ดีอีเอสจัดหนักพนันออนไลน์

กรุงเทพฯ 13 พ.ย. “พุทธิพงษ์” จัหนักพนันออนไลน์พร้อมเผย 3  เดือน ปิดเว็บพนันแล้ว 1,457 URLs  จับผู้ต้องหาเครือข่ายรายใหญ่ได้ 140  คน  พบเงินหมุนเวียน กว่า 21,000 ล้านบาท  ผนึกกำลังตำรวจเร่งปราบต่อเนื่อง นายพุทธิพงษ์  ปุณณกันต์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังคงดำเนินการแก้ไขปัญหาพนันออนไลน์โดยได้สั่งการให้กองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ปท.)ภายใต้กำกับของกระทรวงดิจิทัลฯ เร่งประสานความร่วมมือในการทำงาน ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เร่งดำเนินการกวาดล้างเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์อย่างจริงจัง ทั้งนี้พบว่าในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา (ก.ค.- ต.ค.2563) เจ้าหน้าที่สามารถสืบสวนและดำเนินการจับกุมเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ และทำการปิดกั้นการเข้าถึงแล้ว จำนวน 1,457 รายการ(URLs) ได้ผู้ต้องหาในเครือข่ายรายใหญ่ รวม140  คน  มีเงินหมุนเวียนทั้งหมด จำนวน 21,735 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ส่งผู้ต้องหาทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว  และยังคงเร่งดำเนินการปราบปรามเว็บพนันออนไลน์อย่างต่อเนื่อง  โดยบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4 ,12 และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 อย่างเคร่งครัด-สำนักข่าวไทย.

ดีป้าจับมือสวทช.หนุนพัฒนาไฮเทคสัญชาติไทย

กรุงเทพฯ 12 พ.ย. ดีป้า จับมือ สวทช. ยกระดับผู้ประกอบการ หนุนออกแบบพัฒนาเทคโนโลยีสัญชาติไทย นำร่องอุปกรณ์ไอโอที-โดรนหวังแชร์ส่วนแบ่งตลาด  นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต และการทำธุรกิจในทุกภาคเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทุกภาคส่วนจึงต้องปรับตัวรับกับความท้าทายและฉวยโอกาสใช้ความเปลี่ยนแปลงให้เกิดประโยชน์สูงสุด อุปกรณ์ IoT และ Drone เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบและพัฒนาอย่างรวดเร็วตามกระแสความนิยม แต่เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานอย่างชัดเจน การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยคำนึงถึงการใช้งานแต่ไม่ได้คำนึงถึงมาตรฐานอาจทำให้ผู้ใช้งานเกิดความเสี่ยง เช่น ผลิตภัณฑ์เสื่อมสภาพเร็ว ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือ ไม่สามารถทำงานร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว ดีป้าจึงได้ร่วมกับ สวทช. จัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ด้านมาตรฐาน และการทดสอบอากาศยานไร้คนขับ และ IoT ประกอบด้วยการถ่ายทอดความรู้ทั้งทางทฤษฎี และปฏิบัติ เพื่อยกระดับทักษะและเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ​“ดีป้าเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมและธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นสตาร์ทอัปและธุรกิจเอสเอ็มอี ที่พัฒนาเทคโนโลยี Internet of Things (IoT)  รวมถึงอุปกรณ์อัจฉริยะ ดีป้าจึงได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำมาตรฐานสำหรับอุปกรณ์ IoT ที่ผลิตโดยนักพัฒนาและผู้ประกอบการในประเทศ เช่น กล้องวงจรปิด อากาศยานไร้คนขับโดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานเป็นแนวทางให้ผู้ผลิตอุปกรณ์สามารถยกระดับการพัฒนาและการผลิตให้สามารถนำออกให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมั่นใจตามหลักมาตรฐานสากล และยังสามารถต่อยอดสู่การขอรับเครื่องหมาย dSure (ดีชัวร์) เพื่อผลักดันสู่ตลาดในประเทศต่อไป”นายณัฐพล กล่าว ​ด้าน นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. ) กล่าวว่า สวทช. เชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศโดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศและSMEs ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง จึงวางนโยบายโดยใช้ยุทธศาสตร์ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสากลเป็นแนวคิดหลัก และนำเอาความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) ให้แก่ผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณภาพน่าเชื่อถือ มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน  และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ในช่วงเศรษฐกิจปัจจุบัน การลงทุนเพิ่มเติมเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากลเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากสำหรับภาคอุตสาหกรรมขนาดกลาง,เล็ก (SME) และ startup เพราะนั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ยิ่งหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐฯ การอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมในสภาวะเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบันยิ่งเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก สวทช. จึงวางบทบาทการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตใหญ่สำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนต่อไป ​“เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในประเทศมากยิ่งขึ้น สวทช. มีการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ(National Quality Infrastructure: NQI) เพื่อให้ภาคเอกชนมีต้นทุนต่ำลงแต่มีมาตรฐานสูงขึ้น โดยนำองค์ความรู้ นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและ ห้องปฏิบัติการทดสอบที่มีอยู่มาใช้ในการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อก่อให้เกิดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้าและลดต้นทุน รวมถึงพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ในเวทีโลกได้ เพื่อรองรับ Disruptive technology ไม่ว่าจะเป็น Internet of Thing Smart Products  และ โดรนเป็นต้น” นายณรงค์ กล่าว-สำนักข่าวไทย.

ไทยคมแจงดาวเทียมไทยคม5 ทำตามสัญญา

กรุงเทพฯ 12 พ.ย. ไทยคมแจง ปมดาวเทียมไทยคม5 ยันดำเนินการตามครบตามสัญญา นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) แถลงชี้แจงกรณีข้อเรียกร้องของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)  เกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม 5 ว่า ตามที่กระทรวงดิจิทัลฯ เรียกร้องให้ บริษัท ดำเนินการสร้างและส่งมอบดาวเทียมทดแทนไทยคม 5 หรือชดใช้ค่าเสียหายเป็นราคาดาวเทียมซึ่งนำไปสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการนั้น บริษัท ขอชี้แจงว่า บริษัท ได้ดำเนินการจัดส่งดาวเทียมขึ้นให้บริการครบถ้วนตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทานแล้ว จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่มาทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 ตามข้อเรียกร้องโดยในปัจจุบันยังมีดาวเทียมอีก 2 ดวงคือไทยคม 4 และไทยคม 6 ที่ บริษัท ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้กับกระทรวงฯ แล้วและยังมีอายุวิศวกรรม ระยะเวลาสิ้นสุดสัมปทานซึ่งกระทรวงฯ สามารถนำไปบริหารจัดการต่อไป “สัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคมเกิดขึ้นมานานเกือบ 30 ปีโดยมีการกำหนดเงื่อนไขในเชิงกรอบดำเนินการและหลักการปฏิบัติและมีการอ้างอิงกับแผนดำเนินการที่ บริษัท เสนอและกระทรวงฯ ได้ให้ความเห็นชอบโดยเน้นความต่อเนื่องของบริการดาวเทียมตลอดอายุสัญญาในแผนดำเนินการที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากำหนดให้ บริษัท จัดสร้างดาวเทียม 2 ชุดรวม 4 ดวง (อายุของดาวเทียมมีอายุ15ปี เมื่อทำสัญญา 30 ปีจึงต้องมีดาวเทียม 2 ชุด ) โดยแต่ละชุดประกอบด้วยดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองและเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงดาวเทียมที่ยังมีอายุวิศวกรรมเหลือใช้งานได้อยู่กระทรวงฯ ก็สามารถนำไปบริหารจัดการเลยระยะต่อไป”นายอนันต์ กล่าว  นายอนันต์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการตามสัญญาจนถึงปัจจุบัน บริษัท ได้มีการจัดสร้างและโอนกรรมสิทธิ์ดาวเทียมให้รัฐไปแล้ว 6 ดวงมากกว่าที่กำหนดไว้ในแผนกรณีการขัดข้องของดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องปลดระวางไปนั้นกระทรวงฯทราบถึงอายุการใช้งานของดาวเทียมไทยคม 5 ตามที่ออกแบบไว้ในขณะที่ขออนุมัติจัดส่งว่าดาวเทียมไทยคม 5 จะครบอายุการใช้งานตามที่ออกแบบไว้ (ครบอายุในปี 2561) และเมื่อเกิดกรณีการขัดข้องของดาวเทียมไทยคม 5 เนื่องจากการใช้งานเกินกว่าอายุที่กำหนดซึ่งเป็นเหตุให้ต้องปลดระวางในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 บริษัท มีการหารือกับกระทรวงฯ และกสทช. ล่วงหน้าและแจ้งแผนการปลดระวางให้ทุกฝ่ายทราบและขออนุมัติก่อนนอกจากนั้น บริษัทได้นำส่วนแบ่งรายได้จากลูกค้าที่ได้รับผลกระทบนำส่งกระทรวงเป็นค่าชดเชยรวมถึงเจรจากับ บริษัท ประกันภัยเพื่อนำเงินสินไหมทดแทนส่งมอบกระทรวงฯ ต่อไปและ บริษัท ยังคงมีดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 6 สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องตลอดอายุสัญญาสัมปทานและเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงกระทรวงฯ ก็สามารถนำดาวเทียมทั้งสองดวงไปบริหารจัดการต่อไปซึ่งเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาสัมปทานแล้ว  บริษัท จึงมีความเห็นว่า บริษัท ได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วโดยรัฐไม่เสียประโยชน์ แต่อย่างใดเนื่องจาก บริษัท ได้นำดาวเทียมขึ้นให้บริการและโอนกรรมสิทธิให้กับกระทรวงแล้วครบถ้วนตั้งแต่จัดส่งดาวเทียมและยังได้ชำระค่าส่วนแบ่งรายได้ของดาวเทียมทั้ง 6 ดวงรวมกันจนถึงปัจจุบันเป็นเงิน 13,792.23 ล้านบาทขณะที่จำนวนขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญาคือ 1,415 ล้านบาทอีกทั้ง บริษัท ยังมีส่วนสำคัญในการเสาะแสวงหาวงโคจรให้กับประเทศและช่วยดำเนินการรักษาวงโคจรดาวเทียมไม่ให้ประเทศไทยต้องเสียสิทธิตลอดมาและรัฐยังได้รับการส่งมอบดาวเทียมบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตที่เป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกอันถือเป็นชื่อเสียงของประเทศและเป็นประโยชน์ต่อบริการสาธาณะและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศเช่นญี่ปุ่นอินเดียออสเตรเลีย บริษัท ขอยืนยันว่าตลอดระยะเวลาในสัมปทาน บริษัท มีการดำเนินการที่เปิดเผยโปร่งใสต่อเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอดผ่านกระบวนการเห็นชอบและอนุมัติดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาและความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในการนำส่งรายได้ตามสัญญาจัดฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตรวจสอบเอกสารตรวจสอบทรัพย์สินอย่างต่อเนื่องมาทุกปี บริษัท เชื่อมั่นว่า บริษัท ได้ดำเนินการเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาโดยครบถ้วนถูกต้อง-สำนักข่าวไทย.

พบข่าวลวงสร้างความสับสนเกี่ยวกับ 5G

กรุงเทพฯ 12 พ.ย. ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการโทรคมนาคมชี้พบกระแสสร้างข่าวลวงทำความสับสนต่อเทคโนโลยี5G แนะหาข้อมูลประกอบพิจารณาอย่างรอบคอบ นายเจษฎา ศิวรักษ์  หัวหน้างานฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อิริกสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากการประชุมออนไลน์ GLORE2020  Global Coordination of Research and Health Policy on RF Electromagnetic Fields) ระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2020 การประชุมนานาชาติเกี่ยวกับการวิจัยและความร่วมมือในเรื่องนโยบายสุขภาพบนสนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีสื่อสารและสุขภาพทหลายเรื่อง อาทิ ตัวแทนของ เทลสตาร์ ผู้ให้บริการ 5G จากออสเตรเลียได้พูดในประเด็นที่น่าสนใจเรื่องประสบการณ์ 5G ได้รับการต่อต้านจากประชาชนในความเชื่ออย่างไม่มีเหตุผลเช่น  5G  ยังไม่ได้มีการทดสอบว่ามีอันตรายต่อสุขภาพ , 5G เป็นแหล่งปล่อยไวรัส โควิด-19 เมืองไหนมี 5G ก็จะมีผู้ติดเเชื้อเป็นจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกาติดตั้ง 5G เป็นประเทศแรก ๆ ของโลก ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิทเป็นจำนวนมาก หรือหลายเมืองในยุโรปก็มีการระบาดของโคโลน่าไวรัสตามเมืองที่มีการติดตั้ง5G และ 5G ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้นไม้ไม่เจริญเติบโต หรือเป็นเหตุให้นกจำนวนมากตายลง ดังเช่นเหตุการณ์การตายหมู่ของนกตัวเล็กๆ ในสวนสาธารณะในยุโรป 5G ส่งผลกระทบต่อ DNA ของเราอาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดต่างๆ ได้ มีการเปรียบเทียบเหมือนการปล่อยคลื่นในเตาไมโครเวฟ ที่ทำให้ความร้อนในผิวหนับมันสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เทลสตาร์ได้ลงทุนว่าจ้างดาราตลกมาร์ค ชาวออสเตรเลียมาสวมบทบาทเป็น 5G Chief Investigator มาทำคลิปให้ข้อมูลความจริงต่อสาธารณชนผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อลดความตื่นตระหนกของสังคม  นายเจษฎา กล่าวอีกว่า การปั่นกระแสเรื่องความน่าหวาดกลัวของ 5G ให้กับประชาชน มีคนที่ฉวยโอกาสในการสร้างเรื่องอุปกรณ์ Anti-5G Bio Shield ที่หน้าตาคล้าย USB Drive โดยมีการโหมสร้างความน่าเชื่อถือว่า อุปกรณ์ตัวนี้มีเทคโนโลยี Quantum holographic catalyzer technology ที่จะสร้างม่านครอบตัวผู้ใช้ที่มองไม่เห็น มีความสามารถป้องกันอันตรายให้กับผู้ใช้ได้เป็นอย่างนี้  ซึ่งได้มีการสร้างความน่าเชื่อถือขึ้นไปอีกเป็นการสร้างเอกสารที่คล้ายจะเป็นวิชาการจำนวน 25 หน้า ที่อธิบายสรรพคุณของอุปกรณ์ตัวนี้ มีการบอกระยะของการครอบคลุมป้องกันคลื่น 5G โดยทั้งนี้อุปกรณ์ Anti-5G Bio shield จำหน่ายอยู่ในราคา 350 เหรียญสหรัฐ (ราคาประมาณหนึ่งหมื่นบาท)  โดยทางBBC ได้มีการนำอุปกรณ์ตัวนี้มาผ่าดูเพื่อให้รู้ว่าเป็นอุปกรณ์อย่างที่โม้ไว้หรือไม่ ผลปรากฏว่าทีมตรวจสอบของ BBC ชี้ชัดว่าเจ้าอุปกรณ์ป้องกันคลื่น 5G นี้ไม่มีอะไรแตกต่างไปมากกว่า  128MB USB Stick ธรรมดาๆราคาประมาณ  6-7 เหรียญสหรัฐ สรุป คือเอาอุปกรณ์หลักไม่กี่ร้อยมาขายในราคาหลักหมื่น ด้วยการฉวยโอกาสสร้างกระแสความกลัวในเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล มีการเปิดเวปไซด์  5GBioShield เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่อง5G อันตรายต่อสุขภาพอย่างผิดๆ และเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายโดยยังไม่ได้มีใครไปดำเนินการกับเว็บไซด์อันนี้อยู่ ข่าวแบบนี้มีออกมาอีกมากคิดว่าการไปทำการปิดกั้นคงทำไม่ได้ แต่หน่วยงาน หรือสมาคมที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้น่าจะมีการพิสูจน์แล้วให้ความรู้กับภาคประชาชนน่าจะได้ผลมากกว่า เช่น กรณี BBC ร่วมกับพันธมิตร Pentest Partner พิสูจน์ให้เห็นความจริงแล้วนำมาให้ข้อมูลกับสาธารณชนวิธีนี้น่าจะดีกว่า ด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี เลขาธิการสมคมโทรคมนาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีข่าวลวงหรือเฟคนิวส์เกี่ยวกับ 5G เกิดขึ้นจำนวนมาก น่าแปลกใจทีาหลายข่าวยังออกมาเรื่อยๆ และที่สำคัญเป็นกลุ่มก้อนและออกมาจากประเทศที่ค่อนข้างเจริญ หรือผู้คนมีการศึกษา อาทิ ยุโรป ออสเตรเลียก็มีในประเทศกลุ่มเอเซียกลับไม่ค่อยมีข่าวทำนองนี้ ข่าวที่พบมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องความกังวลเกี่ยวกับคลื่นว่ามีจะมีผลต่อกับสุขภาพหรือ โดยพบว่ามีการใช้หลักวิชาการและหลักฐานอธิบายเทียบเคียงทำให้เชื่อ นายสืบศักดิ์ กล่าวอีกว่า เท่าที่ตามข่าว เว็บหรือกลุ่มที่นำเสนอน่าจะเป็นบล็อกเกอร์ที่มีเจตนาสร้างเรื่องเพื่อเพิ่มยอดคลิ๊ก จะสังเกตได้ว่าข่าวที่ออกมามีแปลกๆ แบบหลุดโลกไร้หลักวิชาการไปเลย แบบทำนกตาย พอโควิดมาก็บอกว่า5Gกระจายโควิด ข่าวลวงที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคข่าวสารอาจสังเกตว่าหัวข้อหรือเนื้อข่าวจะออกแนวไม่น่าเป็นไปได้ อาทิ5G แพร่ไวรัสโควิด หรือทำนกตาย หรือ มี usb ที่เสียบกับคอมฯแล้วสร้างเกราะกำบังกันคลื่น ทำนองนี้สามารถพิจารณาได้เลยเบื้องต้นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ และไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งไม่ควรทั้งเชื่อและส่งต่อให้ความเข้าใจผิดๆ กระจายไปแม้จะมองในแง่ขบขำก็ตาม ส่วนประเด็นที่อาจก่ำกึ่งฟังดูอ่านจะมีความเป็นไปได้หรือเป็นประเด็นข้อกังวลสงสัยอาจใช้วิธีหาข้อมูลอื่นๆ ประกอบหรือแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งนี้ถ้าประเด็นข้อกังวลใดมีผลกระทบผู้คนเป็นวงกว้างก็ย่อมจะมีข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศยืนยันความชัดเจนเเละถูกต้อง-สำนักข่าวไทย.

อินเทลเปิดวิสัยทัศน์XPUประสานความสามารถตัวประมวลผลกับซอฟแวร์

กรุงเทพฯ 12 พ.ย. อินเทลเดินหน้าวิสัยทัศน์ XPUด้วย oneAPI และ Intel Server GPU นายราจา โคดูรี่  รองประธานอาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสถาปัตยกรรม และผู้จัดการทั่วไปกลุ่มสถาปัตยกรรม กราฟิก และซอฟต์แวร์ของอินเทล กล่าวว่า อินเทลประกาศความสำเร็จครั้งสำคัญบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาหลายปี เพื่อมุ่งสู่การมอบสถาปัตยกรรมการประมวลผลคอมพิวเตอร์ที่ผสมผสานพร้อมประสบการณ์ซอฟต์แวร์ที่เป็นหนึ่งเดียว บริษัทประกาศแผนเปิดตัว Intel® oneAPI Toolkits เวอร์ชันสมบูรณ์ในเดือนธันวาคม พร้อมความสามารถในกลุ่มซอฟต์แวร์ ตามแนวทางการออกแบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อย่างผสมผสานของอินเทล   “ถือเป็นก้าวสำคัญบนเส้นทาง oneAPI และ XPU อันยิ่งใหญ่ของเรา ด้วยการประกาศเปิดตัว oneAPI Toolkits เวอร์ชันสมบูรณ์ เราได้ขยายขอบเขตประสบการณ์ของนักพัฒนาจากไลบรารีและเครื่องมือการเขียนโปรแกรมประมวลผลที่คุ้นเคย ไปสู่สถาปัตยกรรม Vector-Matrix-Spatial และเรายังเปิดตัว GPU สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ตัวแรกสุดที่ใช้สถาปัตยกรรมย่อส่วน Xe-LP โดยมุ่งตอบโจทย์กลุ่มการเล่นเกมบนคลาวด์และการสตรีมเนื้อหาที่เติบโตอย่างรวดเร็ว” นายโคดูรี กล่าวว่า โลกปัจจุบันได้เปลี่ยนมาสู่ยุคที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์อัจฉริยะหลายพันล้านชิ้นพร้อมจำนวนข้อมูลมหาศาลที่เพิ่มสูงขึ้นแบบทวีคูณ ทำให้ต้องเปลี่ยนความสำคัญของ CPU ไปสู่การผสมผสานสถาปัตยกรรมระหว่างCPU, GPU, FPGA และตัวเร่งความเร็วต่างๆ อินเทลเรียกสิ่งเหล่านี้รวมกันว่า “วิสัยทัศน์ XPU” และการเปิดตัว Intel® Server GPU นี้เป็นอีกก้าวในการสานต่อการนำเสนอจากอินเทลในยุคแห่ง XPU กลุ่มซอฟต์แวร์ที่ครอบคลุมมีความสำคัญอย่างมากต่อการประมวลผลคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบัน เหล่านักพัฒนาจะสามารถเข้าถึงโมเดลการเขียนโปรแกรมบนมาตรฐานแบบเปิดที่ใช้ร่วมกันผ่าน Intel® XPU และ oneAPI Toolkits ของอินเทล ที่ปลดล็อกประสิทธิภาพในฮาร์ดแวร์ ลดค่าใช้จ่ายการพัฒนาซอฟต์แวร์และการบำรุงรักษา พร้อมทั้งลดความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นจากการปรับใช้การเร่งความเร็วการประมวลผล เมื่อเทียบกับโซลูชันอันเป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะของผู้ผลิต อินเทลยังได้เปิดตัว Intel® Server GPU ซึ่งเป็นหน่วยประมวลผลกราฟิกแบบแยก (Discrete GPU) สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ตัวแรกของอินเทล สร้างบนสถาปัตยกรรมย่อส่วน Xe-LP และออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อการเล่นเกมผ่านคลาวด์บนแอนดรอยด์และการสตรีมเนื้อหา รองรับความหนาแน่นสูงและความหน่วงต่ำ-สำนักข่าวไทย.

ดีอีเอสเล็งให้ทีโอทีทำดาต้าเซ็นเตอร์บริการเอกชน

กรุงเทพฯ 11 พ.ย. กระทรวงดีอีเอส ไอเดียบรรเจิดให้ทีโอทีให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ภาคเอกชน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงฯ มีแนวคิดให้บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ สำหรับภาคเอกชน เช่นเดียวกับที่มีบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐหรือ Government Data Center and Cloud service (GDCC) ให้บริการกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้เมื่อประเทศไทยจะรองรับการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ และด้วยเทคโนโลยี5G ที่มีความพร้อม โดยกระทรวงฯและทีโอทีอยู่ระหว่างการสรุปข้อมูลความเหมาะสมที่จะตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ที่เหมาะสม กระทรวงฯ ตระหนักถึง ความสำคัญของข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและต้องการการดูแล เพื่อให้เอกชนที่เข้ามาลงทุนมีที่เก็บข้อมูลที่เกิดขึ้น “เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ทีโอทีจะทำธุรกิจใหม่ ดาต้าเซ็นเตอร์แห่งนี้ไม่ได้มาแข่งกับดาต้าเซ็นเตอร์แห่งที่สามที่บริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยีประกาศจะดำเนืนการในปี 2564 กระทรวงฯมองว่าการลงทุนครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ทีโอทีจะมีธุรกิจใหม่ เมื่อทีโอทีควบรวมกิจการกับบริษัทกสท โทรคมนาคมเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) จะทำให้เกิดความแข็งแกรงของธุรกิจ เพราะจะเป็นผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งภาครัฐและเอกชน ” นายพุทธิพงษ์ กล่าว -สำนักข่าวไทย.

หัวเว่ยทุ่ม700ล้านบาทผุดดาต้าเซ็นเตอร์แห่งที่สามในไทยปี64

กรุงเทพ 11 พ.ย. หัวเว่ยทุ่มงบ 700 ล้านบาท พัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์แห่งที่สาม หนุนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาค นาย อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) งานสัมมนา Powering Digital Thailand 2021 ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นกลไกการเติบโตใหม่สำหรับตลาดทั่วโลก  การศึกษาทั่วโลกพบว่าผู้ที่ลงทุนในไอซีทีมีส่วนช่วยอย่างมากต่อ ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP)ของประเทศ การเติบโตร้อยละ 20 ของบริการด้านไอซีทีนำไปสู่การเพิ่มจีดีพีร้อยละ 1 ดังนั้นการลงทุนในไอซีทีสามารถนำไปสู่ ​​6.7 เวลาในภาคส่วนที่ไม่ใช่ไอซีที สิ่งนี้สามารถสังเกตได้ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นเทรนด์ที่กำลังมาถึงสำหรับกลไกการเติบโตใหม่ กว่า 164 ประเทศทั่วโลกได้เผยแพร่ยุทธศาสตร์ดิจิทัลระดับชาติสำหรับแผนงานระยะยาวของประเทศส่วนใหญ่มีเป้าหมายเพื่อเป็นรากฐานสำคัญและเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล การเชื่อมต่อและการประมวลผลเป็นรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล  5G, F5G และ Internet of Things (IoT) เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีการเชื่อมต่อในขณะที่คลาวด์และปัญญาประดิษฐ์( AI )เป็นอนาคตของคอมพิวเตอร์ การบรรจบกันของการเชื่อมต่อและการประมวลผลจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการขนส่งการเงินหรือพลังงานและสร้างมูลค่าใหม่ให้กับสังคม ระบบนิเวศของประเทศไทยถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในโลกต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อและพลังในการขับเคลื่อนการเติบโตทางดิจิทัลในทุกอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นการขนส่งการเงินหรือพลังงานและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งให้กับประเทศไทยด้วยความพยายามของรัฐบาลในการเร่งการนำ 5G มาใช้ประเทศไทยจึงเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เปิดใช้เครือข่าย 5G สำหรับผู้บริโภค  ส่งผลให้ประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นที่แข็งแกร่งสำหรับวิวัฒนาการด้านไอซีทีที่กำลังจะมาถึง ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เรามั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลได้มากกว่าร้อยละ 30 ของจีดีพีโดยรวมและกลายเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาค เป้าหมายของเราคือการพยายามเพิ่มระดับของดิจิทัลและนำประเทศไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เราเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่ดีในการก้าวไปข้างหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล นายเติ้ง กล่าวอีกว่า เพื่อให้บรรลุยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เทคโนโลยีคลาวด์และ AI จะต้องเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญและนำไปใช้ในอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนนี้หัวเว่ยได้ขับเคลื่อนการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในระยะยาวในระบบคลาวด์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2018 ในช่วงสองปีที่ผ่านมาหัวเว่ยเป็นผู้ให้บริการ Data Center Hub ที่มีลักษณะเฉพาะในประเทศไทยโดยใช้เทคโนโลยีคลาวด์เพื่อใช้ศูนย์ข้อมูลที่มีผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางสองแห่งใน ประเทศไทยและจะเปิดตัวศูนย์ข้อมูลแห่งที่สามในประเทศไทยในปี 2564 ด้วยมูลค่าการลงทุน 700 ล้านบาท เพื่อรองรับการเร่งพัฒนานวัตกรรม 5G ผ่านความร่วมมือด้านระบบนิเวศที่หัวเว่ยและหน่วยงานภาครัฐของไทยร่วมมือกัน หัวเว่ยสนับสนุนคนไทยให้บรรลุศักยภาพสูงสุดและส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศด้วยการเป็นผู้ขับเคลื่อน Thailand 4.0 และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็นกลไกการเติบโตของประเทศไทย-สำนักข่าวไทย.

ดีป้าติดตามโครงการใช้ไฮเทคพัฒนาชุมชน

กรุงเทพฯ 10 พ.ย.ดีป้าติดความความก้าวหน้าโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชนบท นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของสำนักงานฯ คือการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในทุกภูมิภาคทั่วประเทศสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพและผู้ให้บริการดิจิทัล (Digital Provider) ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานฯ เพื่อประยุกต์ใช้ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท(depa Digital Transformation Fund for Community) โครงการระบบบริหารจัดการไข่ไก่เพื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (ไข่ไก่อารมณ์ดี) โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตเกษตรกรบ้านนาหึก ในอำเภอแม่ริม ที่ประยุกต์ใช้ระบบ ERP ใช้ในการบริหารจัดการและตรวจสอบสถานะไข่ไก่แบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนไข่ไก่ที่ลูกค้าต้องการ จำนวนไข่ไก่คงเหลือ ยอดสะสมไข่ไก่ที่ส่งให้กับชุมชน รวมถึงระบบการจัดการรับซื้อและจำหน่ายไข่ไก่ในวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตเกษตรแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาหึก นอกจากนี้ ยังสามารถติดตามและเก็บข้อมูลปริมาณการรับซื้อและกระจายไข่ไก่ขนาดต่าง ๆ ในเชิงสถิติ เพื่อทำการประเมินผลและคาดการณ์ปริมาณและขนาดของไข่ให้สอดคล้องกับการรับซื้อ การเก็บรักษา และการกระจายให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด มาตรการดังกล่าวช่วยให้เกษตรกรในชุมชนสามารถเรียนรู้ เกิดความเข้าใจ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกับการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 180,000 บาทต่อปี ขณะเดียวกันยังสามารถลดต้นทุนด้านแรงงานได้มากกว่า 120,000 บาทต่อปี คณะทำงานได้ติดตามความก้าวหน้า โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Predictive Machine Vision ในขั้นตอนการคัดคุณภาพลำไยอบแห้ง และประมวลผลด้วยวิธีการของ Machine Learning โดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ลำพูนดีเอสฟู๊ด ในอำเภอเมืองลำพูน ที่นำเทคโนโลยี Predictive Machine Vision มาประยุกต์ใช้ในขั้นตอนการคัดคุณภาพลำไยอบแห้ง และประมวลผลด้วยวิธีการ Machine Learning ร่วมกับงานออกแบบเครื่องจักรในอุตสาหกรรมลำไยอบแห้ง เพื่อสร้างเครื่องคัดคุณภาพลำไยอบแห้งแบบอัตโนมัติที่สามารถจำแนกคุณภาพและความเสียหายของลำไยอบแห้ง รายงานและวิเคราะห์การคัดคุณภาพจากเครื่องคัดลำไยอบแห้ง รวมถึงติดตาม ตรวจสอบการผลิตของเครื่องคัดลำไยแบบออนไลน์ “ปี 2563 ดีป้า จะยังคงสานต่อแนวคิด ‘ชุมชนคิด ชุมชนเลือก ชุมชนทำ เพื่อชุมชนยั่งยืน’ ผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจากเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพ และผู้ให้บริการดิจิทัล มากกว่า 200 ชุมชนทั่วประเทศพร้อมยกระดับชุมชนท้องถิ่นสู่ชุมชนดิจิทัล พัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้ และสร้างโอกาสทางอาชีพให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว-สำนักข่าวไทย.

ดีป้าเผยมูลค่าอุตฯดิจิทัลคอนเทนท์ไทยปี62แตะ3.1หมื่นล้านบาท

กรุงเทพฯ 10 พ.ย. ดีป้าเผยมูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ปี 2562 พุ่งแตะ 31,000 ล้านบาท ตลาดเกมกินส่วนแบ่งกว่า25,000 ล้านบาท ด้านอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าโตด้วย นางสาวกษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มยุทธศาสตร์และบริหาร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และสถาบันไอเอ็มซี กล่าวถึงผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และบิ๊กดาต้าปี 2561-2562 ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ไทยปี 2562 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11.51 คิดเป็นมูลค่าอุตสาหกรรม 31,080 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าปี 2561 ที่ 27,873 ล้านบาท และ 25,040 ล้านบาทในปี 2560  ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ไทยปีก่อนเติบโตมาจากตลาดเกมที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดที่ร้อยละ 15.96 คิดเป็นมูลค่า 25,440 ล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยหนุนมาจากการเปิดตัวเกมใหม่ของผู้ประกอบการไทย และคนไทยนิยมเล่นเกมไทยมากขึ้น ประกอบกับสมาร์ทโฟนรุ่นพื้นฐานมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและจูงใจต่อการเล่นเกม  ขณะที่ตลาดแอนิเมชันหดตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.53 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3,494 ล้านบาท เนื่องจากความนิยมของประชาชนที่เปลี่ยนจากการชมเพย์ทีวีและฟรีทีวีในประเทศไปเป็นสตรีมมิงต่างประเทศ ซึ่งสถิติรายได้จากบริการสตรีมมิงบางส่วนไม่ถูกรวมในการสำรวจ เช่นเดียวกับตลาดคาแรคเตอร์ที่หดตัวร้อยละ 2.32 มีมูลค่ารวม 2,146 ล้านบาท โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดคาแรคเตอร์มาจากความนิยมสติ๊กเกอร์ LINE ลดลง ขณะที่อัตราการจ้างงานจากต่างประเทศหดตัวลงเล็กน้อยต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ส่วนรายได้จากผู้จัดจำหน่าย ผู้นำเข้า และผู้ดูแลลิขสิทธิ์หดตัว เพราะผลพวงทางเศรษฐกิจและการบริโภคสินค้าที่มีแบรนด์คาแรคเตอร์ลดลง  ส่วนอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าไทยปี 2562 พบว่ามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8.64 คิดเป็นมูลค่า 13,177 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก12,129 ล้านบาทในปี 2561 โดยตลาดที่มีเม็ดเงินสะพัดมากที่สุดคือ ส่วนบริการ และส่วนซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ บุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ลดลง บุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ลดลงร้อยละ 12.04 เหลือ 5,021 คน จาก 5,708 คนในปี 2561 บุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ปี 2562 ลดลงร้อยละ 12.04 เหลือ 5,021 คน จาก 5,708 คน ในปี2561 เพราะรูปแบบการจ้างงานในปัจจุบันผู้ประกอบการนิยมเอาส์ซอร์สงานทดแทนการจ้างพนักงานประจำ เพื่อลดภาระต้นทุนคงที่  ด้านนายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี คาดการณ์ว่า ปี 2563 การให้บริการบนคลื่นความถี่ 5G และการใช้งานอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยและบิ๊กดาต้าเติบโตต่อเนื่อง โดยประเมินว่า ปี 2563 อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์จะขยายตัวขึ้นอีกร้อยละ 10.1 คิดเป็นมูลค่าอุตสาหกรรมรวม 34,229 ล้านบาท เป็นผลมาจากตลาดเกมที่มีอัตราการเติบโตสอดคล้องกับตลาดโลกที่มีผู้คนเล่นเกมมากขึ้นช่วงกักตัว ในทางกลับกัน วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จะส่งผลให้เกิดการชะลอการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชัน ทำให้ตลาดแอนิเมชันมีแนวโน้มจะหดตัวมาก เช่นเดียวกับความนิยมการบริโภคสติ๊กเกอร์ LINE ในตลาดคาแรคเตอร์เริ่มลดลง แต่ยังคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ไทยจะยังคงเติบโตต่อเนื่องอีก 2 ปี โดยมูลค่าอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 45,094 ล้านบาทในปี 2565 ส่วนอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าปี 2563 จะขยายตัวจากการเข้าสู่ยุคแห่งการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งทุกภาคส่วนเล็งเห็นประโยชน์ในการใช้บิ๊กดาต้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกให้ใช้บริการแบบเช่าใช้ ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจลงทุน การสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และบิ๊กดาต้า เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นผลงานที่ ดีป้า จัดทำต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 3 เพื่อเป็นข้อมูลบ่งชี้สถานภาพปัจจุบันของอุตสาหกรรม และข้อมูลคาดการณ์ที่บ่งชี้แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยในแต่ละปีโดย ดีป้า จะขยายขอบเขตการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลให้ครอบคลุมมิติอื่นเพื่อให้ผู้สนใจได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่ง ดีป้า กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา Digital Pulse ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทั้งดัชนีชี้วัดระดับสากล และฐานข้อมูลที่ ดีป้า สำรวจเองทั้งในฝั่งของผู้ประกอบการที่จะเป็นฐานข้อมูลและแนวโน้มอุตสาหกรรมดิจิทัลรวมถึงความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลที่สำรวจและนำเสนอผลรายไตรมาส ตลอดจนการสำรวจฝั่งผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมโดยในระยะแรกโฟกัสที่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการผลิตเป็นอันดับแรก และจะขยายผลไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่นและบริการต่อไปในอนาคตอันใกล้-สำนักข่าวไทย.

1 7 8 9 10 11 2,829
...