แพ้ถั่วอาการเป็นอย่างไร อันตรายแค่ไหน คนแพ้ถั่วจะต้องป้องกันอย่างไร ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.ดร.ชมดาว สินธุวณิชย์ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การแพ้ถั่ว (Nut Allergy) เป็นอาการในกลุ่มแพ้อาหารชนิดหนึ่ง พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองกับโปรตีนในถั่ว จึงทำให้เกิดอาการแพ้ แต่การแพ้โปรตีนถั่วเกิดขึ้นเฉพาะบุคคลเท่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน และในบรรดาถั่วที่แพ้กันโดดเด่น ได้แก่ ถั่วลิสง ถั่วเปลือกแข็ง และถั่วเหลือง
อาการแพ้ถั่วที่พบได้บ่อยก็คือ มีอาการคันในช่องปาก ปากบวม น้ำตาไหล บางคนอาจมีอาการหายใจติดขัด แต่อาการจะหายไปในระยะเวลาไม่นาน
ในคนที่มีอาการแพ้ถั่วอย่างรุนแรงจะมีอาการอะนาไฟแล็กซิส (Anaphylaxis) คือมีปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่รุนแรงอย่างเฉียบพลัน เมื่อร่างกายได้รับสารกระตุ้นจากโปรตีนถั่ว จะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้ช็อกและร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น เพิ่งจะได้รับโปรตีนถั่วไม่นานก็มีอาการหลอดลมตีบ หายใจติดขัด ถ้านำส่งสถานพยาบาลไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ หรือไม่ได้รับการฉีดยาที่เกี่ยวข้องที่ใช้รักษาอาการแพ้รุนแรง
กินถั่วดิบ กินถั่วผ่านความร้อน ถั่วชนิดไหนส่งผลกับร่างกายมากกว่ากัน ?
คนที่แพ้โปรตีนถั่วจะต้องสังเกตความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่าเมื่อกินถั่วดิบ และ/หรือ กินถั่วผ่านความร้อน อาการแพ้ที่เกิดขึ้นรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
มีการศึกษาพบว่าถั่วที่นำไปคั่วด้วยความร้อนจะทำให้เกิดอาการแพ้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เกิดอาการรุนแรงกับทุกคน
ในคนบางกลุ่มที่แพ้ถั่วผ่านความร้อน เนื่องจากการให้ความร้อนกับถั่วจะส่งผลกับโปรตีนในถั่ว
เคยมีการศึกษาพบว่าการให้ความร้อนสูงด้วยการคั่วและทอด จะมีผลต่อโปรตีนในถั่วมากกว่าการต้มและการนึ่ง ทั้งนี้แต่ละคนมีอาการตอบสนองไม่เหมือนกัน
“แพ้ถั่ว” ป้องกันและรักษา ได้หรือไม่ ?
แพ้ถั่วสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ไม่ใช่ทุกคน
การรักษาที่พบในต่างประเทศก็คือให้ผงถั่วปริมาณน้อย ๆ ภายใต้การควบคุมของแพทย์ วิธีนี้ใช้ระยะเวลานาน มีคนหายจากการแพ้ถั่วได้ แต่บางคนก็ใช้วิธีนี้ไม่ได้ผล
ที่สำคัญก็คือ การแพ้ถั่วป้องกันไม่ได้ เพราะว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความไวตอบสนองโปรตีนในถั่ว โดยระบบภูมิคุ้มกันคิดว่าโปรตีนถั่วเป็นอันตรายต่อร่างกายจะต้องกำจัดออกไป ทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร และถ้าเกิดอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้
เนื่องจากแพ้ถั่วสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต (วัยเด็ก) หรืออาจเกิดขึ้นระยะหลังก็ได้ (วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่) โดยไม่รู้เลยว่าจะเกิดขึ้น
ปัจจุบันมีการทำนายเรื่องแพ้ถั่วจากการศึกษาทางยีน (DNA) แต่ผลที่ได้ยังไม่สามารถทำนายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นการทำนายความเสี่ยงเท่านั้น
“อันตราย” จากการแพ้ถั่ว
การแพ้ถั่วแต่ละชนิดมีความรุนแรงแตกต่างกัน
ถั่วลิสง ในคนที่แพ้ถั่วลิสงมากถ้ามีความรุนแรงก็ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งมักพบได้ในเด็กที่มีภูมิไวเกิน
ถั่วเหลือง เป็นถั่วที่ทำให้เกิดความรุนแรงน้อย ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่จะเกิดความรำคาญและคุณภาพชีวิตค่อนข้างแย่ เพราะถั่วเหลืองเป็นองค์ประกอบในอาหารหลายชนิด (ซอส เครื่องปรุงต่าง ๆ)
อาหารบางอย่าง บางครั้งก็ไม่รู้ว่ามีถั่วเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย ผู้ประกอบการร้านอาหารจะต้องแจ้งผู้บริโภคทุกครั้ง
ดังนั้น คนที่เคยมีอาการแพ้ถั่วอย่างรุนแรงควรพกยาอีพิเพ็น (EpiPen) ติดตัวไว้ฉีดเวลาฉุกเฉินเพื่อลดอาการแพ้รุนแรงก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาล
อีพิเพ็น (EpiPen) คืออุปกรณ์บรรจุยาแก้แพ้อีพิเนฟรีน (Epinephrine) ในกระบอกฉีดคล้ายปากกา ใช้สำหรับฉีดเข้าร่างกายในกรณีฉุกเฉิน
อ่านฉลากอาหารด้วยความเข้าใจ ปลอดภัยจากการแพ้ถั่ว ?
คนที่แพ้ถั่วถ้าต้องการกินอาหารสำเร็จรูป ก่อนอื่นควรจะต้องอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ให้แน่ใจว่าไม่มีถั่วที่ตัวเองแพ้เป็นส่วนประกอบ
สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 ในการกำกับดูแลการแสดงฉลากและการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคภายในประเทศ คือการแสดงข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร หากมีการใช้หรืออาจปนเปื้อนในกระบวนการผลิตของส่วนประกอบ ได้แก่
1.ธัญพืชที่มีส่วนประกอบของกลูเตน เช่น ข้าวสาลี บาร์เลย์ เป็นต้น
2.ถั่วลิสงและผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง
3.ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง
4.ถั่วที่มีเปลือกแข็งและผลิตภัณฑ์จากถั่วที่มีเปลือกแข็ง
ผู้ประกอบการจะต้องแสดงข้อความ “ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร : มี… (ระบุชื่อสารก่อภูมิแพ้หรือสารที่ก่อภาวะภูมิไวเกิน)..”
นอกจากนี้ การกินอาหารนอกบ้านตามร้านอาหารทั่วไป และควรบอกคนทำอาหารด้วยว่า “แพ้ถั่ว” ชนิดใดบ้าง จะได้ระมัดระวังการปนเปื้อนถั่วชนิดต่าง ๆ และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เขียนและเรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : อาการแพ้ถั่ว
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter