สุราษฎร์ธานี 6 มิ.ย. – “พล.ต.อ. พัชรวาท” สั่งกรมทรัพยากรธรณีติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังเกิดแผ่นดินไหว 2 ครั้งโดยห่างกันเพียง 2 วัน สาเหตุเกิดจากเลื่อนตัวของรอยแตกในหินแกรนิตที่ถูกกระตุ้นโดยพลังงานความร้อนใต้พิภพ ย้ำเกาะสมุยยังเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยเฝ้าติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
นายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกล่าวว่า เริ่มติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวที่เกาะสมุย สืบเนื่องจากการที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวติดต่อกัน 2 ครั้งในอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 เวลา 08.24 น. ขนาดความแรง 2.4 ที่ระดับความลึก 4 กิโลเมตรที่ตำบลอ่างทอง ครั้งที่ 2 เกิดวันที่ 1 มิถุนายน 2567 เวลา 08.24 น. ขนาด 2.2 ที่ความลึก 2 กิโลเมตรที่ตำบลบ่อผุดซึ่งห่างจากจุดแรกประมาณ 20 กิโลเมตรและห่างจากรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยประมาณ 80 กิโลเมตร สาเหตุของแผ่นดินไหวเกิดจากจากการเลื่อนตัวของรอยแตกในหินแกรนิตที่ถูกกระตุ้นโดยพลังงานความร้อนใต้พิภพ
ทั้งนี้ได้นำนักวิชาการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมได้ประชุมร่วมกับนายกัมปนาท กลิ่นเสาวคนธ์ นายอำเภอเกาะสมุย นายสุธรรม สามทอง รองนายกเทศมนตรีเกาะสมุย และนายพูนชิด คำลุน รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สาขาเกาะสมุยเพื่อเตรียมการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวที่เรียกว่า เครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนพื้นดินช่วงคลื่นสั้น (Short period Seismograph) มาติดตั้งที่เกาะสมุยเพื่อติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว ตามข้อสั่งการของพล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่อยู่บนเกาะสมุย
ดร. วีระชาติ วิเวกวิน ผู้อำนวยการส่วนรอยเลื่อนมีพลังและแผ่นดินไหว กองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า สถานที่ติดตั้งเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนพื้นดินช่วงคลื่นสั้นคือ ที่สถานีอุตุนิยมวิทยาสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีติดตั้งเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนพื้นดินช่วงคลื่นสั้นรวม 58 สถานี ครอบคลุม 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย
อีกทั้งเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลการตรวจวัดแผ่นดินไหวแบบ Real time กับระบบประมวลผลกลางของกรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อศึกษาพฤติกรรมกรรมของรอยเลื่อนมีพลังเมื่อเกิดแผ่นดินไหว โดยการตรวจหาตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหว ขนาดแผ่นดินไหว และระดับความลึกแผ่นดินไหว ทำให้สามารถตรวจวัดแผ่นดินไหวได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยมีข้อมูลตำแหน่งการกระจายตัวของแผ่นดินไหว ตลอดจนความถี่ของการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวสำหรับนำไปใช้ในการจัดทำแผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวต่อไป โดยกรมทรัพยากรธรณีจะติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนมั่นใจได้. 512 – สำนักข่าวไทย