กรุงเทพฯ 11 มี.ค.-อธิบดีกรมปศุสัตว์ ห่วงผลกระทบขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่จะเกิดขึ้นทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยการยกเลิกมาตรการจำกัดนำเข้าตามที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์เสนอ เป็นอำนาจ ก.พาณิชย์ พร้อมสนับสนุนให้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ภายในประเทศทดแทนส่วนที่ขาดจากการนำเข้า
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า จากปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนซึ่งทั้ง 2 ประเทศเป็นแหล่งส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญต่อประเทศไทย โดยเฉพาะข้าวสาลีสำหรับเลี้ยงสัตว์ ทำให้การส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์หยุดชะงักไป จนเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์และทำให้มีราคาสูงขึ้นอีก
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านคุณภาพและมาตรฐานอาหารสัตว์กังวลว่า จะเกิดผลกระทบทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ประกอบการด้านอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงสัตว์ และผู้บริโภค ตลอดจนกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่มีมูลค่าสูงมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี
จากข้อเสนอของผู้ประกอบการอาหารสัตว์ที่ให้ยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีโดยต้องซื้อข้าวโพดภายในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% และเปิดให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้กรอบ WTO AFTA ยกเลิกโควตา ภาษีและค่าธรรมเนียม ทั้งหมดนี้เป็นอำนาจในการพิจารณาของกระทรวงพาณิชย์โดยตรง ขณะที่กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านคุณภาพและมาตรฐานของอาหารสัตว์ภายใต้พ.ร.บ. ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวต่อว่า ขณะนี้จำเป็นต้องมีแนวทางที่รองรับสถานการณ์การขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ด้วยการหาแหล่งวัตถุดิบทดแทนซึ่งมีแหล่งที่มาจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งกรมปศุสัตว์พัฒนาและแนะนำสูตรอาหารสัตว์ที่มีวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศไทยเป็นทางเลือกเพื่อทดแทนการนำเข้าอยู่แล้วเช่น มันสำปะหลัง (มันเส้น กากมัน) ข้าว (ปลายข้าว ข้าวกล้อง ข้าวกระเทาะเปลือก) ข้าวโพด รำข้าว กากปาล์ม เป็นต้น แต่ต้องปรับปรุงสูตรอาหารอย่างเหมาะสมเนื่องจากวัตถุดิบบางชนิดมีข้อจำกัดในการใช้ผลิตอาหารสัตว์ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพสัตว์ ผลผลิต หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ได้ ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://nutrition.dld.go.th.-สำนักข่าวไทย