ธปท.เผยระบบการเงินไทยปี 2567 มีเสถียรภาพ

กรุงเทพฯ 3 ม.ค. – ธปท.เผยแพร่รายงานระบบการเงินไทยปี 2567 มีเสถียรภาพ ฐานะการเงินมั่นคง มีสภาพคล่องเพียงพอ ไม่มีสัญญาณเกิดฟองสบู่-เก็งกำไร จับตาความเสี่ยงทั้งสินเชื่อขยายตัวชะลอลง-คุณภาพสินเชื่อด้อยลง-หนี้ครัวเรือน


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการติดตามเสถียรภาพระบบการเงินไทยปี 2567 โดยระบุว่า ระบบการเงินไทยในภาพรวมมีเสถียรภาพและสามารถทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริงได้ทั้งภาคสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ สหกรณ์ออมทรัพย์ และบริษัทประกันภัย โดยรวมมีฐานะการเงินที่ดีมีความมั่นคง และมีสภาพคล่องเพียงพอ ระบบการเงินไม่ได้มีสัญญาณของการเกิดฟองสบู่ (asset price bubble) หรือการเก็งกำไร (search for yield) สะท้อนจากราคาสินทรัพย์ทางการเงินและอสังหาริมทรัพย์ที่ค่อนข้างทรงตัว ด้านการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน (household leverage) ลดลง สะท้อนกระบวนการปรับลดหนี้ครัวเรือน (household deleveraging) ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว

อย่างไรก็ดี ระบบการเงินไทยในปัจจุบันยังมีความเสี่ยงในบางจุด ได้แก่ (1) การขยายตัวของสินเชื่อและการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ชะลอลง และส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยมีสาเหตุจากทั้งความต้องการสินเชื่อที่ลดลง โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ยังไม่มีความต้องการลงทุนเพิ่มจากแนวโน้มทาง ธุรกิจที่ไม่เอื้อ หรือมีความต้องการลงทุนโดยใช้แหล่งเงินอื่น การชำระคืนหนี้ที่กู้ยืมไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 และความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้บางกลุ่มที่อยู่ในระดับสูง อาทิ ครัวเรือนกลุ่มเปราะบางและธุรกิจ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (small and medium enterprises : SMEs) ในบางอุตสาหกรรม ประกอบกับ นักลงทุนยังมีความระมัดระวังในการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน จากการฟื้นตัวช้าในบางภาคธุรกิจการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ และปัญหาธรรมาภิบาลของบางบริษัท ทำให้การระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีต้นทุนสูงขึ้น (2) คุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง โดยคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ส่วนใหญ่มาจากลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ ลูกหนี้ SMEs ที่ฟื้นตัวช้าหรือเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันจากสินค้าจีน รวมถึงครัวเรือนที่รายได้ฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับรายจ่ายและภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภาระหนี้สูงหรือเคยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินมาก่อน ทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้อาจได้รับสภาพคล่องและมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชนบางรายส่งผลให้นักลงทุนมีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น แม้จะเป็นปัญหาเฉพาะของบางบริษัท และ (3) หนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่บางรายที่อยู่ในระดับสูง โดยหนี้ครัวเรือนของไทยเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (gross domestic product : GDP) ยังสูงเป็นอันดับต้น ๆเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แม้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูงลดทอนกำลังซื้อของครัวเรือน และอาจกระทบต่อกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริงในระยะข้างหน้า ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงทำให้ครัวเรือนมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงลดลงหากมีปัจจัยที่กระทบต่อรายได้ในอนาคต (income shocks) ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่บางรายในปัจจุบันมีฐานะการเงินที่ค่อนข้างดีและมีสภาพคล่องเพียงพอ แต่มีการก่อหนี้ในระดับสูง ทั้งในส่วนของสินเชื่อและตราสารหนี้ ซึ่งอาจเป็นการสะสมความเปราะบางทางการเงิน จึงต้องมีการติดตามความเสี่ยงดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง


มองไปข้างหน้า ยังต้องติดตามพัฒนาการความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อระบบการเงินไทย ดังนี้ (1) พัฒนาการ ด้านสินเชื่อและตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่อาจยังชะลอลงและส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมากกว่าที่คาด โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ในภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและครัวเรือนที่รายได้อาจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ มีภาระหนี้และค่าใช้จ่ายสูง อาจมีสภาพคล่องลดลง โดยต้องติดตามผลกระทบที่จะ มีต่อการใช้จ่าย การลงทุน รวมถึงผลกระทบที่อาจมีต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจโดยรวม (2) ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลงอาจส่งผลให้คุณภาพสินเชื่อด้อยลงอีก โดยเฉพาะธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมที่การแข่งขันรุนแรงขึ้น และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจเพิ่มขึ้นในกลุ่มครัวเรือนเปราะบางหรือมีความเสี่ยงด้านการจ้างงาน ซึ่งอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้มากกว่า 1 วงเงิน (cross default) หรือในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่เคย ผิดนัดชำระหนี้มาก่อน และ (3) การระดมทุนผ่านตราสารหนี้ภาคเอกชนที่อาจทำได้ยากขึ้นหรือมีต้นทุนที่สูงขึ้น จากทั้งปัจจัยภายในประเทศที่มาจากความกังวลด้านการบริหารสภาพคล่อง การดำเนินธุรกิจและการบริหารภาระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้บางราย ทำให้นักลงทุนมีแนวโน้มระมัดระวังในการลงทุนและเลือก ถือครองสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีมากขึ้น ประกอบกับปัจจัยลบจากภายนอกประเทศ อาทิ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical risk) และทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ การค้า และการเมืองของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีความไม่แน่นอนสูง ที่อาจส่งผลให้ตลาดการเงินมีความผันผวนกว่าช่วงที่ผ่านมา.-516-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ผบช.น.ยอมรับการอบรมอาสาตำรวจให้คนจีนมีจริง-ตร.แค่เป็นวิทยากร

ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยอมรับการอบรมอาสาตำรวจให้กับคนจีนมีจริง แต่เจ้าของโครงการ ไม่ใช่ตำรวจนครบาล 3 เพียงแต่ถูกเชิญไปเป็นวิทยากรเท่านั้น ส่วนเจ้าของโครงการ เป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังย่านฝั่งธนบุรี

ชายวัย 53 เมาคว้าปืนลูกซองยิงเพื่อนบ้านวัย 60 ดับ ฉุนฉลองปีใหม่

ชายวัย 53 ปี อารมณ์ร้อน คว้าปืนลูกซองยิงชายวัย 60 ปี เสียชีวิต ฉุนนั่งย่างเนื้อให้ลูกๆ ที่กลับมาเยี่ยมบ้านฉลองปีใหม่

ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ

นึกว่าแจกฟรี ก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋น เมืองเชียงใหม่

เอาใจสายเนื้อ ขึ้นเหนือไปกินก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ย่านถนนราชดำเนิน กลางเมืองเชียงใหม่ ขายดิบขายดี นึกว่าแจกฟรี ลูกค้าต่อแถวยาวเหยียด

ข่าวแนะนำ

กต.เผยเมียนมาปล่อยตัวนักโทษไทย 152 คน-ไม่มี 4 ลูกเรือประมงไทย

กระทรวงการต่างประเทศ เผยเมียนมาปล่อยตัวนักโทษชาวไทย 152 คน แต่ยังไม่มี 4 ลูกเรือประมง ยืนยันพยายามอย่างเต็มที่

นายหน้าลอยแพ 250 แรงงานไทย ไร้ตั๋วบินทำงานต่างประเทศ

ฝันสลาย แรงงานไทย 250 ชีวิต เหมารถมาสนามบินเก้อ หวังได้ไปทำงานในต่างประเทศ สุดท้ายไม่มีตั๋วบิน รวมตัวแจ้งความตำรวจ หวั่นถูกหลอกสูญเงินกว่า 12 ล้านบาท

ตร.-ผอ.รพ.แจงวิสามัญผู้ป่วยคลั่ง ทำตามยุทธวิธี

ตำรวจ-รพ. แถลงเหตุวิสามัญผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ คลั่งกลาง รพ.สุรินทร์ ตำรวจแจงทำตามยุทธวิธี แต่ผู้ป่วยมีอาการคลั่ง ไม่สงบ จึงจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนยิงเพื่อระงับเหตุ ด้าน รพ. เผยเหตุดังกล่าวเกือบเสียคนไข้อีกคน ส่วนกล้องวงจรปิด พบว่าใช้การไม่ได้ อยู่ระหว่างการเปลี่ยน

เพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดพลาสติก เสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน

ไฟไหม้โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกสำเร็จรูป อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร จนท.ใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง จึงควบคุมเพลิงได้ คาดเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน