ดีเอสไอ 7 ก.ค. – ดีเอสไอ เรียกสอบพยานคดีอั้งยี่-ฟอกเงิน สว. เพิ่ม 5 ราย รวม 12 ราย ขยายผลเส้นเงินโยงขบวนการฮั้ว สว.
นายระวี อักษรศิริ ผู้อำนวยการกองคดีการฟอกเงินทางอาญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวถึงความคืบหน้าหมายเรียกพยานกลุ่มแรก จำนวน 7 ราย ในคดีอั้งยี่-ฟอกเงิน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เนื่องด้วยปรากฏเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับขบวนการจัดฮั้ว สว. มีการโอนเงินในลักษณะเครือข่ายที่มีการจ้างผู้สมัครใน 3 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ลำพูน และหนองบัวลำภู พบเส้นทางการเงินที่เกี่ยวพันกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 24 จังหวัด ที่คณะพนักงานสอบสวนได้เชิญมาให้ปากคำชี้แจงเรื่องเส้นทางการเงิน ปัจจุบันมีพยานเข้ามาให้ปากคำแล้ว 3 ราย ซึ่งวันนี้จริงๆ แล้ว พนักงานสอบสวนได้นัดหมายพยานไว้ 1 ราย แต่เจ้าตัวไม่ได้เดินทางเข้าพบตามนัดหมาย และไม่ได้มีการแจ้งเลื่อนแต่อย่างใด จึงทำให้พนักงานสอบสวนจะต้องมีการออกหมายเรียกพยานครั้งที่ 2 ส่วนถ้าหากยังไม่เข้าพบในหมายเรียกพยานครั้งที่ 2 ก็ยังไม่ถึงขั้นต้องขอศาลออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนต้องดูว่าปัญหาคืออะไร เหตุใดพยานจึงไม่ได้รับหมายเชิญเข้าให้ปากคำ อาจเป็นปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยทะเบียนบ้านที่ไม่ตรงกับที่อยู่อาศัยในปัจจุบันหรือไม่ หรือไปรษณีย์มีการตีกลับเอกสารหรือไม่อย่างไร ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องไปตรวจสอบเรื่องที่อยู่ของพยานอีกครั้ง ส่วนอีก 3 รายที่เหลือ จะมีการทยอยเข้าให้ปากคำในวันพรุ่งนี้ (8 ก.ค.) และในวันที่ 9 ก.ค. ตามกำหนด อย่างไรก็ตาม ผลการให้ปากคำของพยานทั้ง 3 รายแรก ไม่ได้เป็นการปฏิเสธไปทั้งหมด แต่ก็เป็นทำนองชี้แจงเรื่องเส้นทางการเงินว่าเส้นทางการเงินที่พนักงานสอบสวนได้สอบถามนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง แต่พยานก็ยืนยันว่าเป็นการโอนเงินจริง และเป็นธุรกรรมที่ทำปกติอยู่แล้ว แม้จะเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับช่วงเลือก สว. ก็ตาม
นายระวี เผยอีกว่า ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะพนักงานสอบสวนยังได้ออกหมายเรียกพยานเพิ่มเติมอีก 5 ราย เพื่อให้เข้ามาชี้แจงเรื่องเส้นทางการเงิน ซึ่งการออกหมายเรียกพยานนั้น พนักงานสอบสวนจะทยอยออกหมายเรียกทุกวันแน่นอน ไม่ได้มีการจำกัดว่าหนึ่งลอตจะต้องเชิญกี่ราย แต่พนักงานสอบสวนต้องดูไปตามความเกี่ยวข้องจากพยานหลักฐาน อย่างไรก็ดี พยานกลุ่มสอง จำนวน 5 รายนี้ ล้วนมีพฤติการณ์คล้ายกับพยานกลุ่มแรก คือ มีธุรกรรมการโอนเงินในช่วงการเลือก สว. จึงต้องเชิญพวกเขาเข้ามาชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงเรื่องเส้นทางการเงินว่าเงินดังกล่าวที่พนักงานสอบสวนพบนั้น เป็นการทำธุรกรรมเกี่ยวกับเรื่องใด
นายระวี เผยต่อว่า ต้องอธิบายว่าจำนวนพยานทั้ง 12 ราย ที่คณะพนักงานสอบสวนเชิญมาให้ปากคำเรื่องเส้นทางการเงินนั้น เพราะเจอพยานหลักฐานที่ปรากฏดังกล่าว จึงต้องเชิญพวกเขามาชี้แจง แต่ย้ำว่าไม่ได้เป็นการระบุว่าพวกเขากระทำผิด เพียงแต่ว่าเส้นทางการเงินที่ปรากฏ มันอยู่ในช่วงของการรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) พอดี และมีลักษณะเส้นทางการเงินที่พนักงานเห็นควรว่าต้องตรวจสอบ พวกเขาก็ต้องตอบหรือชี้แจงว่าทำไมจึงมีการโอนเงินในช่วงเวลาดังกล่าว หรือเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องใดบ้าง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นเรื่องปกติในคดีการฟอกเงินที่ต้องดำเนินการ
เมื่อถามว่าต้นทางของแหล่งเงินที่โอนมาให้พยานเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับเครือข่ายของพรรคการเมือง หรือเป็นคนธรรมดาหรือไม่นั้น นายระวี เผยว่า พนักงานสอบสวนจะต้องตรวจสอบต่อไป ซึ่งก็ต้องตรวจสอบย้อนกลับขึ้นไปว่าเป็นเงินที่มาจากที่ไหน เบื้องต้นเราเชิญพยานให้เข้ามาชี้แจงก่อน แต่ถ้าหากเจอว่าเส้นทางการเงินเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (สว.) คณะพนักงานสอบสวนก็ต้องเชิญมาให้ปากคำในฐานะพยานเช่นกัน แต่การจะออกหมายเรียกพยานกับกลุ่มคนเหล่านี้ ก็มีความจำเป็นต้องขอมติจากที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวนก่อน
ต่อข้อถามจากรายงานข้อมูลการสืบสวนของดีเอสไอ เรื่องเส้นทางการเงิน รวมไปถึงรายการเดินบัญชี (Statement) มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่ากลุ่มพยานที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเส้นทางการเงินอาจจะมีจำนวนมากกว่า 100 รายนั้น นายระวี ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้สูงมาก เนื่องจากสเกลที่ดีเอสไอรับผิดชอบสอบสวนเป็นเรื่องของการฟอกเงิน ซึ่งขอบเขตความรับผิดชอบจะใหญ่กว่าในส่วนที่ กกต. ดำเนินการ จึงย้ำว่าพนักงานสอบสวนคดีพิเศษต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ คู่ขนานไปกับการให้ความเป็นธรรมกับพยาน จึงจะได้ข้อสรุปว่าเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยว หรือมีมูลหนี้ใด
เมื่อถามว่าในฐานะที่นายระวี อักษรศิริ ผอ.กองคดีการฟอกเงินทางอาญา เป็น 1 ใน 7 อรหันต์ หรือคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน มองอย่างไรว่าหากบุคคลดังกล่าวถูกแจ้งข้อกล่าวหาฐานความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 โดยเฉพาะมาตราเกี่ยวกับการรับเงิน จะต้องเข้ามาชี้แจงเรื่องการฟอกเงินกับทางดีเอสไอ ในฐานะที่ดีเอสไอรับดำเนินคดีอาญาอั้งยี่-ฟอกเงินหรือไม่นั้น นายระวี ชี้แจงว่า สำหรับบุคคลใดที่ถูกแจ้งมาตรา 77 (1) ตาม พ.ร.ป.สว.61 “กำหนดว่าผู้ใดกระทำการจัด ทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด” ก็จะต้องเข้ามาที่กองคดีการฟอกเงินทางอาญาเพื่อชี้แจงตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เช่นเดียวกัน เนื่องจากมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนมีรายชื่อของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเส้นทางการเงินเรียบร้อยแล้ว แต่เพียงแค่ว่าตามกฏหมายของ กกต. ก็จะเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง ส่วนดีเอสไอก็จะเป็นอีกข้อหาหนึ่ง จึงทำให้การสอบสวนจะมีความคล้ายกัน แต่ใดๆ แล้วบุคคลนั้นต้องชี้แจงให้ได้ว่าเส้นทางการเงินนั้นคือธุรกรรมอะไร
เมื่อถามว่าทางคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน เตรียมที่จะมีการสรุปสำนวนพร้อมความเห็นส่งให้กับสำนักงาน กกต. ในเร็วๆ นี้ ส่วนทางสำนวนคดีอาญาอั้งยี่-ฟอกเงิน จะต้องสรุปสำนวนในเวลาใกล้เคียงกันด้วยหรือไม่ นายระวี ระบุว่า ไม่จำเป็น เพราะมันเป็นกฎหมายคนละฉบับกัน เนื่องจากในส่วนของกฎหมายอั้งยี่-ฟอกเงิน ที่ดีเอสไอรับผิดชอบ ก็ต้องดำเนินการต่อไป ส่วนของ พ.ร.ป.สว.61 ก็ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน แต่ทราบว่าสำนวนคดี พ.ร.ป.สว.61 (คดีฮั้ว สว.) ใกล้จะเสร็จสิ้น และจะส่งให้ กกต. ภายในกลางเดือน ก.ค.นี้ เบื้องต้นรวมแล้วมีผู้เกี่ยวข้องในสำนวนมากกว่า 200 ราย แต่ผู้เกี่ยวข้องอื่นอาจยังมีเพิ่มเติม แต่อาจต้องขอแยกสำนวนของ กกต. มิฉะนั้นอาจสรุปสำนวนไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับมติของทาง กกต.
ต่อข้อถามว่าเหลือเวลาอีกเพียง 1 ปี มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าสำนวนคดีฮั้ว สว. ที่คณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวนรับผิดชอบอยู่นั้น จะถูกส่งถึงมือนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ภายในปี 2568 นั้น นายระวี กล่าวว่า ขอยืนยันว่าไม่มีปัญหาเรื่องระยะเวลา มั่นใจว่าดำเนินการทันอย่างแน่นอน
สำหรับพยานทั้ง 3 ราย จากทั้งหมด 7 ราย ในกลุ่มแรก ที่เข้าให้ปากคำกับคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อชี้แจงเรื่องเส้นทางการเงินในคดีอั้งยี่-ฟอกเงิน ประกอบด้วย น.ส.สินิตา, นายสุบิน และนายอาทร จึงยังเหลือพยานอีกเพียง 4 ราย คือ นายวรพจน์, น.ส.ญาณี, น.ส.ภัณนิภา และนายอากร ที่จะต้องเข้าให้ปากคำระหว่างวันที่ 8-9 ก.ค.68.-119-สำนักข่าวไทย