กรุงเทพฯ 12 พ.ย. ดีป้า จับมือ สวทช. ยกระดับผู้ประกอบการ หนุนออกแบบพัฒนาเทคโนโลยีสัญชาติไทย นำร่องอุปกรณ์ไอโอที-โดรนหวังแชร์ส่วนแบ่งตลาด
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต และการทำธุรกิจในทุกภาคเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทุกภาคส่วนจึงต้องปรับตัวรับกับความท้าทายและฉวยโอกาสใช้ความเปลี่ยนแปลงให้เกิดประโยชน์สูงสุด อุปกรณ์ IoT และ Drone เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบและพัฒนาอย่างรวดเร็วตามกระแสความนิยม แต่เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานอย่างชัดเจน การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยคำนึงถึงการใช้งานแต่ไม่ได้คำนึงถึงมาตรฐานอาจทำให้ผู้ใช้งานเกิดความเสี่ยง เช่น ผลิตภัณฑ์เสื่อมสภาพเร็ว ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือ ไม่สามารถทำงานร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว ดีป้าจึงได้ร่วมกับ สวทช. จัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ด้านมาตรฐาน และการทดสอบอากาศยานไร้คนขับ และ IoT ประกอบด้วยการถ่ายทอดความรู้ทั้งทางทฤษฎี และปฏิบัติ เพื่อยกระดับทักษะและเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน
“ดีป้าเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมและธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นสตาร์ทอัปและธุรกิจเอสเอ็มอี ที่พัฒนาเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) รวมถึงอุปกรณ์อัจฉริยะ ดีป้าจึงได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำมาตรฐานสำหรับอุปกรณ์ IoT ที่ผลิตโดยนักพัฒนาและผู้ประกอบการในประเทศ เช่น กล้องวงจรปิด อากาศยานไร้คนขับโดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานเป็นแนวทางให้ผู้ผลิตอุปกรณ์สามารถยกระดับการพัฒนาและการผลิตให้สามารถนำออกให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมั่นใจตามหลักมาตรฐานสากล และยังสามารถต่อยอดสู่การขอรับเครื่องหมาย dSure (ดีชัวร์) เพื่อผลักดันสู่ตลาดในประเทศต่อไป”นายณัฐพล กล่าว
ด้าน นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. ) กล่าวว่า สวทช. เชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศโดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศและSMEs ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง จึงวางนโยบายโดยใช้ยุทธศาสตร์ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสากลเป็นแนวคิดหลัก และนำเอาความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) ให้แก่ผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณภาพน่าเชื่อถือ มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ในช่วงเศรษฐกิจปัจจุบัน การลงทุนเพิ่มเติมเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากลเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากสำหรับภาคอุตสาหกรรมขนาดกลาง,เล็ก (SME) และ startup เพราะนั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ยิ่งหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐฯ การอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมในสภาวะเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบันยิ่งเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก สวทช. จึงวางบทบาทการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตใหญ่สำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนต่อไป
“เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในประเทศมากยิ่งขึ้น สวทช. มีการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ(National Quality Infrastructure: NQI) เพื่อให้ภาคเอกชนมีต้นทุนต่ำลงแต่มีมาตรฐานสูงขึ้น โดยนำองค์ความรู้ นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและ ห้องปฏิบัติการทดสอบที่มีอยู่มาใช้ในการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อก่อให้เกิดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้าและลดต้นทุน รวมถึงพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ในเวทีโลกได้ เพื่อรองรับ Disruptive technology ไม่ว่าจะเป็น Internet of Thing Smart Products และ โดรนเป็นต้น” นายณรงค์ กล่าว-สำนักข่าวไทย.