กรุงเทพฯ 19 ก.พ.-“อิศเรศ” รองประธาน ส.อ.ท.แนะเพิ่ม GDP ด้วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ลดหนี้ ลดค่าครองชีพประชาชน ส่งเสริมการลงทุน เพิ่มส่งออก ลดการนำเข้า
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน สอท. กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมา จีดีพีไทย เติบโตต่ำเพียง 1 – 2 % และไม่ได้ฟื้นตัวมากนัก ยิ่งหลังโควิด ฝ-19 จีดีพีไทยเติบโตต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นเราไม่ควรติดกับดักเดิมๆ ที่ขาดการปรับตัว และขาดความกล้าหาญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ของประเทศภาคเอกชนจึงต้องการให้ภาครัฐมีนโยบายในการผลักดันจีดีพี โดยมีแนวทางเบื้องต้นดังนี้
1.C = Consumption
ลดภาระหนี้ และค่าครองชีพ ของประชาชน และ เอกชน ด้วยนโยบายดอกเบี้ยที่เหมาะสม และ การเข้าถึงแหล่งทุนของ SMEs อีกทั้งลดการผูกขาด ส่งเสริมตลาดแข่งขันเสรี (ในประเทศ ) ของทุกสินค้า และบริการ ที่สำคัญ ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการผลักภาระให้เอกชน เช่น นโยบายประชานิยมด้วยนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ที่ควรให้เป็นกลไกตามกรรมการไตรภาคีที่ปราศจากการแทรกแซง และ เร่งนโยบายการเพิ่มรายได้ตามทักษะฝีมือแรงงาน ด้วยการ เร่ง up skill และ re skill ที่จะสร้างความยั่งยืนทั้งระบบ อีกทั้ง ส่งเสริมการบริโภค สินค้า หรือ บริการ ที่ MiT (Made in Thailand ) เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในประเทศ แทนการมุ่งซื้อสินค้าหรือบริการที่ถูก จากการนำเข้า ซึ่งจะทำลายผู้ผลิตในประเทศ ในที่สุด
2.I = Investment
เน้นส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม หรือบริการที่เป็นจุดแข็งของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปตามหลัก BCG และมุ่งส่งออก High value Product แทน การส่งสินค้าเกษตรขั้นต้นซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่า อีกทั้งเร่งการส่งเสริม การลงทุนใน อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากจุดแข็งของเรา (New Engine) เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อทดแทนส่วนที่หายไปจากยานยนต์สันดาป โดยผลักดัน Part Transform Policy เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น เครื่องจักรกลเกษตร , Aerospace , อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ , เครื่องมือแพทย์ ,ขนส่งทางราง และ Robotic เป็นต้น ที่สำคัญ คือต้องผลักดันให้เกิด Technology Transfer ให้คนไทย ไม่ใช่มาใช้ประเทศไทย เป็นแค่การสวมสิทธิ์ แปลงสัญชาติ เพื่อการส่งออก จาก ปัญหา Trade War
3.G = Government Expenses
เน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์ อุตสาหกรรมต้นน้ำเช่น ระบบน้ำ ให้ภาคเกษตร และรองรับ อุตสาหกรรม BCG ที่สำคัญ คือ ส่งเสริมสินค้า MiT (Made in Thailand) มากกว่าสินค้านำเข้า
ที่สำคัญ คือ การใช้งบประมาณภาครัฐ อย่างมี ประสิทธิภาพ
4.เพิ่ม Export / ลด Import
นอกจาก การหาตลาดใหม่ๆ รวมทั้งการเจรจา FTA เราควรส่งเสริมการส่งออก ด้วยมาตรการค่าเงินบาทที่อ่อน เทียบกับคู่แข่งรวมทั้งลดอุปสรรค เช่น ขั้นตอน และ ค่าใช้จ่ายในการส่งออกที่สำคัญ ควรลดการนำเข้าสินค้าที่สามารถผลิตในประเทศ รวมทั้งการลักลอบนำเข้า และ การใช้ประโยชน์ในเขตปลอดอากร Free Zone ที่ทำลายอุตสาหกรรมในประเทศ อีกทั้งเร่งการผลิตของในประเทศ แทน การนำเข้่า เช่น ส่งเสริมเขื้อเพลิงสะอาดจากภาคเกษตร ให้แข่งขันได้ เช่น เอทานอล E20 และไบโอดีเซล แทน การนำเข้า Crude oil (ฟอสซิล) ซึ่งยังตอบโจทย์ Climate Change
“ที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณ รัฐบาลชุดนี้ ที่ได้เร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหลายเรื่อง อย่างเต็มที่ ด้วยนโยบายดีๆ หลายเรื่องและผมมั่นใจว่า เอกชน และ ทุกภาคส่วน ต่างก็พร้อมที่จะ ให้กำลังใจ และร่วมทำงานเชิงรุกอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐ เพื่อผลักดันในประเทศไทยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไปด้วยกัน” นายอิศเรศ กล่าว.-517.-สำนักข่าวไทย