กรุงเทพฯ 25 ก.ย.-ประกาศฉบับที่ 14 เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำ เตือนพื้นที่ลุ่มต่ำ 4 จังหวัด ท้ายน้ำ พร้อมรับมือ
จากการคาดหมายของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 24 – 25 กันยายน 2564 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังจาก พายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 26 – 30 กันยายน 2564
ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน ทั้งนี้ อิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบน โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง มีฝนเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลให้มีน้ำหลาก จากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ในอัตราเพิ่มมากขึ้น อย่างต่อเนื่อง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินปริมาณฝนที่ตกสะสมในพื้นที่ตอนบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสูงสุด บริเวณสถานี C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 2,400 – 2,500ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ว่าแม่น้ำสะแกกรัง จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ Ct.19 จังหวัดอุทัยธานี อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้ กอนช. มอบหมายให้กรมชลประทานบริหารจัดการชะลอน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาร่วมกับการตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้งสองฝั่งและพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้จะมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.30 – 1.00 เมตร ในช่วงวันที่ 27 – 30 กันยายน 2564 ดังนี้
- จังหวัดชัยนาท ตำบลโพนางดำ อำเภอสรรพยา
- จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอพรหมบุรี อำเภอเมือง และวัดเสือข้าม ตำบลประศุก วัดสิงห์ ตำบลทับยา อำเภออินทร์บุรี
- จังหวัดอ่างทอง คลองโผงเผง วัดไชโย ตำบลไชโย อำเภอไชโย และอำเภอป่าโมก
- จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คลองบางบาล ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
- ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่จุดเสี่ยงและพื้นที่ที่ยังคงสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่ แจ้งเตือนจังหวัดในพื้นที่ท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและ แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งผู้ประกอบกิจการ ในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองโผงเผง และคลองบางบาล
- ปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยและให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
- เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที.-สำนักข่าวไทย