นนทบุรี 13 ก.ค. – สนค. วิเคราะห์ตลาดผลไม้ชมพู่ไทยมีโอกาสเจาะตลาดส่งออกในตลาดประเทศได้สูง แนะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ชมพู่พันธุ์ต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการบริโภค ส่วนเกษตรกรต้องเร่งพัฒนาคุณภาพพร้อมแปรรูปเพื่อให้ชมพู่ไทยอยู่ได้นานขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างอำนาจต่อรอง และขายผลผลิตผ่านออนไลน์ ด้านรัฐต้องส่งเสริมแหล่งเพาะปลูก เป็นแหล่งท่องเที่ยวควบคู่
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตและการทำตลาด “ชมพู่” ของไทยในด้านการยกระดับรายได้เกษตรกร และแนวทางการส่งเสริมการค้าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยพบว่า ปัจจุบันไทยมีสายพันธุ์ที่นิยมเพาะปลูกและมีผลผลิตมาก ได้แก่ ชมพู่ทับทิมจันทร์ ชมพู่ทูลเกล้า ชมพู่เพชรสุวรรณ และชมพู่เพชร เป็นต้น มีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี เป็นต้น โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรผู้ปลูกชมพู่ 4,573 ครัวเรือน มีพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 26,273 ไร่ มีปริมาณผลผลิต 48,579 ตัน
ทั้งนี้ ในด้านการทำตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ยังเป็นการจำหน่ายในประเทศ มีการส่งออกไปต่างประเทศในปริมาณไม่มากนัก เมื่อเทียบกับผลไม้ส่งออกชนิดอื่น เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด เนื่องจากชมพู่ยังผลิตได้ไม่มากและการขนส่งที่ยาก เพราะเป็นผลไม้ที่เสียหายได้ง่ายในขั้นตอนการขนส่ง และยังไม่มีการแปรรูปเพื่อการส่งออก โดยในปี 2563 มีการส่งออก จำนวน 659.21 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.72 มีมูลค่า 739,348 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.47 โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง เวียดนาม อินโดนีเซีย จีน และลาว เป็นต้น
ทั้งนี้ แนวทางการส่งเสริมและเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับชมพู่ของไทย จะต้องสร้างตลาดให้ผู้บริโภครู้จักชมพู่แต่ละสายพันธุ์ เพื่อกระตุ้นการบริโภคเพื่อให้ประชาชนหรือผู้บริโภคทราบถึงความพิเศษและความเป็นมาของสินค้า ได้แก่ ชมพู่ทับทิมจันทร์ ชมพู่ทูลเกล้า ชมพู่เพชรสุวรรณ นอกจากนี้ยังมี ชมพู่เพชร ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อีกด้วย ขณะเดียวกันด้านการผลิตเกษตรกรจะต้องเพิ่มการผลิตและพัฒนาคุณภาพของผลไม้ชมพู่ เพื่อเพิ่มปริมาณและมูลค่าการส่งออก เช่น มีมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (การรับรอง Organic Thailand) , สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM Basic Standards) , มาตรฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป รวมทั้งต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น เยลลี่ชมพู่ แยมชมพู่ ชมพู่อบแห้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ เกษตรกรควรมีการรวมกลุ่มผู้ปลูกชมพู่ ในรูปแบบสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และยังต้องส่งเสริมให้มีการวางแผนการผลิต โดยใช้ตลาดนำการผลิต เพื่อลดปัญหาชมพู่ล้นตลาดหรือราคาตกต่ำในอนาคต รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่วยสินค้าในช่องทางออนไลน์ผ่านทางแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยปัจจุบันมีสวนชมพู่หลายแห่งเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน และมีหลายแห่งในจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และ นครปฐม ที่ได้ผลักดันให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและจุดการเรียนรู้เชิงเกษตร ซึ่งได้ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชนเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย