ดีเอชแอลคาดยอดการค้าออนไลน์ช่วงปลายปีทำปริมาณการส่งของเพิ่มเป็นประวัติการณ์

กรุงเทพฯ 26 พ.ย. ดีเอชแอล ยอดการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ช่วงปลายปีจะสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้ยอดส่งสินค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 50  นายเฮอร์เบิต วงศ์ภูษณชัย กรรมการผู้จัดการ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทยและหัวหน้าภาคพื้นอินโดจีน กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลคนอยู่ที่บ้านและทำให้ยอดการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เรากำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเทศกาลปลายปีซึ่งจะมีความต้องการใช้บริการขนส่งสูงขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคต้องการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลมากขึ้นหลังจากที่ต้องเก็บตัวอยู่บ้านมานานในช่วงแพร่ระบาด ประสบการณ์การช้อปปิ้งของผู้บริโภคในปีนี้จึงเปลี่ยนไปจากเดิม ยอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ระหว่างประเทศทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว  โดยร้อยละ 85 ของผู้คนทั่วโลกใช้เวลาช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 45  ของคนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennial) ยังคงช้อปออนไลน์อย่างต่อเนื่องถึงแม้จะเป็นช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19  และเพื่อให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นไปอย่างราบรื่น ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรสได้เสริมความแข็งแกร่งในการให้บริการ โดยเพิ่มจำนวนเครื่องบิน เส้นทางบิน การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงโซลูชั่นนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบทั้งธุรกิจค้าปลีก B2C และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ B2B ที่ต้องปรับตัวสู่โลกออนไลน์อย่างเต็มตัว ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ยังคงลงทุนและเสริมความแข็งแกร่งด้านการบริหารจัดการการขนส่งในทุกขั้นตอนการทำงานอย่างต่อเนื่องให้สามารถดำเนินธุรกิจภายใต้วัตถุประสงค์ของบริษัทฯ เพื่อเชื่อมต่อผู้คนทั่วโลกและยกระดับคุณภาพชีวิต ‘Connecting people, improving lives’ บริษัทฯ เตรียมการเป็นอย่างดีเพื่อรับมือกับความต้องการของลูกค้า และมั่นใจว่าการจัดส่งสินค้าจะถึงมือผู้รับภายในเวลาที่รวดเร็วที่สุด รวมถึงของขวัญช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่จะต้องถูกนำส่งไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลกให้ทันตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ผู้ค้าออนไลน์จะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซทั่วโลก และสามารถใช้ชิปปิ้งแพลตฟอร์ม iExpressByDHL เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งสินค้าระหว่างประเทศ-สำนักข่าวไทย.

นายกฯตั้งเป้าให้คลาวด์กลางภาครัฐใช้แก้ปัญหาและพัฒนาในปี66

กรุงเทพฯ 26 พ.ย. นายกฯ ย้ำระบบ Gov Cloud เป็นฐานข้อมูลของประเทศ ลดความซ้ำซ้อน หวังภายในปี 66 จะนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาทุกด้านอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงาน“Gov Cloud 2020” The Future of Digital Government โดนกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Gov Cloud : Digital Foundation for Government Transformation” ว่า ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมไปสู่ประเทศดิจิทัล และใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ในการแก้ปัญหาต่างๆเช่น สถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ และจะนำไปแก้ปัญหาอื่นๆได้ในอนาคต ยืนยันรัฐบาลจะเดินหน้ายุค smart government ทำให้ภาครัฐมีบทบาทสำคัญและพัฒนาไปสู่ยุค 4.0 และยุคนิวนอร์มอล เป็นการตอบสนองและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ภาคธุรกิจ รวมถึงการบริหารประเทศ เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะระบบราชการที่ต้องมีคลังข้อมูลและใช้ข้อมูลเดียวกัน ซึ่งในปี 65-66 หวังว่าฐานข้อมูล Gov Cloud จะเป็นแพลตฟอร์ม ที่ช่วยเรื่องของการบริหารจัดการ ทั้งการเป็นฐานข้อมูลให้ทางราชการทำงานได้อย่างเป็นระบบ ที่สำคัญคือการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชน นำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาทุกด้านอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงรองรับการใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ และแพลตฟอร์มนี้จะเป็นข้อมูลที่ดี ต่อยอดการบริการภาครัฐ และที่สำคัญคือต้องพัฒนาคนควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้คณะรัฐมนตรีไปหาแนวทาง การแก้ปัญหาความยากจนให้กับประชาชนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย พร้อมย้ำว่าการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ หัวใจสำคัญคือประชาชนต้องเข้าถึง และได้ประโยชน์สูงสุด-สำนักข่าวไทย.

ดีอีเอสเผยบริการคลาวด์ภาครัฐโตเตรียมรองรับผู้เข้าใช้บริการจองถึงปี 65

กรุงเทพฯ 26 พ.ย. ดีอีเอส ชู Gov Cloud 2020 แสดงศักยภาพคลาวด์กลางภาครัฐ ขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลยกระดับการให้บริการประชาชน นายพุทธิพงษ์  ปุณณกันต์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในโอกาสที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงาน“Gov Cloud 2020” The Future of Digital Government ว่า ความสำเร็จเบื้องต้นของการพัฒนาบริการคลาวด์ภาครัฐเป็นที่น่าพอใจ โดยจำนวนหน่วยงานที่ใช้งาน Gov Cloud เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ระบบของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งได้เริ่มมีการใช้งานจริงในการแก้ไขปัญหาและให้บริการต่างๆ  โดยหน่วยงานที่ใช้ระบบคลาวด์ GDCC ในการพัฒนาระบบงานและเพิ่มประสิทธิภาพบริการประชาชนได้เข้ารับมอบโล่เกียรติคุณจากนายกรัฐมนตรีในงาน Gov Cloud 2020 ได้แก่  สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)  พัฒนาระบบ EEC-OSS โดยเป็นช่องทางคัดกรองและอำนวยความสะดวกให้นักลงทุน สามารถเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำด้วยบริการแบบ One-Stop Service  กรมการขนส่งทางบก ผลงาน ‘Smart Bus Terminal’ ระบบติดตามรถโดยสารประจำทาง แสดงตารางการเดินรถแบบเรียลไทม์ของสถานีขนส่ง 81 แห่งทั่วประเทศ ผ่าน GPS Tracking ที่ติดตั้งบนรถโดยสารประจำทางทุกคันสามารถตรวจสอบข้อมูลการเดินทางได้ตลอดเวลา  ตำรวจภูธรภาค 8 พัฒนาระบบโครงการภาค 8 “4.0” ในแอปพลิเคชัน POLICE 4  ด้วย 4 ฟังก์ชั่นที่โดดเด่น คือCrime Mapping แผนที่อาชญากรรมหลายมิติ,  CCTV Mapping แผนที่กล้องวงจรปิดทุกตัว,   Red Box QR Code ใช้แทนสมุดตรวจแบบเดิม  และ Stop Walk Talk and Report ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่แบบเรียลไทม์  สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบ Digital Healthcare Platform เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลสาธารณสุขซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกระบบที่เกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด-19 มาไว้ส่วนกลาง ทำให้สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน จัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ หรือ NEIC (National Energy Information Center) ซึ่งเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยน เชื่อมโยง บูรณาการและเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานให้กับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์ คาดการณ์ด้านพลังงานได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ  นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ระบบคลาวด์กลางหรือ Gov Cloud จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านไอทีให้กับรัฐบาลเพื่อก้าวสู่การทำงานแบบรัฐบาลดิจิทัลตามแผน  โดยปี 2563 ได้เน้นบริหารจัดการ Cloud Infrastructure เพื่อให้บริการทรัพยากรระบบคลาวด์แก่หน่วยงานรัฐซึ่งล้วนมีความตื่นตัวกับเทคโนโลยีและให้ความสนใจอย่างมากในการนำระบบงานมาใช้บนคลาวด์กลาง ภายในปี 2564 มุ่งสู่การสร้างบริการระดับแพลตฟอร์มที่ทุกหน่วยงานสามารถเชื่อมต่อกันได้  จากนั้นปี 2565 โฟกัสการขยายผลการใช้ AI ในด้านเกษตรกรรม และด้านอื่น ๆ รวมทั้งการนำร่องระบบ Data Sharing มีการแบ่งปันข้อมูลข้ามหน่วยงานผ่านแพลตฟอร์มกลางเพื่อขยายผลนำไปสู่การใช้ AI และ IoT ในวงกว้าง  และภายในปี 2566 มุ่งสู่การขับเคลื่อนนโยบายการให้บริการข้อมูลภาครัฐแบบเปิดในรูปแบบGovernment as a Platform  ที่มีการบูรณาการข้อมูลร่วมกันด้วยแพลตฟอร์ม มุ่งไปสู่การให้บริการภาครัฐแบบเปิดอย่างแท้จริง ทิศทางการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ในระยะต่อไป ใน ปี 2564 มุ่งสู่การเป็น Platform ที่ทุกหน่วยงานสามารถเชื่อมต่อกันได้   โดยจะมีการขยายการใช้งานในหน่วยงานภาครัฐ และมีการขยายผลการใช้ AI ในด้านเกษตรกรรมและด้านอื่น ปี 2565 มุ่งสู่การนำร่องระบบ Data Sharing มีการแบ่งปันข้อมูลข้ามหน่วยงาน ด้วยการสร้าง Platform เชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้ง ขยายผลนำไปสู่การใช้ AI และ IoT ในวงกว้าง และภายในปี 2566 มุ่งสู่การขับเคลื่อนนโยบายการให้บริการข้อมูลภาครัฐแบบเปิดในรูปแบบ Government as a […]

สดช.ดันหลักสูตรติดอาวุธไฮเทคผู้บริหารระดับสูง

กรุงเทพฯ 25 พ.ย. ดีอีเอส ผลักดันหลักสูตรผู้บริหารดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรองรับการปรับเปลี่ยนภาครัฐไปสู่องค์กรดิจิทัล นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)​  กล่าวภายหลังมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหารดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหลักสูตรการออกแบบเครื่องมือดิจิทัล (Digital Solution)ว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ต่างขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ในส่วนของภาครัฐก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของรัฐ (Government Service and Operating Model) ให้มีความทันสมัยรวดเร็ว มีประสิทธิผลและปลอดภัย สอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชน  ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต้องการให้รัฐตอบสนองการให้บริการประชาชนที่หลากหลายช่องทาง ดังนั้น การจัดทำหลักสูตรอบรมครั้งนี้ จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างเสริมสมรรถนะดิจิทัลของบุคลากรภาครัฐ การปรับเปลี่ยนกระบวนงานโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการออกแบบเชื่อมโยงงานบริการดิจิทัลภาครัฐ (Digital Service Solution) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์) มุ่งหวังให้ประชาชนได้รับประสบการณ์ที่ดี มีมาตรฐานและประสิทธิภาพจากการบริการภาครัฐต่าง ๆ ซึ่งการฝึกอบรม “หลักสูตรผู้บริหารดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” และ “หลักสูตรการออกแบบเครื่องมือดิจิทัล (Digital Solution)” ภายใต้โครงการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO)  เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนภาครัฐไปสู่องค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) ประจำปี 2563 ผู้เข้าอบรมทุกท่านคงจะได้รับสาระความรู้ด้านวิชาการในการบริหารเชิงกลยุทธ์ เพื่อการปรับเปลี่ยนภาครัฐไปสู่องค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) เทคโนโลยีสารสนเทศและการประยุกต์ แนวคิดในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานและการให้บริการประชาชนเพื่อประโยชน์ ในการปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัล “การฝึกอบรมในครั้งนี้ ผู้เข้าอบรมทุกท่านจะนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในการทำงานและพัฒนาการบริการของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และขอขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะผู้จัด วิทยากร และผู้มีส่วนร่วม ที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในการจัดฝึกอบรม ครั้งนี้ได้บรรลุวัตถุประสงค์เป็นอย่างดี รวมถึงสามารถทำงานร่วมกันอย่างเป็นเครือข่ายและพัฒนาทีมบูรณาการ เพื่อขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนภาครัฐไปสู่องค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) ต่อไป”นางวรรณพร กล่าว -สำนักข่าวไทย.

อสมท ประกาศรางวัล U ME IDEA AWARD 2020

กรุงเทพฯ 25 พ.ย. อสมท จัดโครงการ  U ME IDEA  AWARDS 2020เฟ้นหา “นวัตกรรมเพื่อสังคม”  ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนและสังคม พร้อมโอกาสต่อยอดเชิงธุรกิจกับ อสมท บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)  ตระหนักว่า การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมไทยและสังคมโลก  จึงมุ่งส่งเสริมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย   อสมท จึงได้ริเริ่มโครงการ “U ME IDEA”  ซึ่งเป็นการประกวดการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมสื่อ ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคดิจิทัล  รวมทั้งให้การสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดผลงานนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์กับนวัตกรไทย  ในปี 2563 อสมท ได้แบ่งการส่งผลงานเข้าประกวดเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทบุคคลทั่วไปและประเภทนักศึกษาโดยเปิดกว้างกรอบแนวคิดในการสร้างสรรค์นวัตกรรม  ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมเพื่อสังคม” โดยมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก 11 ทีมแบ่งเป็น ประเภทบุคคลทั่วไป จำนวน 6 ทีม และประเภทนักศึกษา จำนวน 5 ทีม  เพื่อนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการตัดสินในรอบสุดท้าย   นายสิโรตม์  รัตนามหัทธนะ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด  พร้อมด้วยผู้บริหาร และคณะกรรมการ ให้เกียรติมอบรางวัล U ME IDEA  AWARDS  2020”  ให้กับผู้ชนะประเภท บุคคลทั่วไปชนะเลิศ safe trip ได้เงิน 100,000 บาท รองอันดับ 1 ทีม P4E 50,000 บาท รองอันดับ 2 ทีม I9 Me idea 30,000 บาท ประเภทนักศึกษา  ชนะเลิศ มี 2 รางวัล คือ ทีม COTA และ i-THOS ได้เงินทีมละ 50,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 ทีมผลไม้ดี 20,000 บาท-สำนักข่าวไทย.

ทวิตเตอร์เตรียมปรับปรุงระบบยืนยันตัวตน

กรุงเทพฯ25 พ.ย. ทวิตเตอร์ชวนทุกคนร่วมแสดงความเห็นเพื่อปรับปรุงมาตรฐานระบบยืนยันตัวตน  จากนโยบายที่ทวิตเตอร์ได้มีการระงับระบบการยืนยันตัวตนการเป็นบุคคลสาธารณะไว้เมื่อสามปีก่อน เนื่องจากได้รับฟีดแบ็กว่า เครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าสามารถขอได้โดยไม่มีกฎเกณฑ์และสร้างความสับสนให้กับผู้คน หลังจากนั้นทวิตเตอร์ได้ลดความสำคัญของระบบนี้ เพื่อไปมุ่งมั่นตั้งใจกับการปกป้องความเป็นเอกภาพของบทสนทนาสาธารณะบนทวิตเตอร์ซึ่งอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2020 นับตั้งแต่นั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครสามารถได้รับการยืนยันตัวตนได้บ้าง หรือเมื่อไหร่และทำไมผู้ใช้บัญชีนั้นถึงไม่ได้รับการยืนยันตัวตน หรือทำอย่างไรจึงจะได้รับการยืนยันตัวตน ทวิตเตอร์ทราบดีว่าการสามารถแสดงออกถึงตัวตนและรู้ว่าคุณกำลังสนทนาอยู่กับใครบนทวิตเตอร์นั้นสำคัญเพียงใดดังนั้นในวันนี้ทวิตเตอร์จึงอยากบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการปรับปรุงแผนงาน ว่าทุกคนสามารถระบุตัวตนบนทวิตเตอร์ได้อย่างไร โดยเริ่มจากการยืนยืนตัวตนและขอให้สาธารณชนส่งความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างนโยบายยืนยันตัวตนใหม่กลับมาให้ทวิตเตอร์ เนื่องจากการเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการบทสนทนาสาธารณะการร้องขอความเห็นจากประชาชนจึงกลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการพัฒนานโยบายของเรา เพราะเราต้องการให้กฎต่างๆ นั้นมาจากเสียงสะท้อนของผู้ใช้งานทวิตเตอร์ ทวิตเตอร์กำลังวางแผนที่จะกลับมาเปิดตัวการยืนยันตัวตน รวมทั้งขั้นตอนการสมัครการยืนยันตัวตนสาธารณะแบบใหม่ในช่วงต้นปี 2564 ทั้งนี้เราต้องการความช่วยเหลือจากผู้คนในการอัปเดตนโยบายการยืนยันตัวตนเสียก่อน โดยนโยบายนี้จะเป็นการวางรากฐานเพื่อการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต ด้วยการกำหนดถึงการยืนยันตัวตนว่ามีความหมายอย่างไร ใครสามารถขอเครื่องหมายเพื่อยืนยันตัวตนนี้ได้บ้าง และทำไมบัญชีผู้ใช้งานบางคนที่มีเครื่องหมายนี้อยู่แต่อาจจะถูกลบออก เพื่อให้ทุกคนมั่นใจว่าขั้นตอนการยืนยันตัวตนนั้นมีความเท่าเทียมมากขึ้น เริ่มที่การกำหนดประเภทหลักของบัญชีผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นบุคคลมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจะได้รับการยืนยันตัวตนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตามนโยบายที่ได้เสนอไปแล้วนั้น “เครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าบนทวิตเตอร์ช่วยให้ทุกคนทราบว่าบัญชีผู้ใช้งานนี้เป็นบุคคลสาธารณะที่เป็นของจริง ซึ่งการจะขอรับเครื่องหมายนี้ได้ บัญชีผู้ใช้งานนั้นจะต้องมีชื่อเสียงและมีการใช้งานอยู่เป็นประจำ” บัญชีผู้ใช้งาน 6 ประเภทที่ทวิตเตอร์จะเริ่มต้นระบุการยืนยันตัวตน ได้ คือ หน่วยงานรัฐบาล  บริษัท แบรนด์สินค้าต่างๆ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สำนักข่าว องค์กรหรือบุคคลในวงการบันเทิง องค์กรหรือบุคคลในวงการกีฬา  นักกิจกรรม ผู้จัดงาน และบุคคลอื่นๆ ที่เป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ ทวิตเตอร์ยังได้กำหนดเกณฑ์เพิ่มเติมว่าสามารถลบเครื่องหมายยืนยันจากบัญชีนั้นๆ ได้โดยอัตโนมัติ เช่น ถ้าหากบัญชีนั้นไม่ได้มีการใช้งาน หรือข้อมูลของโปรไฟล์ไม่สมบูรณ์ ตลอดจนอาจจะมีการปฏิเสธหรือลบเครื่องหมายยืนยันตัวตนจากบัญชีที่ผ่านการรับรองแล้ว เนื่องจากมีการละเมิดกฎของทวิตเตอร์บ่อยครั้งเป็นต้น ทวิตเตอร์ตระหนักดีว่า ปัจจุบันมีบัญชีที่ไม่สมควรได้รับการยืนยันตัวตนอยู่เป็นจำนวนมากบนทวิตเตอร์ ดังนั้นจึงกำลังมีการเริ่มดำเนินการลบเครื่องหมายออกจากบัญชีที่ไม่ได้มีการใช้งานหรือมีโปรไฟล์ที่ให้ข้อมูลไม่สมบูรณ์โดยอัตโนมัติเพื่อช่วยปรับปรุงการทำงานของเราและขยายแผนการเพื่อเพิ่มเติมประเภทของบัญชีต่างๆ ให้สามารถเสร็จสิ้นในปี2564 ทวิตเตอร์ทราบดีว่าไม่สามารถแก้ปัญหาการยืนยันตัวตนได้จากนโยบายใหม่นี้ได้เพียงทางเดียว และนโยบายเบื้องต้นในการยืนยันตัวตนอาจไม่ได้ครอบคลุมถึงทุกกรณี แต่นี่คือก้าวแรกที่สำคัญในการช่วยให้เรามีมาตรฐานที่โปร่งใสและยุติธรรมมากยิ่งขึ้นในการยืนยันตัวตน เนื่องจากเรากำลังจัดลำดับความสำคัญของระบบงานนี้อยู่ โดยนโยบายในตอนนี้คือจุดเริ่มต้นที่เราตั้งใจที่จะขยายประเภทของบัญชีต่างๆ และกฏเกณฑ์สำหรับการยืนยันตัวตนบนทวิตเตอร์อย่างมีนัยสำคัญในปีต่อไป ทวิตเตอร์ได้จัดทำการสำรวจแบบย่อของร่างนโยบายการยืนยันตัวตนซึ่งมีทั้งฉบับภาษาอังกฤษ ภาษาฮินดี ภาษาอาหรับ ภาษาสเปน ภาษาโปรตุเกส และภาษาญี่ปุ่น และขณะนี้ทวิตเตอร์กำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานเอกชนในแต่ละประเทศและคณะกรรมการเพื่อความเชื่อมั่นและความปลอดภัยเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะมีการนำเสนอมุมมองต่างๆ ให้ได้มากที่สุด หากผู้ใช้งานต้องการแสดงความคิดเห็นผ่านการทวีต ทวิตเตอร์ก็พร้อมรับฟังเช่นกัน เพียงติดแฮดแท็ก #VerificationFacebook ระยะเวลาในการส่งฟีดแบ็กเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 8 ธันวามคม 2563 หลังจากนั้นทวิตเตอร์จะพิจารณาความคิดเห็นของทุกคนเกี่ยวกับนโยบายนี้และฝึกอบรมทีมงานถึงแนวทางใหม่ โดยมีเป้าหมายที่จะแนะนำนโยบายขั้นสุดท้ายภายในวันที่ 17 ธันวามคม 2563 ทวิตเตอร์มุ่งมั่นที่จะให้บริการการสนทนาสาธารณะด้วยการช่วยให้ผู้คน สามารถค้นหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือ รับฟังเสียงที่มีความสำคัญ และไว้วางใจในความถูกต้องของบัญชีผู้ใช้งานบนทวิตเตอร์ ขอขอบคุณที่ทุกท่านที่สละเวลาเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับข้อเสนอแนะเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงต่อไป  การแสดงออกถึงตัวตนเป็นหัวใจหลักของบทสนทนาสาธารณะ แต่ใครคือคนที่คุณกำลังพูดคุยอยู่นั้นก็มีความสำคัญเช่นเดียวกับ และสิ่งที่พวกเขากำลังพูดถึงอยู่เช่นกัน ทวิตเตอร์จึงอยากสร้างพื้นที่ให้กับทุกคนบนทวิตเตอร์ให้สามารถส่งเสียงที่แท้จริงของตัวเองด้วยการช่วยให้ทุกคนสามารถระบุตัวตนในโปรไฟล์ได้มากขึ้นเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าและการติดป้ายรับรองบัญชีเป็นสองวิธีในการช่วยให้เราสามารถจำแนกบัญชีที่เป็นผู้มีชื่อเสียงและเป็นของจริงบนทวิตเตอร์ได้ ในปีนี้ทวิตเตอร์ได้มีการตรวจสอบและยืนยันตัวตนของผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์แล้วเพื่อให้พวกเขาสามารถทวีตเพื่อให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับ #COVID19และได้เพิ่มป้ายรับรองบัญชีเพื่อเป็นการระบุตัวตนที่เป็นตัวแทนผู้สมัคาที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าไม่ได้เป็นเพียงวิธีเดียวที่เรากำลังวางแผนเพื่อจำแนกบัญชีผู้ใช้งานบนทวิตเตอร์ ทั้งนี้ทวิตเตอร์มุ่งมั่นที่จะให้ทุกคนสามารถมีวิธีอื่นๆ ในการระบุตัวตนบนหน้าโปรไฟล์ของตัวเอง อาทิ ประเภทของบัญชีผู้ใช้งานและป้ายรับรองบัญชีใหม่ ซึ่งนี่เป็นเพียงการเริ่มต้นของสิ่งที่เราได้วางแผนไว้ในปี 2564-สำนักข่าวไทย.

เอ็นไอเอเฟ้นหานวัตกรรมรับมือ4ปัญหาสังคม

กรุงเทพฯ 25 พ.ย. เอ็นไอเอ เปิดแนวทางเฟ้นหานวัตกรรมจากไอเดียสตาร์ทอัพต่อยอดสู่การใช้งานจริงรับมือ 4 แนวโน้มปัญหาสังคมเมืองและชุมชนปี 64  นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของสังคมเมืองและชุมชน ส่งผลให้แต่ละปีประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป NIA จึงมีการศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มปัญหาที่จะเกิดขึ้น พร้อมคาดการณ์อนาคต (Foresight) เพื่อวางแผนรับมือใน 4 ปัญหาหลัก ได้แก่ ปัญหาจากผลกระทบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  เช่น ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจการจ้างงาน รวมถึงการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาชี้ให้เห็นแล้วว่าระบบดังกล่าวยังไม่สามารถตอบสนองกับภาวะฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที และมีความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับการรักษา และสวัสดิการทางสังคม ปัญหาสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของคนในสังคม โดยให้ความสำคัญและพยายามหาแพลตฟอร์มนวัตกรรมขึ้นมารองรับเพื่อสร้างความประนีประนอม และการสร้างพื้นที่ให้ประชาชนได้ร่วมแสดงออกความเห็นในเชิงสร้างสรรค์ ปัญหาความเท่าเทียมทางเพศ โดยมุ่งวางแผนสำหรับดึงศักยภาพของกลุ่ม LGBTQA+ ออกมาให้คนในสังคมได้รับรู้ในมิติที่หลากหลายมากกว่าเรื่องเพศ รวมถึงการหาบริการและผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของเพศที่หลากหลาย และปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มคนเปราะบาง อาทิ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ  หรือ ผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ การบริการที่ดีจากภาครัญ การเข้าสู่ระบบแรงงานที่เป็นธรรม การยอมรับจากสังคมของผู้ที่เคยก้าวพลาด นายพันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า เพื่อรับมือสิ่งที่เกิดขึ้นเอ็นไอเอได้ทำโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน 2564 หรือCITY & COMMUNITY INNOVATION CHALLENGE 2021 จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 มีเป้าหมายในการเฟ้นหานวัตกรรมที่สามารถผลักดันไปสู่การใช้งานจริง เพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาในประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของเมืองและชุมชน โดยเปิดรับข้อเสนอแนวคิดการพัฒนาในหลากหลายมิติ จากนั้นจะพิจารณาคัดเลือกแนวคิดที่ดีและมีโอกาสในการขยายผลได้จริง เพื่อรับการสนับสนุนเงินทุนสำหรับไปดำเนินการจริงในพื้นที่ และเมื่อดำเนินโครงการนำร่องแล้วเสร็จ สามารถขยายผลแนวคิด เทคโนโลยี โอกาสทางสังคม และธุรกิจไปยังพื้นที่อื่นต่อไปได้ โดยที่ผ่านมาสนับสนุนไปแล้วทั้งสิ้น 36 โครงการ มูลค่าการสนับสนุน 38.92 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนกว่า185.38 ล้านบาท สำหรับหัวข้อที่เปิดรับสมัครในปี 2564 นี้ มุ่งเน้นใน 3 เรื่อง คือ 1.การฟื้นฟูผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วยนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน การสร้างสวัสดิการสังคม การเข้าถึงบริการสาธารณะ การเงินและเสินเชื่อ และการดูแลกลุ่มผู้เปราะบาง 2.แพลตฟอร์มธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมประกอบด้วยแพลตฟอร์มด้านการศึกษา การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน นวัตกรรมภาครัฐ การทำเกษตรอย่างยั่งยืน การดูแลรักษาสุขภาพ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และ 3.มิติปัญหาสังคมอุบัติใหม่ในเมือง ไม่ว่าจะเป็นนัวตกรรมเพื่อการสร้างสันติภาพและการแก้ปัญหาความรุนแรง การแก้ปัญหาอาชญากรรม การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศการเคลื่อนย้ายของแรงงาน และการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง “ปัจจุบันมีผู้สนใจส่งแนวความคิด (Concept Idea) เพื่อขอรับการสนับสนุนจากโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ปี 2564 จำนวน 218 ไอเดีย ซึ่งหลังจากนี้ NIA จะพิจารณาคัดเลือกเพื่อนำแนวคิด มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง และก่อให้เกิดประโย์ชน์ต่อสังคม ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่านวัตกรรมที่มีอยู่ขณะนี้ รวมถึงนวัตกรรมที่จะส่งเสริมต่อไปในอนาคต จะสามารถรองรับปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งยังสามารถช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่ประชาชน และปูทางให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรวมถึงสตาร์ทอัพที่มีความสนใจให้การทำธุรกิจเพื่อสังคมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ ยังจะเป็นตัวแปรให้เกิดผู้ริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายบริบทของสังคม และทำให้ทั่วโลกได้เห็นถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะมาช่วยยกระดับความเป็นอยู่ในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายได้อย่างดีเช่นเดียวกัน” นายพันธุ์อาจ กล่าว-สำนักข่าวไทย.

จุฬาฯเปิดเว็บเรียนรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากโลกออนไลน์

กรุงเทพฯ 25 พ.ย. DIRU นิเทศ จุฬาฯ เปิดเว็บไซต์ “คิด คุย ค้น”เรียนรู้ลดความเสี่ยงออนไลน์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ หรือ DIRU ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ สำนักงาน กสทช. ดำเนินโครงการวิจัยเชิงสำรวจความเสี่ยงจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประชาชนและนำมาพัฒนาแพลตฟอร์มเพิ่มความสามารถในการรู้เท่าทัน เพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์สร้างเป็นเว็บไซต์ “คิด คุย ค้น” สามารถเข้าถึงได้จาก www.thaidigitalcitizen.net หรือ www.คิดคุยค้น.net เปิดให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย ทั้งวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว วัยผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ใช้งานได้แล้วเว็บไซต์นี้พัฒนาขึ้นจากหลักการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการเพิ่มความสามารถในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัยได้ประโยชน์ 3 กระบวนการ ได้แก่กระบวนการ“คิด” เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง       ผ่านสื่อการเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์ออนไลน์ (Online Interactive Learning Object) กระบวนการ “คุย” แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านเนื้อหาที่ช่วยลดความเสี่ยงและอันตรายจากการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ร่วมกับการสร้างกลุ่มสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกผู้ใช้งาน กระบวนการ“ค้น” ซึ่งเป็นเครื่องมือเทคโนโลยีสืบค้นสำหรับตรวจสอบข้อมูล ข่าว ที่สงสัยว่าถูกต้อง เป็นจริง น่าเชื่อถือหรือไม่ ช่วยฝึกทักษะความรอบรู้และรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ นายพนม คลี่ฉายา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยฯ DIRU คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เว็บไซต์ คิด คุย ค้น เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นจากงานวิจัยที่ตั้งโจทย์สำคัญที่มุ่งแก้ปัญหาอันตรายจากการใช้งานและความผูกพันที่มีต่อสื่อสังคมออนไลน์ของคนทุกวัย จากผลการสำรวจความเสี่ยง   บนโลกออนไลน์ของประชาชน พบว่ามีโอกาสที่จะเจออันตรายได้หลายรูปแบบ คือ การถูกชักชวนให้เล่นการพนัน หวยออนไลน์ แชร์ออนไลน์ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงให้เสียทรัพย์สินเงินทอง การหลงเชื่อเนื้อหา หรือข่าวปลอม หรือโฆษณาเกินจริง การถูกหลอกลวงจากคนแปลกหน้าถูกกลั่นแกล้งระราน ถูกโกงจากการซื้อสินค้าออนไลน์ อันตรายจากการเข้าถึงเนื้อหาเรื่องเพศและภาพลามกอนาจารความเสี่ยงอันตรายจากระบบคอมพิวเตอร์มัลแวร์ (Malware) การถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว ปัญหาความเสี่ยงเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มภูมิคุ้มกันอันตรายให้ประชาชนในฐานะผู้ใช้งาน ให้รู้เท่าทันการถูกหลอก รู้วิธีลดความเสี่ยงและป้องกันอันตรายที่มาถึงตัว สามารถต่อต้านการถูกชักชวนไปในทางเสียหายได้ ความเข้มแข็งของประชาชนที่กล่าวมานี้ สามารถสร้างได้ด้วยการเรียนรู้ ฝึกทักษะ เพิ่มความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทัน ซึ่งประชาชนที่เข้าใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีความรู้ ทักษะ และความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ เว็บไซต์ “คิด คุย ค้น” ประกอบด้วยการใช้งานหลัก 3 รายการ ดังนี้ รายการใช้งานที่ 1 “คิด” ซึ่งเป็นสื่อการเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์ออนไลน์ที่ผู้ใช้งานเว็บไซต์สามารถเข้าไปเรียนรู้ด้วยตนเองตามอัธยาศัย ช่วยเพิ่มความรู้ ฝึกทักษะและการตอบสนองอย่างปลอดภัยต่อเหตุการณ์ความเสี่ยง ประกอบด้วยสื่อเรียนรู้ด้วยตนเอง 8 เรื่อง โดยเริ่มจากการเรียนรู้ทักษะพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยง  ทำความเข้าใจและใช้การติดต่อสื่อสารทางสังคมให้ถูกต้องปลอดภัย ได้ประโยชน์ และการทำความเข้าใจเนื้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ ช่วยให้เกิดการรู้เท่าทัน ลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกจากเนื้อหาที่ไม่เป็นจริง ข่าวปลอม การถูกหลอกลวงเรื่องผิดกฎหมาย การถูกกลั่นแกล้งระราน การถูกชักชวนให้เล่นการพนัน จากนั้นเป็นสื่อเรียนรู้อีก 6 เรื่องที่จำลองเหตุการณ์ที่เป็นความเสี่ยง ได้แก่ การถูกหลอกลวงให้เสียทรัพย์ ความรุนแรงและการถูกกลั่นแกล้งระราน ข่าวปลอม ข้อมูลสุขภาพที่ไม่จริง การถูกหลอกจากคนแปลกหน้า การถูกหลอกจากการซื้อสินค้า อันตรายจากการเข้าถึงเนื้อหาเรื่องเพศและภาพลามกอนาจาร และอันตรายจากระบบคอมพิวเตอร์ การถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว เมื่อผู้ใช้งานได้เข้าเรียนจากสื่อการเรียนรู้และสามารถทำแบบทดสอบผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด จะได้รับใบประกาศนียบัตรเพื่อแสดงความเป็นผู้มีความรู้ ทักษะ และความสามารถด้านความรอบรู้และรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล ซึ่งสามารถพิมพ์ได้จากระบบทันที รายการใช้งานที่ 2 “คุย” เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานทุกคนได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับข่าวสารในโลกออนไลน์ มีการเตือน และช่วยกันตรวจสอบสิ่งที่ผู้ใช้งานทุกคนได้พบเจอ เป็นการสร้างชุมชนในลักษณะเครือข่ายสังคม ผ่านบทความ ข้อมูล Infographic และ VDO ที่สามารถแชร์ได้ และกระทู้ พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นต่าง ๆ ส่งต่อความรู้ให้กันได้ รายการใช้งานที่ 3  “ค้น” ใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบเนื้อหาข่าว ข้อมูลที่สงสัยว่าถูกต้อง น่าเชื่อถือหรือไม่ ได้ด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มทักษะความสามารถรู้เท่าทันสื่อได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยมีเว็บไซต์หรือแหล่งข้อมูลที่โครงการคัดกรองแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ ช่วยในการกรองสิ่งที่เราต้องการค้นหา และผู้ใช้สามารถนำข้อมูลที่ตรวจสอบแล้ว ไปใช้ได้อย่างถูกต้องในชีวิตประจำวัน “เราได้พัฒนาเว็บไซต์นี้มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 โดยเริ่มต้นงานวิจัยด้วยการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2562 จนได้ผลสรุปและพบความเสี่ยง 15 เรื่อง และนำมาแบ่งกลุ่มเป็น 6 กลุ่มความเสี่ยง นำมาออกแบบเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยลดความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ โดยมีการเผยแพร่เว็บไซต์ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา และ   ตั้งเป้าว่าจะทดลองเปิดให้ใช้งานเพื่อเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 3 เดือนจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อสรุปลักษณะของการ   ใช้งาน ประเด็นที่ต้องพัฒนาปรับปรุงในเชิงวิชาการ และส่งมอบงานนี้ให้กับแหล่งทุน คือกองทุนวิจัยของ กสทช. หวังว่าจะสามารถพัฒนาต่อไปได้ในอนาคตเว็บไซต์นี้ไม่ใช่ยาหม้อใหญ่ที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนได้ภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่เป็นกลไกที่จะช่วยสนับสนุนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในกลุ่มผู้ใช้งานให้มีความเข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกวัยเข้าร่วมใช้งานเว็บไซต์นี้กันมากๆ” นายพนม กล่าว เว็บไซต์ “คิด คุย ค้น” เป็นหนึ่งในกลไกที่พัฒนาขึ้นตามแนวคิดการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ใช้งาน  สื่อสังคมออนไลน์ และการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มความสามารถในความรอบรู้และ    รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ ช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ที่สร้างปัญหาให้แก่ประชาชนและสังคมในภาพรวมการเข้าร่วมใช้งานเว็บไซต์นี้จากผู้ใช้จำนวนมากจะเป็นข้อมูลที่ประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งการเพิ่มความสามารถเพื่อลดความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ จำเป็นต้องพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่สร้างการใช้งานใหม่ๆ ที่อาจจะเป็นความเสี่ยงใหม่ที่เกิดขึ้นอีก เว็บไซต์ “คิด คุย ค้น” เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปทั้งวัยรุ่น หนุ่มสาว ผู้ใหญ่ และวัยผู้สูงอายุ สามารถเข้าถึงได้ที่www.thaidigitalcitizen.net หรือ www.คิดคุยค้น.net โดยสมัครเข้าใช้งานในครั้งแรกและสร้างบัญชีผู้ใช้งานของตนเองเพื่อใช้งานครั้งต่อไปได้ตามที่สะดวกและต้องการใช้งาน-สำนักข่าวไทย.

ดีอีเอสจับบริษัทรับช่วงงานอีคอมเมิร์ซลงทะเบียนแก้ข้อมูลลูกค้าหลุด

กรุงเทพฯ 24 พ.ย. พุทธิพงษ์ หารือผู้ประกอบการแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ย้ำให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคล หลังเจอข้อมูลลูกค้ารั่วไหลครั้งใหญ่ มอบเอ็ตด้าลงทะเบียนผู้รับช่วงงานอีคอมเมิร์ซ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (24 พ.ย. 2563) ได้มีการเรียกประชุมหารือกับผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ๆ ที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันจัดทำแนวทางดูแลข้อมูลของผู้ใช้บริการ และมาตรการในการดูแลข้อมูลผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม โดยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสูงสุด ซึ่งในการประชุมวันนี้ ยังให้ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ ชี้แจงข้อเท็จจริงของข่าวที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการรั่วไหล และมีการนำไปประกาศขายกันทางไซเบอร์ จากการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ข้อมูลผู้ใช้บริการที่รั่วไหลไปจากแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซและถูกนำไปประกาศขายผ่านทางไซเบอร์ พบว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ในช่วงปี 2561 โดยประกอบด้วยข้อมูล เช่น ชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล วันที่ทำธุรกรรม จำนวนเงิน ช่องทางการขายสำหรับขั้นต้น ดีอีเอส ได้ประสานงานกับหน่วยงานด้านความมั่นคงปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง (USCERT) ในการประสานกับผู้ดูแลระบบเพื่อระงับการเผยแพร่ข้อมูล “ข้อมูลไม่ได้หลุดออกมาจากผู้ให้บริการโดยตรงข้อมูลหลุดมาจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ แต่อย่างไรก็ดีกระทรวงฯ ได้กำชับถึงความสำคัญกับระเบียบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล เพราะเราเลื่อนการบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไปถึมิถุนายน 2564 ตรงนี้ก็ต้องมีการระมัดระวังข้อมูลไม่ให้รั่วไหลได้ ที่ประชุทให้บริษัทที่มารับงานต่อจากบริษัทผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซต้องมาลงทะเบียนกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์(เอ็ตด้า) เพื่อให้มีความรับผิดชอบต้อข้อมูลส่วนบุคคล โดยจะมีการทำระเบียบสำหรับบริษัทที่มารีบงานต้องปฏิบัติ ซึ่งระเบียบนี้เอ็ตด้ากับผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซจะช่วยกันร่าง ส่วนบริษัทผู้ส่งของก็ต้องมีการดูแลและให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคลด้วย” นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า พ.ร.ฎ กำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2563 ซึ่งขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไปอีก 1 ปี (27 พฤษภาคม 2563 – 31 พฤษภาคม 2564) แต่ยังกำหนดให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องจัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงกำหนด ซึ่งถึงแม้จะยังไม่มีบทลงโทษแต่ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่องมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2563 (18 กรกฎาคม 2563 – 31 พฤษภาคม 2564) กำหนดให้ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องดำเนินการ ในการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและอุปกรณ์ในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลโดยคำนึงถึงการใช้งานและความมั่นคงปลอดภัย , การกำหนดเกี่ยวกับการอนุญาตหรือการกำหนดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล , การบริหารจัดการการเข้าถึงของผู้ใช้งานเพื่อควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตแล้ว , การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ใช้งาน เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต การเปิดเผย การล่วงรู้ หรือการลักลอบทำสำเนาข้อมูลส่วนบุคคล การลักขโมยอุปกรณ์จัดเก็บหรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล และการจัดให้มีวิธีการเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังเกียวกับการเข้าถึง เปลี่ยนแปลง ลบ หรือถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคล ให้สอดคล้องเหมาะสมกับวิธีการและสื่อที่ใช้ในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนี้ พ.ร.บ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 5 และ 7 กำหนดว่าในกรณีที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลรู้ว่ามีการเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลหรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินคดีด้วย ส่วนที่สำคัญที่สุดเมื่อเกิดเหตุข้อมูลผู้ใช้บริการรั่วไหล ผู้ให้บริการพึงจะต้องชี้แจงประชาชนผู้ได้รับผลกระทบถึงรายละเอียดข้อมูลที่ถูกเข้าถึง และแนะนำวิธีการปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยง เช่น การเปลี่ยนรหัสผ่าน และระมัดระวังเมื่อมีคนโทรไปเพื่อหลอกลวง นอกจากนี้ ผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ควบคมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้คู่สัญญาที่เป็นผู้ประมวลข้อมูลส่วนบุคคลทั้งที่เป็นคนกลางในการบริหารจัดการขาย (sales management platform) และผู้ให้บริการคลังสินค้าและขนส่ง นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนควรระมัดระวังในการใช้งาน Platform e-Commerce เพื่อลดผลกระทบกรณีข้อมูลรั่วไหล ได้แก่ เจ้าของข้อมูลไม่ควรหลงเชื่อโอนเงินให้กับผู้ที่ติดต่อเข้ามาทางโทรศัพท์ หรือ อีเมล์ ในทันที ควรตรวจสอบโดยการติดต่อกลับไปยังช่องทางปกติ, หากมีผู้ติดต่อมาว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือหน่วยงานของรัฐเพื่อให้โอนเงิน ควรปฏิเสธการโอนเงิน และติดต่อกลับไปยังหน่วยงานต้นสังกัดโดยตรง , หากมีการแจ้งเตือนเรื่องการเปลี่ยนรหัสผ่านทางอีเมล์ หรือ SMS ไม่ควรคลิกลิงก์ในทันที ให้ตรวจสอบกับหน่วยงานหรือผู้ให้บริการโดยตรง, แจ้งผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคาร เพื่อให้ทราบความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการแอบอ้างเป็นเจ้าของข้อมูล โดยควรเปลี่ยนรหัสผ่านอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุก 6 เดือน, กำหนด username password ให้แตกต่างกันออกไปในแต่ละบริการ, กรณีที่เป็นการใช้งานจากแอปพลิเคชันบนมือถือ ควรมีการติดตั้งแอปพลิเคชันป้องกันมัลแวร์ โดยหากมีข้อสงสัย ต้องการแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 1212-สำนักข่าวไทย.

พีเทคเล็งตรวจสอบมาตรฐานแบตเตอรี่รถไฮบริดตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางผลิต

กรุงเทพฯ 24 พ.ย. พีเทค เพิ่มความสามารถตรวจสอบมาตรฐานแบตเตอรี่ยานยนต์ไฮบริดแบบปลั๊กอิน ตั้งเป้าร่วมดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ของเอเชีย นายณรงค์  ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่าภารกิจของ สวทช. ในการพัฒนา การตรวจสอบมาตรฐานแบตเตอรี่ยานยนต์ ว่าภายหลังจากที่ได้ลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีและสนับสนุนการทดสอบแบตเตอรี่ในยานยนต์ไฟฟ้า กับบริษัท เมอร์เซเดส – เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด สวทช.ได้มอบหมายให้ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ (พีเทค) จัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ทั้งในระดับเซลล์ โมดูล และแบตเตอรี่แพ็ค และจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบยานยนต์ไร้คนขับแห่งอนาคตแบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทยขึ้น โดยเป็นทำการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไทย เริ่มต้นจากการทดสอบแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด รวมถึงการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ประเภท BEV เพื่อรองรับการมาถึงของรถยนต์กลุ่มนี้ในอนาคต ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวอีกว่า ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกค่ายทั่วโลก กำลังแข่งขันกันพัฒนาแบตเตอรี่ยานยนต์เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ในขณะเดียวกันลิเธียมซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของแบตเตอรี่เป็นสารที่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนง่ายและอาจเกิดการติดไฟขึ้นได้  ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ  การดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงที่ถูกต้อง หลายประเทศได้กำหนดมาตรฐานแบตเตอรี่ชนิดนี้และบังคับใช้ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ขับขี่และผู้สัญจรร่วมทางให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งหากประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำในการตรวจสอบมาตรฐานแบตเตอรี่ยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียได้ ก็จะสามารถดึงดูดให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศมีความมั่นใจและเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่   ในประทศไทยมากขึ้น เพราะสามารถลดต้นทุนในการตรวจสอบมาตรฐานได้ ด้านนายไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. กล่าวว่า ความก้าวหน้าในการตรวจสอบมาตรฐานแบตเตอรี่ยานยนต์ไฮบริดแบบปลั๊กอิน ว่า พีเทค ได้เพิ่มขีดความสามารถในการตรวจสอบประสิทธิภาพการชาร์จ – ดิสชาร์จ ทำให้สามารถประเมินอายุการใช้งาน รวมถึงการรับประกันแบตเตอรี่ที่ยาวนานได้ การเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่เมื่อเกิดการจมน้ำ การเพิ่มความสามารถในการทดสอบสภาวะการทำงานของแบตเตอรี่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบทันทีทันใด และการเพิ่มความสามารถการทดสอบการทำงานของแบตเตอรี่ด้วยการจำลองสภาวะสั่นสะเทือน การกระแทกเมื่อขับบนถนนขรุขระ การตกหลุมบ่อบนถนนหรือการตกไหล่ทาง เพื่อรองรับการใช้งานจริงในทุกสถานการณ์   ที่เกิดขึ้นของยานยนต์ ซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถทั้งหมด นอกจากจะสร้างความมั่นใจในเทคโนโลยีการตรวจสอบมาตรฐานให้กับภาคธุรกิจผู้ผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์แล้ว ยังตอบโจทย์ในเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน-สำนักข่าวไทย.

บล.บัวหลวงเดินหน้าคลอดบริการไฮเทครับเทรนด์การลงทุนใหม่

กรุงเทพฯ 24 พ.ย. บล.บัวหลวง ตอกย้ำภาพผู้นำนวัตกรรมการเงิน ปี 63 ส่งเครื่องมือช่วยลงทุนสุดล้ำตามเป้า รับเทรนด์ลงทุนยุคใหม่ นายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการอาวุโส กิจการค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และเข้ามามีบทบาทสำคัญ   อย่างกว้างขวางในหลากหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงอุตสาหกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ทุกคนต้องเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้น และปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ หลายคนนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เห็นได้ชัดจากการที่นักลงทุนหลายรายเริ่มหันมาซื้อขายหุ้นผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตมากขึ้น สะท้อนได้จากตัวเลขเปิดบัญชีหุ้นออนไลน์ของบริษัทที่เติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 40 จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของนักลงทุนในช่วงที่ผ่านมา หลักทรัพย์บัวหลวงจึงมุ่งมั่นสร้างและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นให้มีความทันสมัยสามารถใช้งานได้ สะดวก รวดเร็ว และตอบโจทย์ การลงทุนครอบคลุมทุกมิติ เพื่อตอบทุกเป้าหมายทางการเงิน และให้นักลงทุนได้พบกับชีวิตการลงทุนที่ง่ายทุกขั้นตอน ครบวงจรด้วย Premium Investment Services ตลอดปี 63 บริษัทเดินหน้าเปิดตัวนวัตกรรมเพื่อการลงทุนในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือดูหุ้นก่อนเทรด(Pre-Trade) คือ Global Signals ตัวช่วยจับจังหวะทิศทางซื้อขายหุ้นต่างประเทศอย่างมืออาชีพ ผ่านการวิเคราะห์ทางเทคนิคด้วยกราฟ หรือ เครื่องมือ Indicators ยอดนิยมที่จะแสดงผลออกมาเข้าใจง่าย ด้วยจำนวนรูปของกระทิง (Bull Signals) และหมี (Bear Signals) Global Corporate Actions บริการแจ้งเตือนสิทธิประโยชน์หุ้นต่างประเทศ ทั้งในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง และเวียดนาม ผ่านทาง E-mail และ SMS สำหรับลูกค้า BLS Global Investing เพื่อจะได้ ไม่พลาดข่าวสารของหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ถือครอง และเว็บไซต์ DW01 รูปแบบใหม่ที่ออกแบบมาให้มีความทันสมัยตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนมากขึ้น ภายใต้แนวคิด “Customer-Centric” เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีในการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ของ DW รวมทั้งสามารถเข้าถึงตาราง DW ได้ง่าย รวดเร็ว ครบจบในหน้าเดียว พร้อมฟีเจอร์ใหม่ ๆ  ซึ่งหลายฟังก์ชันเป็นข้อมูลที่ในอุตสาหกรรม    ไม่มี แต่สามารถดูได้จากเว็บไซต์ DW01 เท่านั้น เช่น “My DW” ฟังก์ชันจดจำรายชื่อ DW ที่นักลงทุนเคยค้นหา เสมือนมีผู้ช่วยส่วนตัวในการแสดงรายชื่อ DW ตามความสนใจของแต่ละคนโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนใช้เวลาน้อยลงในการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ เป็นต้น กรรมการผู้จัการบล.บัวหลวง กล่าวอีกว่ส นอกจากนั้นยังพัฒนาเครื่องมือที่ใช้เทรด (Trade) คือ ระบบส่งคำสั่งซื้อขายe-Block Trade ตัวช่วยลงทุน ธุรกรรม Block Trade ที่ตอบโจทย์ รวดเร็ว ไม่มีสะดุด และสามารถกำหนดจุดเข้าและออก ผ่านการตั้งคำสั่ง Conditional Order ได้ง่ายไม่ยุ่งยาก ระบบออมหุ้นอัตโนมัติ SAP DCA และ VA ที่เน้นการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันทุกงวด ขณะเดียวกันยังพัฒนาเครื่องมือ E-Services บริการอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทําธุรกรรมอย่าง E-ATS บริการโอนเงิน เพื่อทำการซื้อขายหุ้นหรืออนุพันธ์อัตโนมัติ สำหรับนักลงทุนผ่านอินเทอร์เน็ต, E-RO บริการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์หลักทรัพย์บัวหลวง พร้อมแจ้งวิธีชำระเงิน และ E-IPO ช่องทางจองซื้อหุ้นที่เสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก เพื่อเพิ่มโอกาสการกระจายหุ้นให้มีความสะดวกมากขึ้น ครอบคลุมนักลงทุนทุกระดับ  ปัจจุบันบริการฝากเงินออนไลน์,บริการจองหุ้นเพิ่มทุนออนไลน์ และบริการจองซื้อหุ้น มีการใช้งานแล้วประมาณร้อยละ 88 ,ร้อยละ72  และร้อยละ 97 ตามลำดับ อย่างไรก็ดีจากข้อมูลการจองซื้อ IPO ตัวล่าสุด บริการ E-IPO ทำให้สามารถกระจายหุ้นให้กับนักลงทุนได้เกือบ 6 พันคน บริษัทฯ ยังได้พัฒนาช่องทางการเปิดบัญชีกองทุนออนไลน์ และเปิดบัญชีหุ้นต่างประเทศออนไลน์ โดดเด่นด้วยระบบออนไลน์ที่มีความทันสมัย รวดเร็ว และปลอดภัย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเปิดบัญชีได้ สะดวก ง่าย ไม่ต้องส่งเอกสาร โดยมีทีมงานระดับมืออาชีพคอยดูแลผลประโยชน์สูงสุดของผู้ลงทุน “บริษัทเน้นนวัตกรรมการลงทุนและการให้ความรู้  ข่วงโควิด-19 ทั่วโลกมีนักลงทุนเปิดบัญชีใหม่จำนวนมาก รวมทั้งในประเทศไทย เฉพาะของบริษัทมีคนเปิดบัญชีใหม่  4-5 หมื่นราย แนวโน้มปีหน้าจะพัฒนาต่อยอดบริการที่มีอยู่ เช่นการต่อยอดระบบที่ให้บริการลงทุนกับกองทุนโดนดูว่ามีบริการใหม่ๆอะไนที่น่าทำบ้างหรือว่าลูกค้าต้องการ เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ก็เริ่มเอามาใช้มากขึ้นรวมถึงดาต้าซึ่งจะมีบริการที่ใช้เทคมาช่วยการลงทุนมากขึ้น” นายบรรณรงค์ กล่าว-สำนักข่าวไทย.

เตือนอย่าเชื่อมิจฉาชีพหลอกใช้บัตรประชาชนซื้อมือถือ

กรุงเทพฯ 23 พ.ย. – เอไอเอสเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ อาชญากรหลอกให้ใช้บัตรประชาชนซื้อมือถือ แล้วนำไปขายต่อเสี่ยงโดนข้อหาฉ้อโกง นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวว่า พบว่า มีทั้งกลุ่มที่โดนหลอกลวง และกลุ่มที่จงใจใช้บัตรประชาชน ซื้อเครื่องโทรศัพท์มือถือพร้อมแพ็กเกจ จากนั้นนำเครื่องโทรศัพท์ไปแยกขายต่อ โดยไม่มีการชำระค่าบริการตามเงื่อนไขในสัญญา ซึ่งบริษัทฯกังวลถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นในภาพรวมและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นปริมาณของประชาชนที่ถูกดำเนินคดีฉ้อโกงที่เพิ่มขึ้น รวมถึง ความเสี่ยงของผู้ที่ซื้อเครื่องต่อโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่อาจจะเข้าข่ายรับซื้อของโจรด้วยจึงขอแจ้งเตือนผู้ที่อาจหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของการกระทำ หรือ จงใจกระทำการดังกล่าวข้างต้นว่า การก่อเหตุในลักษณะนี้ เจ้าของบัตรประชาชนที่ทำสัญญาซื้อเครื่องโทรศัพท์พร้อมแพ็กเกจจะมีความผิด โดยมีบทลงโทษฐานฉ้อโกง มาตรา ๓๔๑ โทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ รวมไปถึงการมีชื่อติด Black List ในระบบ ส่งผลให้ในอนาคตจะมีปัญหาในการทำธุรกรรมกับค่ายมือถือ ซึ่งปัจจุบันมีระบบตรวจสอบอย่างเข้มข้น อีกทั้งในส่วนของผู้ที่รับซื้อเครื่องต่อไป จะเข้าข่ายความผิดฐานรับของโจร มาตรา ๓๕๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทฯจำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฏหมายขั้นสูงสุดกับผู้กระทำผิดทุกราย โดยไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้น จึงขอเน้นย้ำไปยังทุกท่านว่า อย่าหลงเชื่อ และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลไปดำเนินการอย่างไม่ถูกต้อง อีกทั้งท่านที่จะซื้อโทรศัพท์มือถือ ก็ขอให้ตรวจสอบแหล่งที่มาให้ดี เพราะอาจมีความเสี่ยงทั้งคุณภาพของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการรับประกันและผิดกฏหมายอีกด้วย” นางสายชล กล่าว-สำนักข่าวไทย.

1 5 6 7 8 9 2,829
...