กรุงเทพฯ 15 ต.ค. – อธิบดีกรมชลประทานสั่งโครงการชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำมากเกินกว่า 80% ย้ำบริหารจัดการโดยลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำควบคู่กับตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทานสม่ำเสมอเพื่อให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนที่จะเพิ่มขึ้นจากพายุโซนร้อนกำลังแรง “คมปาซุ” ซึ่งล่าสุด แม้กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า พายุอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว แต่จะมีผลให้มีฝนตกเพิ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับช่วงนี้ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีกำลังแรงจึงทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่
นอกจากนี้ยังย้ำให้ปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพน้ำในเขื่อนเพื่อลดผลกระทบจากน้ำล้นอ่างเก็บน้ำท่วมพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ตามที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สั่งการไว้ โดยกอนช. ประเมินปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่คาดว่า จะได้รับอิทธิพลดังกล่าวจึงวันที่ 17 ต.ค. 64 ซึ่งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังเสี่ยงน้ำล้นมี 20 แห่ง ดังนี้
- ภาคเหนือ ได้แก่ อ่างฯแม่มอก อ่างฯแควน้อยบำรุงแดน อ่างฯทับเสลา
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อ่างฯอุบลรัตน์ อ่างฯจุฬาภรณ์ อ่างฯลำตะคอง อ่างฯลำพระเพลิง อ่างฯมูลบน อ่างฯลำแชะ อ่างฯลำนางรอง อ่างฯสิรินธร
- ภาคกลาง ได้แก่ อ่างฯป่าสักชลสิทธิ์ อ่างฯกระเสียว ภาคตะวันออก ได้แก่ อ่างฯขุนด่านปราการชล อ่างฯหนองปลาไหล อ่างฯนฤบดินทรจินดา
- ภาคตะวันตก ได้แก่ อ่างฯศรีนครินทร์ อ่างฯวชิราลงกรณ อ่างฯแก่งกระจาน อ่างฯปราณบุรี
นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มจนถึงวันที่ 20 ต.ค. ซึ่งกอนช. ประเมินและวิเคราะห์ว่า มีพื้นที่เสี่ยง ดังนี้
1. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแม่น้ำมูล ได้แก่
– จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอประโคนชัย อำเภอสตึก และอำเภอคูเมือง
– จังหวัดสุรินทร์ อำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม
– จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอเมืองศรีสะเกษ และอำเภอราษีไศล
2. ภาคกลาง
บริเวณแม่น้ำป่าสัก ได้แก่
– จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอท่าเรือ
– จังหวัดสระบุรี อำเภอเมืองสระบุรี
แม่น้ำลพบุรี ได้แก่
– จังหวัดลพบุรี อำเภอเมืองลพบุรี
แม่น้ำท่าจีน ได้แก่
– จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอสองพี่น้อง
3. ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด
4. ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี ภาคใต้ จังหวัดระนอง และพังงา
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่เพิ่มขึ้น โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงได้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศรวมทั้งสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงและพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ รวมถึงพิจารณาเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ เร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้ทันที อีกทั้งเน้นย้ำให้ทำการประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำ ล่วงหน้า ให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์.- สำนักข่าวไทย