กรุงเทพฯ 1 เม.ย.-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)ฝากทุกฝ่ายต้องร่วมมือดันไทยหลุดกับดักรายได้ปานกลางอย่าเน้นแต่จีดีพีของประเทศต้องสูงแต่ต้องเน้นเติบโตมั่นคงแบบยั่งยืน มั่นใจอีก 7 ปีไทยจะส่งยานอวกาศไปรอบดวงจันทร์ได้เอง
นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการอว.กล่าวปาฐกถาพิเศษ การประชุมวิชาการระดับชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปีของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้าในหัวข้อ “ วิทยาศาสตร์และศิลปวิทยาการเพื่อขยับประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง “ และเป็นประธานสักขีพยานพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาทางวิชาการและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านการศึกษาวิจัยและนวัตกรรมแห่งการสถาปนาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ประจำปี 2564 ว่า กว่า 70 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในหลายด้าน โดยเฉพาะเป็นประเทศที่อยู่ในส่วนรายได้ปานกลางระดับบนที่นำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าด้วยกันได้อย่างดี แต่การที่จะออกกับดักรายได้ปานกลางระดับบนได้และก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้สูงจะต้องหนีกับดักรายได้ปานกลางดังกล่าวให้ได้ โดยคนไทยทั้งประเทศจะต้องร่วมมือเพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากรายได้ปานกลางเป็นรายได้สูงอย่างยั่งยืนในอนาคต
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลให้ความสำคัญที่จะนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรมมาสร้างสรรค์เพื่อนำพาประเทศหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง เพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะต้องเดินไปด้วยกัน โดยปัจจุบันคนไทยมีฝีมือในด้านแรงงานสูงไม่แพ้ต่างชาติ แต่ยังขาดการส่งเสริมที่ดี ดังนั้น ถึงเวลาที่คนไทยทั้งประเทศไม่ว่าจะอยู่ภาคไหนจะต้องหันกลับมาพัฒนาเปลี่ยนแปลงประเทศไทยใหม่ โดยอย่ามุ่งเน้นและเชื่อมั่นเพียงแต่เศรษฐกิจของประเทศจะต้องเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 7-8 แต่ความเข้มแข็งของประเทศไม่มี จึงจะต้องปรับใหม่โดยจะต้องสร้างเศรษฐกิจในทุกด้านเติบโตแบบยั่งยืนและมั่นคงจะโตเพียงไม่มากแต่เศรษฐกิจของประเทศมีความแข็งแกร่งจะดีกว่า และเชื่อว่าคนไทยสามารถที่จะสร้างประเทศให้แข็งแกร่งด้วยการนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี่และนวัตกรรมมาสร้างสรรค์ให้คนไทยมีรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ทั้งนี้ ช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมาในการเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการอว.ได้มีการพูดคุยกับหลายฝ่ายเห็นว่า ประเทศไทยสามารถที่จะหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางระดับบนไปสู่ประเทศทีมีรายได้ระดับสูงได้อย่างแน่นอน เพราะคนไทยมีคนเก่งอยู่มากและหลายสาขา แต่ยังขาดจุดศูนย์รวมและการส่งเสริมอย่างจริงจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมืออย่างจริงจังไม่เพียงประเทศจะหลุดพ้นกับดักปานกลางแต่ในอีก 7 ปีข้างหน้าประเทศไทยมีโอกาสสูงที่จะนำเอายานอวกาศขึ้นไปสำรวจในรอบดวงจันทร์ที่ห่างจากโลกมากกว่า 380,000 ล้านกิโลเมตรได้ .-สำนักข่าวไทย