กรุงเทพฯ 8 ก.ค.- กรมปศุสัตว์ แจงมีมาตรการพร้อมรับโรคปากและเท้าเปื่อย ขอเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ มั่นใจและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ยืนยันไม่กระทบส่งออกไปยังอินโดนีเซียในเทศกาลอีฎิ้ลอัดฮา ปีงบประมาณ 2565 ให้วัคซีนสัตว์กลุ่มเสี่ยงตามเป้าหมายแล้ว
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ช่วงนี้ใกล้ถึงเทศกาลอีฎิ้ลอัดฮาในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งตามประเพณีของชาวมุสลิมจะมีการเชือดสัตว์ เช่น โค แพะ แกะ อูฐ หรือทำกุรบาน เพื่อเอาเนื้อไปแจกคนยากจน ทำให้มีความต้องการโคจำนวนมากในช่วงเวลานี้ โดยไทยซึ่งเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญส่งออกโคไปยังประเทศอินโดนีเซีย ประกอบกับราคาโคในปีนี้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่เนื่องจากขณะนี้ประเทศอินโดนีเซียพบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในหลายจุดเพิ่มมากขึ้น ทำให้เพิ่มความเข้มงวดในมาตรการนำเข้าสัตว์ เพื่อลดโอกาสจากการนำสัตว์ที่ติดเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อยเข้าสู่ประเทศ สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคและกระบือ รวมถึงชาวมุสลิมของไทยมีความกังวล จึงขอย้ำให้มั่นใจว่า กรมปศุสัตว์มีมาตรการควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อย เพื่อลดอุบัติการณ์ และได้มีการดำเนินการมาอย่างเข้มงวดต่อเนื่องโดยตลอด จึงไม่กระทบต่อการส่งออกไปยังอินโดนีเซียแน่นอน
ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่พบการแพร่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยจนถึงในวงกว้าง เนื่องจากมีระบบเฝ้าระวังโรค สามารถตรวจจับโรคได้อย่างรวดเร็ว โดยมีเครือข่ายและอาสาปศุสัตว์ทั่วประเทศ มีระบบการแจ้งและรายงานโรคออนไลน์ผ่านระบบ E-Smart Surveillance มีการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยให้สัตว์กลุ่มเสี่ยง ซึ่งดำเนินการในโคนม ปีละ 3 ครั้ง และโคเนื้อ กระบือ แพะ แกะ ปีละ 2 ครั้ง โดยในปีงบประมาณ 2565 ดำเนินการได้ครบตามเป้าหมายแล้ว รวมจำนวนโค กระบือ แพะ แกะ ได้รับการฉีดแล้ว 5,468,945 ตัว
นอกจากนี้ มีการตั้งด่านเพื่อตรวจคัดกรองอาการสัตว์ที่เคลื่อนย้าย ชะลอการเคลื่อนย้ายสัตว์ในพื้นที่ที่มีการพบโรค เพื่อลดการแพร่กระจาย รวมถึงโคที่ส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าต่างๆ ต้องเป็นโคมาจากฟาร์มปลอดโรค ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย และกักสัตว์เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 21 วัน ก่อนการเคลื่อนย้าย การประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางป้องกันและควบคุมโรค ตลอดจนการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัย รณรงค์การทำลายเชื้อโรคจุดเสี่ยงต่างๆ เช่น ตลาดนัดค้าสัตว์ คอกกักสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ ศูนย์รับนมและสหกรณ์โคนม การประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อค้นหาสัตว์ป่วยและร่วมควบคุมโรค การเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัส เพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกใช้ seed วัคซีน
ส่วนการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน กรมปศุสัตว์กำลังพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของวัคซีนให้ดียิ่งขึ้น และส่งเสริมการป้องกันโรคเข้าฟาร์ม ให้ปรับระบบการเลี้ยงสัตว์ให้มีมาตรฐาน โดยการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์ (Good Agricultural Practice ; GAP) หรือการรับรองระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management ; GFM) รวมถึงการรับรองสถานภาพฟาร์มปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย การสร้างพื้นที่ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย จึงทำให้มั่นใจได้ว่า โค กระบือ แพะ แกะ ในประเทศไทย มีโอกาสน้อยมากที่จะนำเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
ขอความร่วมมือให้เกษตรกรดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด วอนอย่าตระหนก และหมั่นสังเกตอาการของสัตว์เป็นประจำ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยหรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที หรือแจ้งได้ที่ call center โทร. 063-225-6888 หรือที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย