กรุงเทพฯ 6 ม.ค. – ธปท.ห่วงหนี้บ้าน-หนี้รถยนต์ กระทบกลุ่มเปราะบาง อยากเห็นแนวทางเพิ่มรายได้-ลดหนี้ใหม่ ยอมรับปี 68 ค่าเงินบาทยังผันผวนหนัก จับตาใกล้ชิด
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสัดส่วนหนี้ครัวครัวเรือนไทยในไตรมาส 4 ปี 67 อยู่ที่ระดับ 89% ของจีดีพี ปรับลดลงจาก 89.8% ของจีดีพีในไตรมาส 3 ปี 67 แแต่สิ่งที่ ธปท.ให้ความสำคัญยิ่งกว่าคือมูลหนี้ที่เกิดขึ้นจะไปกระทบความเป็นอยู่ภาคครัวเรือนอย่างไร โดยเฉพาะหนี้บ้านและหนี้รถยนต์ ที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพในกลุ่มเปราะบาง ดังนั้นสิ่งที่ ธปท.อยากเห็นคือการเพิ่มรายได้ให้แก่ภาคครัวเรือน แนวทางการลดหนี้ใหม่ที่จะเกิดขึ้น แต่ต้องไม่ลดลงมากจนกระทบสภาพคล่องครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามผลของมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ว่าจะช่วยส่งผลต่อสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไปในทิศทางใด
นายสักกะภพ ยังย้ำถึงการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งล่าสุดเดือนธันวาคม 2567 ที่ระดับ 2.25% ต่อปี โดยเห็นว่าดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับศักยภาพ เงินเฟ้อที่แนวโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยในระยะต่อไปหากจะ มีการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยยังต้องดูทั้ง 3 ด้านเหล่านี้ควบคู่กันไป ทั้งระยะสั้นและระยะปานกลาง
ส่วนทิศทางค่าเงินบาทในปี 2568 นี้ ยอมรับว่ายังมีความผันผวนมาก จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกเป็นหลักทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ต้นทุนการลงทุนที่ผันผวน ซึ่ง ธปท. พร้อมเข้ามาดูแลหากค่าเงินบาทเกิดการผันผวนมากขึ้น
สำหรับกรณีที่สมาคมธนาคารไทยขานรับนโยบาย ธปท. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการยกระดับการทำธุรกรรมกับประเทศที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อป้องกันการสนับสนุนการก่อการร้าย หรือสงครามที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน นั้น นายสักกะภพ กล่าวว่า ธปท. ได้มีการตรวจสอบพบว่า ปริมาณธุรกรรมปรับลดลง ทั้งนี้ได้เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น พร้อมย้ำว่า ธปท. ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวและมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด.-516-สำนักข่าวไทย