27 ก.ค. – การช่วยชีวิตผู้ป่วยหนักโควิด-19 มีบุคลากรทางการแพทย์หลายส่วนที่ต้องเป็นด่านหน้า หนึ่งในนั้นคือ วิสัญญีแพทย์ที่ทำหน้าที่ใส่ท่อช่วยหายใจ หัตถการที่มีความเสี่ยงสูงมากต่อการติดเชื้อโควิดในอากาศ ทีมข่าวพาไปชมความยากลำบากในการทำหน้าที่ส่วนนี้ จากรายงานพิเศษ “เปิดประสบการณ์ชีวิตช่วงวิกฤตโควิด-19” วันนี้นำเสนอเป็นตอนที่ 2
เมื่อผู้ป่วยหนักโควิด-19 เริ่มหอบเหนื่อย มีอาการระบบหายใจล้มเหลว วิสัญญีแพทย์และทีม ต้องรีบใส่ท่อช่วยหายใจด้วยความรวดเร็วและแม่นยำ ระหว่างทำหัตถการนี้มักเกิดการฟุ้งกระจายของละอองฝอยขนาดเล็ก หรือแอร์บอร์น แพร่เชื้อโควิดในอากาศไปได้ไกล พวกเขาจึงเป็นด่านหน้าที่มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อสูง
หนึ่งในวิสัญญีแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เล่าว่า นับตั้งแต่มีเคสแรกเข้ามา ก็ต้องวางแผนปรับการทำงานทุกวัน ผู้ป่วยหนักโควิดส่วนใหญ่มักมาด้วยอาการหอบเหนื่อย ระบบหายใจล้มเหลว และปอดติดเชื้อรุนแรง การใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยจึงต้องทำให้เร็วขึ้นกว่าปกติ
วิสัญญีแพทย์อีกคนที่ทำหน้าที่ใส่ท่อช่วยหายใจให้ผู้ป่วยหนักโควิดมาแล้วหลายราย บอกว่า แม้ทางโรงพยาบาลจะมีการวางระบบ มีเครื่องมือและอุปกรณ์ป้องกันให้อย่างดี แต่ก็อดกังวลไม่ได้ว่าตัวเองซึ่งอยู่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด จะนำเชื้อไปแพร่สู่คนในครอบครัว และคนอื่นๆ ในโรงพยาบาล อีกทั้งโควิด-19 ก็เป็นโรคอุบัติใหม่ ที่เชื้อไวรัสมีการพัฒนาอยู่ตลอด
เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะติด และจะเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อ สิ่งที่กลัวมากกว่าการติดเชื้อ ก็คือ การที่ตัวเราเองเป็นคนแพร่เชื้อ เชื่อว่าบุคลากรส่วนหนึ่ง ส่วนมากด้วย คิดแบบนี้ คือ …สิ่งที่กลัว ไม่ได้กลัวตัวเองติด คือ ไปทำงานเรารู้อยู่แล้วว่า เวลาติดมักไม่ได้มีอาการหนักมากนัก แต่ติดแล้วแพร่กระจายเชื้อ โดยคนที่รับเนี่ย เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแล้วไปทำให้เขาไม่ปลอดภัย อันนี้มันเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากกว่า
ในวิกฤติครั้งนี้มีผู้ป่วยหนักโควิดเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เกือบ 30 คน ส่วนใหญ่มาจากสนามมวยลุมพินี และสถานบันเทิงย่านทองหล่อ อาจารย์แพทย์จากภาควิสัญญีวิทยาทุกคนต้องจัดเวรสแตนด์บายสับเปลี่ยนกันมาทำงานร่วมกับทีมอายุรแพทย์โรคปอด โรคติดเชื้อ และพยาบาล ดูแลผู้ป่วยหนักในไอซียูโควิด ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับบุคลากรและเจ้าหน้าที่ในสาขาอื่นๆ ที่ร่วมกันทำงานอย่างหนัก เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19. – สำนักข่าวไทย