อุซเบกิสถาน 6 เม.ย. – ผู้นำฝ่ายค้านฯ เยือนอุซเบกิสถาน ขอบคุณทุกฝ่ายช่วยเหลือแรงงานไทย 5 คน หลังได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัย พร้อมแสดงความห่วงใยสถานการณ์ “อิสราเอล-ปาเลสไตน์” หวังสร้างสันติภาพร่วมกันในระยะยาว
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทนรัฐสภาไทย เพื่อร่วมประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสันติภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ณ กรุงทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน โดยในการประชุมมีประเด็นสำคัญ เรื่องบทบาทของรัฐสภาในการส่งเสริมทางออกแบบสองรัฐในปาเลสไตน์
นายณัฐพงษ์ ได้กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ว่า ประเทศไทยได้ธำรงความสัมพันธ์อันดีต่อทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์มาโดยตลอด พร้อมกับดำรงจุดยืนเป็นกลางในความขัดแย้งดังกล่าว ทั้งนี้ ประเทศไทยสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อความพยายามของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการผลักดันทางออกแบบสองรัฐ (Two-State Solution) ซึ่งมุ่งให้รัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและมั่นคง ภายใต้พรมแดนที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสอดคล้องกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ตลอดจนมติที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติ
อย่างไรก็ดี การปะทุของความรุนแรงระลอกใหม่ระหว่างอิสราเอลและฮามาสได้สร้างความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานไทยในอิสราเอล ซึ่งตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งนั้น จนนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าของแรงงานไทยจำนวน 39 ราย การถูกลักพาตัวของอีก 32 ราย และในปัจจุบัน ยังมีแรงงานไทย 1 รายที่ยังคงถูกควบคุมตัวไว้
ประเทศไทยขอแสดงความขอบคุณต่อทุกฝ่ายที่มีส่วนในการช่วยเหลือให้แรงงานไทยจำนวน 5 รายได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัยในครั้งล่าสุด ในส่วนของร่างมติที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการประจำด้านสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ประเทศไทยมีความเชื่อมั่นว่า “การเจรจาอย่างสันติ” คือกุญแจสำคัญในการยุติข้อพิพาท เป้าหมายเร่งด่วนของเราคือการลดความตึงเครียดโดยเร็ว และฟื้นฟูสถานการณ์ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็มีความมุ่งหวังที่จะเห็นสันติภาพ ความมั่นคง และประชาธิปไตยที่ยั่งยืนเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้
ประเทศไทยขอย้ำจุดยืนในเรื่องการคุ้มครองบุคลากรของสหประชาชาติ กำลังรักษาสันติภาพ และเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมให้ปลอดภัยจากอันตรายตลอดระยะเวลาของการปฏิบัติหน้าที่
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามร่างมติดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยบทบาทของรัฐสภา และการมีส่วนร่วมอย่างเป็นเอกภาพของประชาคมระหว่างประเทศ แต่ประสิทธิผลของมติอาจถูกจำกัด หากปราศจากกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริง
ดังนั้น ประเทศไทยขอเน้นย้ำถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐานของการส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพื่อวางรากฐานแห่งการฟื้นฟูหลังความขัดแย้ง การพัฒนา และการสร้างสันติภาพในระยะยาว.-312-สำนักข่าวไทย