กรุงเทพฯ 21 มิ.ย.-สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน (สำนักงาน กกพ.) รอ ปตท.เสนอขออนุญาตขายก๊าซในนิคมฯ หลัง บอร์ด ปตท. เห็นชอบ ตั้ง บริษัท ร่วททุน ขายก๊าซในนิคมฯ ปิ่นทอง และยังขยายเพิ่มเงินลงทุนปี 64 อีก 1.45 หมื่นล้านบาท
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนำงานคณะกรรมการกำกิบกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. ประเมินว่า ความต้องการก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากโรงงานต่างๆมีการพิจารณาเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากน้ำมันเตาเป็นก๊าซฯ เพื่อนำมาผลิตไอน้ำ ทั้งรูปแบบ ผลิตเอง หรือซื้อจากโรงไฟฟ้า เอสพีพี ต่างๆ โดยปัจจัยจะเลือกสิ่งใดนั้น ขึ้นอยู่กับสุดท้ายแล้วต้นทุนจะเป็นเช่นใด โดย กรณีที่ บมจ.ปตท.มีแผนทั้งการจัดตั้ง บริษัทลูกเพื่อนำเข้าแอลเอ็นจีตามแผนเปิดเสรี และการร่วมทุนเพื่อนจำหน่ายก๊าซฯในนิคมฯอุตสาหกรรมปิ่นทองนั้น ก็คงจะมาจากการพิจารณาถึงความต้องการใช้ก๊าซฯที่เพิ่มขึ้น
“ในขณะนี้ ทาง ปตท.ยังไม่ได้ขออนุญาตจำหน่ายก๊าซฯในนิคมฯปิ่นทอง ซี่งก็ต้องมาเสนอทาง สำนักงาน กกพ. จารณา ความคุ้มค่าก็จะอยู่ที่ ลูกค้ามากน้อยเพียงใด ราคาจูงใจหรือไม่ ส่วน กรณีการขออนุญาตนำเข้าแอลเอ็นจีตามแนวทางการเปิดเสรี ล่าสุด ทาง บอร์ด กกพ.ได้ให้ใบอนุญาตแก่เอ็กโก้ กรุ๊ป ส่วนของ กลุ่มเอสซีจี และบริษัทลูกของ ปตท. คือ บริษัท พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี จำกัด (PTTGL) ยังไม่ได้ อนุมัติ โดยขอให้มีการส่งข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ลูกค้า คือ ใคร และ สัญญาจะต้องไม่ทับซ้อนกับของ ปตท.เดิมที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม การอนุมัตินำเข้า ก็ขึ้นอยู่กับ หลักเกณฑ์ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่จะต้องออกมาเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ที่ ปริมาณของผู้นำเข้าจะต้องเกิดปัญหาเทคออร์เพย์ “นายคมกฤช กล่าว
ก่อนหน้านี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท.เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2564 มีมติทบทวนแผนการลงทุนของ ปตท.และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% และอนุมัติให้ปรับปรุงเงินลงทุนสำหรับปี 2564 จาก 52,931 ล้านบาทเป็น 67,504 ล้านบาท ส่วนใหญ่ เกิดจากการเปลี่ยนแปลง การลงทุนของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรม สืบเนื่องจากการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในธุรกิจไฟฟ้าที่ผ่านมาและการปรับแผนลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ขณะที่การลงทุนโครงการอื่นๆ ยังคงดำเนินการตามแผนการลงทุนเดิม เช่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 รวมทั้งการลงทุนผ่านบริษัทที่ปตท.ถือหุ้นร้อยละ 100 เช่น การขยายขีดความสามารถของสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวแอลเอ็นจี แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รวมถึงโครงการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร การลงทุนธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science : ธุรกิจยา Nutrition และอุปกรณ์การแพทย์)
นอกจากนี้ บอร์ด ปตท. ยังอนุมัติให้บริษัท สยาม แมนเนจเม้นท์โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) (บริษัทย่อยของ ปตท. ซึ่ง ปตท.ถือหุ้น 100%) จัดตั้งบริษัท ปิ่นทอง เนเชอรัลก๊าซ รีเทลล์ จำกัด (PINTHONG NGR) ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับบริษัทในกลุ่มของ บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด(มหาชน) ด้วยทุนจดทะเบียนไม่เกิน 282 ล้านบาท โดยบริษัท SMH และบริษัทในกลุ่มของบริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค ถือหุ้นในสัดส่วนที่ 70:30 ตามลำดับ ในการดำเนินธุรกิจค้าปลีกก๊าซธรรมชาติผ่านระบบท่อขนส่งและจำหน่ายก๊าซฯ รวมทั้งให้บริการ Energy Solution Provider กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 5 จังหวัดชลบุรี เพื่อสนับสนุนและรองรับการลงทุนของลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้มีการใช้พลังงานได้อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ คาดว่าจะสามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3/2564 และดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 3/2566. -สำนักข่าวไทย