ภูเก็ต 2 พ.ย. – รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ตรวจร้านแฟรนไชส์ต้นแบบ หวังดึงจุดแข็งธุรกิจสร้างฐานที่มั่นด้านอาชีพเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ใน จ.ภูเก็ต ว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจในจังหวัดได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากการที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่มีรายได้ลดลง และบางส่วนต้องหยุดกิจการลงชั่วคราว ส่วนตัวมองว่าเศรษฐกิจ จ.ภูเก็ต ยังสามารถเดินต่อไปได้ แต่ต้องอาศัยกำลังซื้อจากภายในประเทศเป็นหลัก รวมถึง มีการขยายธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ที่มีความหลากหลาย เป็นธุรกิจที่สามารถดำเนินการได้ทันที การลงทุนมีให้เลือกตามกำลังทุนทรัพย์ ซึ่ง ‘แฟรนไชส์’ ถือเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์นักลงทุนในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ทำได้ง่าย ผู้ประกอบการสามารถนำโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จไปต่อยอดดำเนินการได้ทันที ลดความเสี่ยงจากการเริ่มต้นประกอบธุรกิจใหม่ สามารถเลือกลงทุนได้ตามความต้องการและความเหมาะสมกับเงินทุนที่มีอยู่ มีพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือและให้คำปรึกษาตลอดการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ คือ บริษัท เจ.ดี.พูลส์ จำกัด เป็นบริษัทที่ริเริ่มนำมาตรฐานใหม่ของสระว่ายน้ำมาสู่ประเทศไทย โดยได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการให้บริการที่ครบวงจรแบบ One Stop Services ตั้งแต่การให้คำปรึกษา ออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้งอุปกรณ์ และติดตามดูแลรักษาสระว่ายน้ำตลอดอายุการใช้งาน โดยบริษัทฯ ได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Standard) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว รวมทั้ง มีโอกาสเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ (Franchise Go inter) ปัจจุบันสามารถขยายธุรกิจไปตลาดต่างประเทศแล้ว 6 ประเทศ คือ ประเทศเมียนมาร์ ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินเดีย และอิหร่าน ล่าสุดได้รับรางวัลธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่มีความโดดเด่นเฉพาะด้าน : รางวัลแฟรนไชส์ไทยนวัตกรรมยอดเยี่ยม (Best Innovation Franchise) ในงาน Thailand Franchise Award 2020 :TFA 2020 และเป็นบริษัทฯ สร้างสระว่ายน้ำแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐาน ISO:9000 จากสถาบัน AJA Registrars Ltd. เป็นสิ่งการันตีถึงความมีมาตรฐานระดับสากลได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ยังได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมธุรกิจแฟรนไชส์ขนาดเล็ก (ใช้เงินลงทุนไม่มาก) ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Standard) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้วเช่นกัน คือ ชาบังนัน เป็นธุรกิจชาต้นตำรับจากจังหวัดปัตตานี ประกอบธุรกิจภายใต้สโลแกน “หอมกรุ่นละมุนชา” เป็นแฟรนไชส์สำเร็จรูปที่นำไปประกอบธุรกิจได้ทันที วัตถุดิบมีราคาคงที่..ควบคุมต้นทุนได้ง่าย ด้วยเงินลงทุนที่ไม่สูงจึงเหมาะกับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีเงินลงทุนไม่มาก สามารถตั้งร้านประกอบธุรกิจได้ทุกสถานที่ รวมถึง เป็นธุรกิจที่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างลงตัว
“เชื่อมั่นว่า ‘ธุรกิจแฟรนไชส์’ จะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เดินต่อไปข้างหน้าด้วยความเข้มแข็ง โดยได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งนำธุรกิจแฟรนไชส์ทุกขนาดเข้ามาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนประสานผู้ประกอบการแฟรนไชส์ซอร์ (เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์) ลดราคาแรกเข้าธุรกิจให้แก่นักลงทุนที่สนใจ โดยให้คัดเลือกแฟรนไชส์ที่มีประเภทธุรกิจเหมาะสมกับพื้นที่และสถานการณ์ปัจจุบันนำเสนอแก่นักลงทุน ซึ่งเป็นทางเลือกช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ได้ง่ายมากขึ้น” นายวีรศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ดำเนินการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้มีความเข้มแข็งมาอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเข้มแข็ง โดยได้ดำเนินการ เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านแฟรนไชส์แก่ผู้ประกอบธุรกิจ ให้สามารถใช้ระบบแฟรนไชส์ไปขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยกระดับธุรกิจสู่มาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจ โดยพัฒนาธุรกิจให้มีระบบบริหารจัดการที่มีมาตรฐานคุณภาพแฟรนไชส์อย่างต่อเนื่อง ให้มีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล สร้างโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
แฟรนไชส์เป็นโมเดลธุรกิจที่นักลงทุนสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว นักลงทุนรุ่นใหม่นิยมนำไปเริ่มต้นประกอบธุรกิจ ด้วยองค์ประกอบการเริ่มต้นที่ไม่ยาก แบรนด์สินค้าเป็นที่รู้จักและเป็นที่จดจำแก่ลูกค้าอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก…ต่อยอดขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ไม่ยาก ผู้ลงทุนสามารถวางรูปแบบการประกอบธุรกิจได้ด้วยตัวเองโดยมีเจ้าของแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซอร์) คอยเป็นพี่เลี้ยงตลอดการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยมีมูลค่าตลาดโดยรวมกว่า 280,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 ต่อปี โดยในแต่ละปีจะมีผู้ประกอบการรายใหม่สนใจเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไซส์กว่า 15,000 – 20,000 ราย ปัจจุบัน มีจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ที่เปิดดำเนินกิจการกว่า 590 กิจการ ส่วนใหญ่เป็นแฟรนไชส์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 เป็นต้น . – สำนักข่าวไทย