กกพ.ดัน “ไฟฟ้าสะอาด” เต็มรูปแบบก่อนสิ้นปี-เดินหน้าเปิดเสรีก๊าซระยะ 2

16 ก.พ. – กกพ. กางแผนปี 68 ดัน “ไฟฟ้าสะอาด” เต็มรูปแบบเสร็จก่อนสิ้นปี เดินหน้าเปิดเสรีก๊าซระยะ 2 ต่อเนื่อง ย้ำทุกอย่างต้องไม่กระทบค่าไฟประชาชน โอดยุคเปลี่ยนผ่านพลังงานกำกับฯ ยาก


ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. อยู่ระหว่างการพัฒนาและปรับปรุงกฎระเบียบและโครงสร้างพื้นฐานด้านการกำกับกิจการพลังงานของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการรักษาสมดุลในภาคพลังงานคู่ขนานกับการเพิ่มการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติ รองรับการเปิดเสรีในอนาคต เพื่อให้เปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่นและยั่งยืนในระยะยาว โดยในปี 2568 จะมุ่งดำเนินการใน 4 ประเด็นหลักประกอบด้วย

1.การผลักดันการสร้างตลาดกลาง (Market Place) เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสีเขียว สนับสนุนการซื้อขายพลังงานสีเขียว ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณความต้องการพลังงานสีเขียวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามทิศทางพลังงานสากล
2.การเตรียมความพร้อมด้านกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการกำกับดูแลและสร้างความคล่องตัวในกระบวนการรับรองไฟฟ้าสีเขียว
3.การสร้างความร่วมมือและการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อให้พลังงานความมั่นคงและเอื้อต่อการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของประเทศ เชื่อมโยงกับสากลได้
4.การเป็นกลไกกำกับกิจการพลังงานที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้านพลังงานได้อย่างรวดเร็ว รองรับได้ทั้งรูปแบบพลังงานใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงรองรับปริมาณความต้องการพลังงานในอนาคตของผู้ใช้พลังงาน


“เป็นที่ทราบกันดีว่าเราอยู่ในเทรนด์ของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากพลังงานดั้งเดิมไปสู่พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดเปลี่ยนเร็วมาก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสุดท้ายคือ ให้พลังงานสะอาดเข้ามาทดแทนพลังงานดั้งเดิมได้ทั้งหมด และต้องตอบโจทย์ของการทำให้เกิดความมั่นคงและความมีเสถียรภาพให้ได้ ตนมองว่าวันนี้เทคโนโลยีไปถึงเป้าหมายแล้ว แต่ราคายังไม่สามารถไปถึงเป้าหมาย เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนบางอย่าง เช่น แสงแดดและลมถูกลงเรื่อยๆ แต่บางชนิดก็ยังแพง เช่น ไฮโดรเจนสีเขียว หรือเรียกสั้นๆ ว่า กรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen) และเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน ยังแพงอยู่มากสำหรับประเทศไทย จึงเป็นข้อจำกัดที่ยังไม่สามารถนำเอาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน หรือระบบกักเก็บพลังงานใหม่ๆ เข้ามาสู่ระบบได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่สามารถผลักภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นให้กับประชาชนได้ทั้งหมดในทันที” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว

ในขณะที่อีกด้านหนึ่งประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาระดับเดียวกันกับเราหลายประเทศต่างเผชิญกับกระแสของการกดดันและกีดกันการใช้พลังงานฟอสซิลจากกลุ่มประเทศผู้นำเศรษฐกิจของโลกที่มีความจำเป็นต้องเอาตัวรอดจากมาตรการกีดกันทางการค้าด้วยภาษี อย่างเช่น มาตรการการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) และคาดว่าจะมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีใหม่ๆ ทยอยประกาศใช้ตามมาอย่างเข้มข้นมากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากความตกลงของประเทศมหาอำนาจที่ไม่เป็นไปในทิศเดียวกัน นอกจากนี้ความจำเป็นที่ต้องพัฒนาและมีแหล่งพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่องในระดับราคาและเงื่อนไขที่ดีกว่าประเทศคู่แข่งขัน เพื่อเป็นการจูงใจสนับสนุนให้เกิดการขยายการลงทุนให้กับธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่เพื่อสร้างโอกาสให้กับภาคเศรษฐกิจของประเทศในอีกด้านหนึ่งด้วย

สำนักงาน กกพ. จึงวางกรอบแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไปภายใต้หลักการ แยกโครงสร้างต้นทุนส่วนที่เพิ่มขึ้นออกมา กำกับวิธีการคำนวณ รูปแบบการเรียกเก็บค่าบริการ ภายใต้เพดานที่เหมาะสมอย่างโปร่งใส เป็นธรรม โดยต้องไม่กระทบต่อค่าไฟเฉลี่ยโดยรวมที่เรียกเก็บกับประชาชน ส่วนค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติมต้องเป็นภาระของผู้ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสะอาดเป็นหลัก กำกับดูแลผู้ประกอบการรับอนุญาตตั้งแต่ต้นทาง เริ่มตั้งแต่วิธีคิดคำนวณต้นทุนมีเพดานที่เหมาะสม แยกแยะประเภทค่าบริการ และวิธีการเรียกเก็บอัตราค่าบริการส่วนเพิ่มให้เหมาะสม ดูแลการแข่งขันให้เกิดความเหมาะสมเพื่อผู้ใช้พลังงานได้ประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขัน และอัตราค่าบริการต้องหนุนเสริมภาคเศรษฐกิจการค้า การลงทุน ของประเทศเป็นสำคัญ


สำหรับแผนงานในปี 2568 ประกอบด้วย

  1. การเริ่มให้บริการ-ไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff1 : UGT1) ในเดือนเมษายน 2568 ซึ่ง กฟผ. กฟน. และ กฟภ. จัดเตรียม UGT1 ไว้รองรับความต้องการเป็นปริมาณรวมประมาณ 2,000 ล้านหน่วยต่อปี สำหรับการเปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าเจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff2 : UGT2) ที่รองรับความต้องการเป็นปริมาณรวมประมาณ 8,000 ล้านหน่วยต่อปี จะเริ่มเปิดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าลงทะเบียนสมัครใช้บริการภายในเดือนมิถุนายน 2568 รวมถึงการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการรับรองแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นสะพานไปสู่การพัฒนาตลาดไฟฟ้าสีเขียวและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในอนาคต

2.กำกับกิจการไฟฟ้าตามนโยบายโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Direct Power Purchase Agreement : Direct PPA ได้แก่ จัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการการใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม และการกำกับติดตามการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA Code) ตามนโยบาย Direct PPA ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เพื่อกำหนดกรอบการดำเนินการร่วมกันตามมติ กพช. ซึ่งในส่วนงานที่สำนักงาน กกพ. รับผิดชอบ คาดว่าแล้วเสร็จภายในกันยายน 2568

3.กำกับกิจการก๊าซธรรมชาติตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 โดยจัดทำแนวทางการบริหารการใช้ LNG Terminal แบบเสมือน (Virtual Inventory) และเสนอต่อภาคนโยบายภายในเดือนกันยายน 2568 เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการใช้งาน LNG Terminal ร่วมกันระหว่างผู้ใช้บริการหลายราย ตลอดจนจัดทำระบบข้อมูลราคาก๊าซ (Pool Gas) ทั้งประมาณการราคา และราคา Pool Gas จริง เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาต ผู้ใช้พลังงาน สามารถเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ในมิติของความมั่นคงทางพลังงาน ภายหลังจากที่ กกพ. มีการออกระเบียบ กกพ. ว่าด้วยมาตรฐานวิศวกรรมและความปลอดภัยในการประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567 ก็จะมีการกำกับผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติ ให้ดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดภายในปี 2568

4.ดำเนินการพัฒนากลไกการกำกับกิจการพลังงานเพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีพลิกโฉม (Disruptive Technology) โดยดำเนินการศึกษารูปแบบการดำเนินการสำหรับ Disruptive Technology ต่างๆ ในต่างประเทศ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้สำหรับประเทศไทย ได้แก่ การตอบสนองด้านโหลด (Demand Response), Microgrid, RE Forecast, Aggregator, Battery Storage และ EV และจัดทำข้อกำหนดหรือปรับปรุงแก้ไขระเบียบหรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องรองรับ Disruptive Technology ต่างๆ รวมถึงจัดทำคู่มือการกำกับกิจการพลังงานรองรับ Disruptive Technology ตามแผนการขับเคลื่อน Smart Grid คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในกันยายน 2568.-517-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

พยาบาลถูกตบ

“สมศักดิ์” พร้อมช่วยคดี “พยาบาลสาว” ถูกญาติผู้ป่วยตบหน้า

“สมศักดิ์” รมว.สธ. พร้อมสนับสนุนหา “ทนายความ” ช่วยคดี “พยาบาลสาว” ถูกญาติผู้ป่วยตบหน้า บอกหากเจ้าตัวไม่ดำเนินคดี กระทรวงฯ พร้อมออกโรงแทน หวั่นเป็นเยี่ยงอย่าง

รพ.ระยอง ยันดำเนินคดีถึงที่สุดญาติคนไข้ตบพยาบาล

โรงพยาบาลระยอง แถลงปมญาติคนไข้ตบหน้าพยาบาล เผยหลังเกิดเหตุได้ดูแลอาการบาดเจ็บของพยาบาลผู้ประสบเหตุทันที ยืนยันดำเนินคดีถึงที่สุด

ข่าวแนะนำ

“หลิว จงอี” ถึงกลาโหม เสนอ 4 ข้อปราบแก๊งคอลฯ

“หลิว จงอี” ถึงกลาโหม เตรียมเสนอ 4 มาตรการปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ “บิ๊กอ้วน” คณะทูตจีนรอต้อนรับ ขณะเจ้าตัวสีหน้ายิ้มแย้ม ไม่ตอบสื่อ

สธ.ลั่นเอาผิดญาติคนไข้ตบพยาบาลให้ถึงที่สุด

ผอ.โรงพยาบาลระยอง เข้าพบผู้ช่วย รมว.สาธารณสุข ปมญาติคนไข้บุกตบพยาบาล สธ. ยืนยันต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ด้านพยาบาลยังเครียด เยื่อบุแก้วหูอักเสบรุนแรง

รวบชาวจีนเช่าคอนโดพระราม 9 เปิดเว็บพนันออนไลน์

ตำรวจบุกจับ ชาวจีน 15 คน เช่าคอนโดยกชั้น ย่านพระราม 9 เปิดเป็นฐานปฏิบัติการเว็บพนันออนไลน์ พบเงินหมุนเวียนในบัญชีดิจิทัล กว่า 9 ล้านบาท