กรุงเทพฯ 22 ก.พ. – ส.อ.ท. เตือนภาครัฐทำแผนลดคาร์บอนฯ ก่อนกระทบส่งออกหดตัว ยุโรป-สหรัฐ ใช้เป็นแผนกีดกันทางการค้า งงแผนโซลาร์”กองทัพบก-อีอีซี” ด้านกองทัพบก ย้ำเดินหน้า เมกพโซลาร์ 3 หมื่นเมกะวัตต์ เงินลงทุน 6 แสนล้านบาทเสนอนายกฯ มี.ค.
นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอให้ภาครัฐเร่งใส่ใจในเรื่องของโครงการลดภาวะโลกร้อน การใช้ส่งเสริมพลังงานทดแทน การลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้ทังสหภาพ ยุโรป (อียู ) และสหรัฐ ได้ประกาศเบื้องต้นว่า ในปี 2573 (ค.ศ. ) 2030 จะประกาศใช้ มาตรการเรื่องการส่งเสริมการลดการปลอดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาเป็น ข้อพิจารณาการนำเข้าสินค้า ซึ่งในขณะนี้ผู้ส่งออกได้ขอให้ ส.อ.ท.เรื่องหารือกับภาครัฐให้ ร่วมกันวางแผนรับมืออย่างจริงจัง ก่อนที่จะกระทบต่อการส่งออกของประเทศ โดยขณะนี้ ภาคประชาชนได้จัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก (AEDP) เสนอต่อกระทรวงพลังงานในเดือนมีนาคมนี้
“มาตรการคาร์บอน นับเป็นมาตรการกีกันทางการค้า ที่ไม่ใช่ภาษี (NBT ) ดังนั้นหากไทยยังใช้ฟอสซิล โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเป็นหลักก็ยังไม่สามารถลดคาร์บอนฯได้ ต้องใช้พลังงานทดแทน ซึ่งภาครัฐก็ต้องวางแผนให้พร้อมว่าจะลดอย่างไร ส่งเสริมพลังงานทดแทนอย่างไร เช่น โซลาร์ฟาร์มซึ่งขณะนี้ต้นทุนประมาณ 1บาท/หน่วยแต่ไม่เสถียร หากเสถียรต้องบวกกับแบตเตอรี่ (ESS)กลายเป็น 2.50-3.00 บาท/หน่วย ใกล้เคียงกับก๊าซฯที่ 2.50 บาท/หน่วย แต่แนวโน้มต้นทุน ESS อีก 5 ปีคาดจะลดลงครึ่งหนึ่ง”นายสุวิทย์กล่าว
นายสุวิทย์ ยังกล่าวถึงโครงการโซลาร์ฟาร์มที่กองทัพบกประกาศสนับสนุนให้เกิดขึ้น 3 หมื่นเมกะวัตต์ และ ในพื้นที่ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)อีก 500 เมกะวัตต์ ในขณะนี้ภาคเอกชนตั้งข้อสังเกตว่า โครงการนี้ไม่มีอยู่จิง เพราะยังไม่ได้อยู่ในแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี )ของประเทศแต่อย่างใด การดำเนินการควรอยู่กระดานเดียวกัน กระทรวงพลังงาน ควรหารือทั้ง 2 หน่วยงาน ว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยแผนพีดีพี ฉบับปัจจุบันคือ พีดีพี 2018 ฉบับทบทวนครั้งที่ 1 กำหนด ถึงสิ้นปี 2580 จะมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้าระบบประมาณ 12,000 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งแม้ว่าเอกขนต้องการเห็นพลังงานทดแทนเกิดขึ้นในประเทศ แต่ก็ต้องอยู่บนฐานเดียวกัน
พลโท รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ในฐานะตัวแทนกองทัพบก เปิดเผยว่า โครงการเมกะโปรเจคโซลาร์ฟาร์ม 30,000 เมกะวัตต์ ทั่วประเทศ ในพื้นที่ดูแลกองทัพบกทั่วประเทศ 4.5 ล้านไร่ มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมและพลังงาน คาดใช้พื้นที่ติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม 300,000 ไร่ จะใช้เงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 6 แสนล้านบาท และเบื้องต้นในส่วนโครงการนำร่องที่จังหวัดพาญจนบุรี ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) กับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาเบื้องต้น 3 พันไร่ 300 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมทั้งโครงการ ทางกองทัพบกจะสรุป เสนอไปยังนายกรัฐมนตรีได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ หากได้รับการอนุมัติเข้า ครม. ก็จะเดินหน้าโครงการทันที คาดว่าจะสามารถลงนาม สัญญาซื้อขายไฟฟ้า( PPA )ภายในปลายปีนี้ ส่วนรูปแบบการร่วมทุนนั้น เป็นหน้าที่ของ กฟผ. เปิดประมูลต่อไป
ล่าสุด มีผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงาน 50-60 บริษัท ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมทั้งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ติดต่อเข้าขอรับทราบรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมแสดงเจตจำนงเข้าร่วมลงทุน “เมกะโซลาร์ฟาร์ม” รวมถึงลงทุนในอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ครบวงจร ทั้งการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ อุตสาหกรรมที่เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และการลดต้นทุน
” โครงการ”เมกกะโซลาร์ฟาร์ม” ขนาดติดตั้ง 30,000 เมกะวัตต์ คาดใช้พื้นที่ทั้งหมด 300,000 ไร่ จะใช้เงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 6 แสนล้านบาท มีบริษัทพลังงานสนใจเป็นจำนวนมาก และ ปตท. เสนอทำESSเพื่อป้อนโครงการ แต่เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงอาจต้องร่วมมือกับบริษัทจีนต่อไป” พลโท รังษีกล่าว
ส่วนกรณีโครงการดังกล่าวยังไม่บรรจุในแผน PDP นั้น ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างปรับปรุงฉบับใหม่ และหากโครงการนี้ได้รับอนุมัตจาก ครม.แล้ว ก็เอาไปใส่ในแผน และปรับพลังงานอื่นๆให้เหมาะสม เพราะเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างประโยชน์ต่อประเทศ โดยต้นทุนอยู่ที่ราว 18ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ค่าไฟเพียง 1.50 บาทต่อหน่วย (ยังไม่รวมESS) ซึ่งคาดว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์ จ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่ลดลง ประมาณยูนิตละ 2.50 บาท จากเดิม 3.50 บาท. ประเทศจะลดการขาดดุลในการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการนำเข้าก๊าซและถ่านหิน ประมาณปีละ 700,000-800,000 ล้านบาท . – สำนักข่าวไทย