ทำเนียบฯ 8 เม.ย. – สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พร้อมตัวแทนผู้เลี้ยงสุกรยื่นข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง-พาณิชย์-เกษตรฯ แก้ปัญหาการกดดันทางการค้าจากสหรัฐฯ โดยให้หันมานำเข้าข้าวโพดและกากถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ระบุการนำเข้าทดแทนส่วนขาดในประเทศจะลดการเกินดุลอย่างมีนัยสำคัญ หวังสหรัฐฯ ผ่อนคลายภาษีนำเข้าต่างตอบแทนกลับมาในอัตราระดับเดิม
นายสิทธพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า นำผู้แทนผู้เลี้ยงสุกรมายื่นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลให้เปลี่ยนมานำเข้าพืชอาหารสัตว์ที่มีแหล่งกำเนิดจากสหรัฐฯ มากขึ้น เป็นการทดแทนส่วนขาดในประเทศไทยเนื่องจากกลุ่มการเลี้ยงสุกรและปศุสัตว์ไทยเติบโตเร็วจนการผลิตพืชอาหารสัตว์ในประเทศตามไม่ทัน ทั้งข้าวโพด กากถั่วเหลือง รวมถึง DDGS (Distillers Dried Grains) ล้วนเป็นสินค้าที่ไทยมีความต้องการใช้สูง แต่ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอในประเทศ
ทั้งนี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติร่วมกับสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำฯ ประเมินว่า การปรับเปลี่ยนดังกล่าว จะสามารถเพิ่มมูลค่าทางการค้าให้กับสหรัฐฯ ในการส่งสินค้ามายังประเทศไทยได้เป็นจำนวนถึง 84,000 ล้านบาท หรือ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ขอให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาแนวทางดังกล่าว พร้อมขอให้รัฐบาลละเว้นการพิจารณาที่จะนำเข้าสินค้าสุกร ทั้งเนื้อสุกรและเครื่องในเข้ามายังประเทศไทยเพราะจะสร้างปัญหาให้กับผู้เลี้ยงสุกรของไทย ตลอดจนห่วงโซ่อุปทาน หลังจากเผชิญปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในช่วงปี 2563-2565 และปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าสุกรอย่างมากในช่วงปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็น 2 วิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมสุกรไทย
ทั้งนี้ สินค้าสุกรของประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมอาหารโปรตีนหลักของประเทศ ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ตั้งแต่รองรับพืชผลทางการเกษตรวัตถุดิบอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์สุกร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างมากมาย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อปีทั้งระบบกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี. -512-สำนักข่าวไทย