22 ก.ค. – ขณะนี้จีนกำลังมีโครงการใหญ่บนที่ราบสูงทิเบต ที่เปรียบเป็นหอเก็บน้ำแห่งเอเชีย แต่เสี่ยงเป็นชนวนความขัดแย้งใหม่กับเพื่อนบ้าน
จีนกำลังเริ่มต้นโครงการใหญ่ที่เรียกว่า โครงการแห่งศตวรรษ เป็นเขื่อนยักษ์ที่จะแซงหน้าเขื่อนสามผาของจีนเอง ผลิตไฟฟ้ามากกว่า 3 เท่า แต่ยังไม่เริ่มสร้างก็กลายเป็นจุดขัดแย้งกับชนพื้นเมืองในท้องถิ่นและประเทศท้ายน้ำอย่างอินเดียและบังกลาเทศ
บนลำน้ำสายใหญ่ในดินแดนหลังคาโลก กำลังเป็นที่ตั้งของสิ่งก่อสร้างมหึมา พิธีวางศิลาฤกษ์เขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในชื่อโครงการ “เขื่อนพลังน้ำเม่อตั๋ว”
นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ประกาศเริ่มต้นการก่อสร้างโครงการด้วยงบประมาณราว 1.2 ล้านล้านหยวน หรือ 5.5 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยสถานีผลิตกระแสไฟฟ้า 5 แห่ง บนลำน้ำยาร์ลุงซางโป กระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่จะส่งไปป้อนความต้องการนอกพื้นที่เป็นหลัก ตามนโยบาย “ซีเตี้ยนตงซ่ง หรือการส่งพลังงานไฟฟ้าจากตะวันตกไปทางตะวันออก” ของผู้นำจีน จีนซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่ที่สุดของโลก หวังให้โครงการนี้เพิ่มพลังงานสะอาด นำไปสู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์
เช่นเดียวกับแม่น้ำระหว่างประเทศ อย่างแม่น้ำโขง การสร้างเขื่อนมาควบคุมกระแสน้ำมีผลทางเศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศอย่างแน่นอน แม่น้ำยาร์ลุงซางโป คือแม่น้ำสายเดียวกับแม่น้ำพรหมบุตรในอินเดีย และยมุนาในบังกลาเทศ ที่ประชากร 1,800 ล้านคน พึ่งพาสายน้ำนี้
นายเปมา คานดู มุขมนตรีรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดีย กล่าวไว้ว่า เขื่อนใหม่นี้อาจทำให้แม่น้ำพรหมบุตรแห้งเหือดลง คุกคามการดำรงอยู่และวิถีชีวิต เขาเปรียบว่าจีนสามารถใช้เขื่อนนี้สร้างระเบิดน้ำ
เมื่อต้นปีนี้รัฐบาลอินเดียและบังกลาเทศได้ส่งสารแสดงความกังวลไปยังจีน เรียกร้องให้รับประกันว่าจะไม่ทำลายผลประโยชน์ ให้เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และให้ปรึกษาหารือกัน
นักการเมืองทั้งสองประเทศต่างกังวลใจต่อความเสี่ยงภัยธรรมชาติ และผลที่จะเกิดกับเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำด้านชลประทานและการประมง
รัฐบาลจีนโดยกระทรวงต่างประเทศของจีน ยืนยันว่าจีน “มีสิทธิโดยชอบธรรม” ในการสร้างเขื่อน และได้พิจารณาถึงผลกระทบต่อประเทศปลายน้ำแล้ว
สำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างเตือนว่าเขื่อนใหม่นี้จะทำให้จีนสามารถกำหนดการเบี่ยงทางน้ำหรือควบคุมแม่น้ำยาร์ลุงซางโป ส่งผลให้เศรษฐกิจของอินเดียกลายเป็นลูกไก่ในกำมือของจีนนำไปสู่การเปรียบเทียบกับประสบการณ์ประเทศไทยและเพื่อนบ้าน กับกรณีเขื่อนสามผา เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน ซึ่งตั้งแต่ใช้งานเต็มรูปแบบมาตั้งแต่ปี 2552 ได้ก่อให้เกิดผลร้ายมากมายต่อประเทศท้ายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ภัยธรรมชาติ แต่โครงการใหม่นี้ใหญ่มากกว่า ผลิตไฟฟ้าได้ถึง 3 แสนล้านกิโลวัตต์ และเสี่ยงที่เกิดผลกระทบด้านภูมิรัฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมร้ายแรงยิ่งกว่า
สำหรับชาวทิเบตบูชาแม่น้ำแห่งนี้ว่าเป็นสายน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่บ่มเพาะอารยธรรม เขื่อนใหม่นี้จะเป็นอีกครั้งที่พวกเขาถูกกดขี่ เพราะจะต้องมีสถานที่สำคัญทางศาสนาและชุมชนของพวกเขาที่ต้องถูกทำลายไป ที่ผ่านมาเคยชุมนุมประท้วการสร้างเขื่อนจนถูกปราบปรามและจับกุมไปหลายร้อยคน เกรงกันอย่างหนักว่าผลระทบด้านสิ่งแวดล้อมของหุบเขาในทิเบตด้วยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงความเสี่ยงจากรอยเลื่อนแผ่นดินไหวในพื้นที่ที่อาจเกิดหายนะภัยครั้งใหญ่ตามมาได้.-สำนักข่าวไทย