กรุงเทพฯ 8 เม.ย. -ซีไอเอ็มบี ประเมินโควิด-19 ระลอกใหม่กระทบบ้าง แต่คาดเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม ภาพรวมการใช้จ่ายเอกชนยังเติบโตช้า ไทยเจอปัญหา 4 ขาด มีผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำอยู่ในปีนี้
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินสถาการณ์ในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ว่า จากที่ไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นมาอีกระลอกในหลากหลายคลัสเตอร์ ซึ่งกำลังมีความเป็นไปได้สูงที่ทางภาครัฐจะประกาศการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนอีกครั้ง และการระบาดรอบนี้มีผลต่อการบริโภคที่อาจชะลอในเดือนเมษายนในแทบทุกหมวด แต่หมวดอาหาร เครื่องดื่มอาจไม่ลดลงแรงเท่ากลุ่มอื่น เพราะได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากรัฐบาล และเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม แต่ที่น่าห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทยคือ การใช้จ่ายของคนไทยยังเติบโตช้าด้วยปัจจัยอื่นนอกจากโควิด ซึ่งน่าจะมีผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำอยู่ในปีนี้
นอกจากนี้ หากเกิดการระบาดที่มากขึ้น รัฐจะเลือกใช้การจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนคล้ายกับที่ใช้ในช่วงปลายปี เช่น ปรับเวลาการปิดร้านอาหารให้เร็วขึ้น ไม่อนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ปิดสถานที่บริการที่อาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เช่น ฟิตเนสและร้านนวด ซึ่งไม่ใช่มาตรการที่เข้มงวดมากและไม่น่าส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจเทียบกับช่วงการระบาดในรอบแรก อย่างไรก็ดี ทางบริษัทและธุรกิจต่างๆ น่าจะเพิ่มสัดส่วนพนักงานที่ทำงานที่บ้านมากขึ้นเพื่อลดความแออัดของพื้นที่ และโดยรวมอาจส่งผลต่อธุรกิจในกลุ่ม อาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า การขนส่ง ขณะที่ธุรกิจโรงแรมที่กำลังรอต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยในช่วงวันหยุดยาวก็กำลังลุ้นว่าจะมีใครยกเลิกการจองห้องพักมากน้อยเพียงไร
“ช่วงก่อนสงกรานต์นี้หากยังไม่มีมาตรการใดออกมา เราอาจเห็นธุรกิจเร่งระบายสตอกสินค้าด้วยการลดราคาสินค้าและบริการ หากกลับไปนึกภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนมกราคม ช่วงนั้นมีการระบาดต่อเนื่อง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันก็ปรับตัวลดลงในที่สุด มาตรการที่เข้มงวดในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสก็ผ่อนคลายลง ดัชนีภาคการบริโภคก็หดตัวเทียบเดือนต่อเดือนในแทบทุกหมวดหมู่ในเดือนมกราคมก่อนฟื้นตัวบ้างในเดือนถัดมา ซึ่งน่าจะพอเป็นภาพที่เราจะเห็นในลักษณะคล้ายกันว่า หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในเดือนเมษายนและอาจมีมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนจริงจนส่งผลให้การใช้จ่ายของคนไทยลดลงในเดือนนี้ แต่หากควบคุมได้ดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะกลับมาเปิดมากขึ้น การใช้จ่ายก็จะดีขึ้นในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป แต่ผมขอมองต่อไปว่า แม้จะสิ้นสุดรอบ 3 นี้ การบริโภคก็ยังเสี่ยงโตช้าด้วยปัจจัยอื่น” นายอมรเทพ กล่าว
สำหรับการบริโภคภาคเอกชนจะเริ่มฟื้นขึ้น แต่มองว่าการใช้จ่ายจะยังไม่เร่งแรง และอาจต้องระวังความเสี่ยงที่การบริโภคจะโตช้ากว่าที่เคยเห็นในช่วงก่อนโควิด หากดูการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในแต่ละสำนัก ก็จะเห็นภาพคล้ายคลึงกัน นั่นคือการบริโภคเอกชนโตต่ำกว่า 3% ขณะที่เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนผ่านการส่งออกสินค้าที่มองว่าอาจโตได้มากกว่า 10% และยังไม่นับการกระจายตัวของเศรษฐกิจอีกที่ดีเพียงด้านกลาง-บน ซึ่งต่อให้ไม่มีรอบ 3 นี้ การบริโภคก็เสี่ยงโตช้าด้วย 4 ปัจจัยดังต่อไปนี้
ปัจจัยแรก การขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ การขาดการลงทุน แม้กำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นแต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด ทำให้การลงทุนใหม่ๆ ยังเลื่อนออกไปได้ ซึ่งน่าจะเห็นในช่วงไตรมาสสามมากขึ้น ขาดความเชื่อมั่น โดยปกติคนจะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเมื่อมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ กล้านำเงินออมออกมาใช้ แต่รอบยังเห็นคนออมเงินกันค่อนข้างมาก และการขาดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย มาตรการรัฐในการลดค่าครองชีพและกระตุ้นการบริโภคผ่านเงินโอนจากรัฐบาลกำลังจะสิ้นสุดลงภายในวันที่ 31 พฤษภาคม และหากไม่มีการต่ออายุมาตรการเหล่านี้และให้เงินเพิ่มเติม ก็เกรงว่าคนจะไม่ใช้จ่ายมากเท่าที่เป็นอยู่.-สำนักข่าวไทย