กรุงเทพฯ 19 ก.ค.– SCG จัดงาน “ESG Symposium 2022” เวทีความยั่งยืนระดับสากลเร่งกู้วิกฤติโลก เผย ภัยธรรมชาติเริ่มรุนแรงขึ้น ต้องเร่งสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ด้านเลขาธิการอาเซียน แนะเปลี่ยนทัศนคติการปล่อยก๊าซ เปลี่ยนรูปแบบการผลิตใหม่ ห่วงถูกกีดกันการค้า
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กล่าวในงาน“ESG Symposium 2022: Achieving ESG and Growing Sustainability เวทีความยั่งยืนระดับสากล ที่ SCG จัดขึ้นว่า ภายหลังการระบาดของโรคโควิด19 ที่ความรุนแรงเริ่มลดลง เรากำลังเผชิญวิกฤติเงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอยแต่เวลาเดียวกัน ปัญหาสำคัญคือภัยธรรมชาติที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง คลื่นความร้อน การรู้เท่าไม่ถึงการณ์จะไม่ใช่ข้ออ้างอีกต่อไป เพราะทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ ดังนั้นปีที่ผ่านมา จึงเห็นพัฒนาการความร่วมมือ ข้ามอุตสาหกรรมเดียวกัน และระหว่างภาครัฐกับเอกชน แต่ตนไม่แน่ใจว่าจะเพียงพอหรือไม่ “ESG Symposium” ในปีนี้ จึงรวบรวมความร่วมมือ การเสวนา ทั้งภายในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันและข้ามกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อประสานความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีและ วิจัย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดสังคมที่ลดการใช้คาร์บอนลง และสนับสนุนการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ยิ่งไปกว่านั้น คือความร่วมมือระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เพื่อหาแนวทางใหม่ๆนำไปสู่การพัฒนาโลกที่ยั่งยืน ซึ่งในท้ายที่สุดนอกจากความร่วมมือแล้ว จะต้องนำไปสู่การลงมือทำจริงๆในท้ายที่สุดด้วย
ด้านนายลิม จก โฮย เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนถูกบรรจุในวิสัยทัศน์อาเซียน 2025 เพื่อเน้นย้ำการปกป้องสิ่งแวดล้อม และรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและเทคโนโลยี โดยกลุ่มอาเซียนจะต้องเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซ์คาร์บอนไดออกไซด์ เพราะขณะนี้ทั่วโลกมีการตระหนักถึงการปล่อยก๊าซดังกล่าวมากขึ้น หากยังผลิตในรูปแบบเดิม อาจจะทำให้ถูกกีดดันทางการค้าได้ ดังนั้น ทิศทางต่อไป คือ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะใช้เงินลงทุนสูงมาก มีการคาดการณ์ว่าใน 10 ปีข้างหน้าภูมิภาคอาเซียนจะต้องใช้เงินลงทุนรวมแล้วประมาณ 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ.-สำนักข่าวไทย