กรุงเทพฯ 3 ม.ค. – กรมควบคุมมลพิษเตือนประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นระหว่างวันที่ 3-8 มกราคม เนื่องจากอัตราการระบายอากาศค่อนข้างต่ำ อีกทั้งลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้าสู่กทม. – ปริมณฑลทำให้เกินค่ามาตรฐานถึง 22 พื้นที่ กำชับมาตรการห้ามเผาที่โล่งเพื่อควบคุมฝุ่นในเขตเมือง
นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกตุ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ. ตรวจสอบคุณภาพอากาศวันที่ 3 มกราคม 2567 พบว่า ปริมาณ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานใน 10 จังหวัด ได้แก่ จ. นนทบุรี จ. นครปฐม กรุงเทพฯ จ. สมุทรสาคร จ. สมุทรปราการ จ. อ่างทอง จ. กาญจนบุรี จ. ราชบุรี จ. ระยอง และจ. หนองคาย
ส่วนผลการตรวจวัดตามรายภาคมีดังนี้
– ภาคเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 11.2 – 32.7 มคก./ลบ.ม.
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 12.7 – 43.0 มคก./ลบ.ม.
– ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐาน 3 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 25.5 – 45.7 มคก./ลบ.ม.
– ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 12.4 – 38.0 มคก./ลบ.ม.
– ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 9.8 – 20.0 มคก./ลบ.ม.
– กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. เกินค่ามาตรฐาน 22 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 22.0 – 55.8 มคก./ลบ.ม.
นางสาวปรีญาพรกล่าวว่า ระหว่างวันที่ 3 – 8 มกราคม 2567 สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มสูงขึ้นในหลายพื้นที่เนื่องจากอัตราการระบายอากาศค่อนข้างต่ำ ลมสงบ เป็นสาเหตุให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถสะสมได้ในระดับใกล้ผิวพื้น นอกจากนี้อิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หากเกิดการเผาในที่โล่งจากพื้นที่ใกล้เคียงในทิศต้นลม สถานการณ์อาจทวีความรุนแรงได้ยิ่งขึ้น
ขณะนี้ได้ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรอบเขตปริมณฑลกำกับดูแลกวดขันและเฝ้าระวังการเผาในที่โล่ง ที่อาจส่งผลกระทบในพื้นที่จังหวัดท้ายลมได้ สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะต้องกวดขันดูแลเช่นกันในเรื่องการจราจร การตรวจวัดควันดำจากรถยนต์ดีเซล ฝุ่นจากเขตก่อสร้าง และการระบายอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม
คพ. ขอแนะนำให้ประชาชนเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้ แนะนำประชาชนควรติดตามสถานการณ์ จากแอปพลิเคชัน Air4thai และแฟนเพจศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อใช้ประกอบการวางแผนการดำรงชีวิตโดยเฉพาะกิจกรรมกลางแจ้ง .- 512 – สำนักข่าวไทย