การประชุมเมื่อเช้าของวิปรัฐบาล มองเรื่องจัดทำประชามติเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าวิปรัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นไปในทิศทางใด ทิศทางหนึ่งอาจจะสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยงกับการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ อาจจะมองได้ว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลไม่ใส่ใจในการจัดทำประชามติ และไม่ใส่ใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงมีมติให้ญัตติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณา โดยประชุม 4 ชั่วโมง ผลมติก็ออกมาไม่เห็นชอบที่จะส่งญัตติดังกล่าวไปยังครม. อย่างไรก็ตามญัตติที่ถูกเสนอวันนี้ รัฐบาลรับรู้รับทราบแน่นอน
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สรุปได้ 2 ประการ โดยประการแรก การทำประชามติ และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว รัฐบาลได้มีการตั้งอนุกรรมาธิการ 2 ชุด ได้แก่ ชุดแรกให้ศึกษาการจัดทำประชามติต้องมีการทำกี่ครั้ง และชุดที่สอง หลังจากทำประชามติจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เพื่อนำไปสู่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีหลักประกัน คือ รัฐบาลได้แถลงนโยบายให้จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการประชุมครม.นัดแรก ได้มีการออกมติครม. ให้มีการจัดทำประชามติ โดยมีการตั้งอนุกมธ.ศึกษาจัดทำประชามติ แต่ญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอก็ไม่ถือว่าสิ้นสุดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ฝ่ายค้านไปอ้างกฎหมายประชามติอ้างมาตร 9(4) ว่า รัฐสภามีมติเห็นชอบเสนอให้รัฐบาล เพื่อไปทำประชามติ ทั้งนี้ รัฐสภาต้องประกอบไปด้วยสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา เพราะฉะนั้น แม้เรามีมติก็ต้องนำไปส่งวุฒิสภา หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบ ท้ายที่สุดก็ส่งเรื่องไปยังรัฐบาลไม่ได้ อย่างไรก็ตาม คำแถลงของรัฐบาลก็ยินดีรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ รัฐบาลเปิดกว้างก็สามารถส่งความเห็นไปยังรัฐบาลได้ ไม่จำเป็นต้องผ่านพ.ร.บ.ประชามติ
พรรคร่วมรัฐบาลยืนยันเห็นด้วยต้องทำประชามติ และต้องทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย เพียงแต่วิธีการจัดทำปล่อยให้รัฐบาลเป็นผู้จัดทำดีแล้ว เนื่องประสบการณ์ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากรัฐบาลและวุฒิสภาไม่เห็นด้วยก็ไม่ได้ ทำไมญัตติวันนี้มีมติไม่ส่ง เนื่องจากหลายเรื่องในญัตติยังมีความขัดแย้งกับความเห็นของรัฐบาล ปัญหาหลัก คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหมายความอย่างไร ผู้เสนอญัตติต้องแก้ทั้งฉบับ แต่พรรคร่วมรัฐบาลจะแก้ไขทั้งฉบับ ไม่รวมหมวด 1 และ หมวด 2 รวมถึงรัฐบาลที่ประกาศจุดยืน ซึ่งหากส่งญัตติไปยังรัฐบาลก็คงปฏิเสธขอเสนอของสภาผู้แทนฯ ซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกัน จึงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม นายชูศักดิ์ กล่าว
นายภราดร ปริศนานันทกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงมติในนี้ คะแนนเสียง 261 ต่อ 162 ไม่ได้หมายความว่า พรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการจัดทำประชามติในการสอบถามพี่น้องประชาชนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่พวกเรากอดรัดรัฐธรรมนูญฉบับเดิม แต่พวกเรายืนยันต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ภายใต้สสร. โดยสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการเสนอญัตติมี 3 ประเด็น ได้แก่ 1.รัฐบาลมีคณะกรรมการมาพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบแล้ว ซึ่งมาจากทุกพรรคการเมืองและนักวิชาการ จึงทำให้คณะกรรมการมีความน่าเชื่อถือ 2.การเสนอญัตติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งขัดเจตนารมณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ในการไม่ให้แก้ไขหมวด 1-2 ดังนั้นพรรคร่วมรัฐบาลจึงไม่เห็นด้วยกับญัตตินี้ 3.พรรคร่วมไม่เห็นด้วยให้มีการเลือกตั้งสสร. 100% เราต้องการให้มีความหลากหลายทุกสาขาอาชีพ อาทิ กลุ่ม LGBTQ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ ครบถ้วน ทั้งนี้ ใช่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการจัดทำประชามติเพื่อสอบถามความเห็น และการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่.-สำนักข่าวไทย