6 เม.ย. – กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เดินหน้าพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เฟส 2 เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เสริมศักยภาพขนส่งทางรางไทยสู่ระดับสากล
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผย ถึงการถึงการศึกษาดูงาน ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจถึงประโยชน์ของการขนส่งทางรถไฟในการเชื่อมโยงตามแนวเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์ – คุนหมิง ว่า นครฉงชิ่งถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางสำคัญของเส้นทางเชื่อมโยงทางการค้าและการขนส่งของจีนในโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งการเดินทางไปศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนารบบขนส่งทางรางที่มีประสิทธิภาพและการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างประเทศที่บริษัท New Land Sea Corridor Operation (NLS) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของจีนและประเทศพันธมิตร ภายใต้โครงการ China-Singapore (Chongqing) Demonstration Initiative รวมถึงศึกษาระเบียงทางบก-ทางทะเลใหม่แห่งฉงชิ่ง (Chongqing New Land Sea Corridor) เส้นทางขนส่งที่เชื่อมต่อจีนตะวันตกกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้การขนส่งแบบผสมผสานทั้งทางรถไฟ ทางทะเล และทางถนน เพื่อลดระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่งสินค้า และเยี่ยมชมสถานีรถไฟ Tuanjiecun และลานตู้คอนเทนเนอร์ ศูนย์กลางสำคัญของเส้นทางการขนส่งทางรถไฟจีน-ยุโรป จะช่วยให้เข้าใจถึงระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าทางรางข้ามประเทศที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาใช้
ทั้งนี้ การเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีน อย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีน โดยสินค้าบางส่วนเริ่มหันมาใช้การขนส่งโดยเส้นทางรถไฟมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผลไม้และพลาสติก จากสถิติปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างไทย-สปป.ลาว แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งในปี 2564 มีปริมาณการขนส่งเพียง 2,288 ตัน แต่เพิ่มขึ้นเป็น 46,287 ตันในปี 2566 และเพิ่มขึ้นเป็น 63,676 ตันในปี 2567 คิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 37.56 เมื่อเทียบกับปี 2566 และเมื่อเทียบกับปี 2564 พบว่ามีการเติบโตอย่างมาก
ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าจากไทยไปยังนครฉงชิ่งผ่านเส้นทางรถไฟใช้เวลาประมาณ 4 วัน ซึ่งถือว่ารวดเร็วกว่าการขนส่งทางเรือที่ต้องใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ การขนส่งทางรถไฟจึงเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสำหรับสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง เช่น ผลไม้สด หรือสินค้าที่มีมูลค่าสูง ในปี 2566 รถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) มีปริมาณการขนส่งสินค้ามากกว่า 430,000 TEU และปัจจุบันขบวนรถไฟจีน-ยุโรป ครอบคลุมมากถึง 110 เมืองในเอเชียและยุโรป เส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) เริ่มต้นจากสถานี Tuanjie Village Central Station ผ่าน Alashankou (Horgos) เขตปกครองตนเองซินเจียง คาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ ไปยังเยอรมนี รวมระยะทาง 10,987 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 14-15 วัน
ในส่วนของประเทศไทย อยู่ระหว่างการเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง และผลักดันนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางรางให้มีความทันสมัย สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งของประเทศเพื่อนบ้านและระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุด ครม. อนุมัติให้ดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ปีงบฯ 68-75) มั่นใจว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสร้างประโยชน์ให้ประเทศอย่างมาก เพราะนอกจากการขนส่งคนมาท่องเที่ยว ค้าขายและลงทุนแล้ว ยังสามารถขนส่งสินค้ามูลค่าสูงที่มีน้ำหนักเบาได้อย่างรวดเร็ว โดยจะย่นระยะเวลาขนส่งลงได้ 3 วัน จากปัจจุบันใช้เวลาขนส่ง 11 วัน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และเป็นประตูการค้าที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนต่อไป
“การขนส่งทางรถไฟมีข้อได้เปรียบการชนส่งทางรถยนต์ในด้านความเร็ว แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่า แต่ด้วยระยะเวลาการขนส่งที่น้อยกว่า จะช่วยลดความเสียหายของสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรทั้งทุเรียน ลำไย เงาะ
จะเห็นว่ารถไฟเชื่อมโลกสามารถเป็นจริงได้ และขณะนี้ก็ใกล้ความจริงเข้าไปทุกที ซึ่งปัจจุบันสินค้าจากไทยสามารถขนส่งเข้าไปที่ยุโรปโดยรถไฟได้แล้ว โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้มีการทดลองขนส่งสินค้าวัสดุเคมีพันธุ์ จากมาบตาพุดไปยังเมืองฮัมบรูกส์ ประเทศเยอรมนี 2 ครั้งเพื่อพิสูจน์ว่าสามารถทำได้จริง โดยรอบแรกใช้เวลา 30 วัน รอบที่สองใช้เวลา 22 วัน
เส้นทางการขนส่งเริ่มจากท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ผ่านเส้นทางรถไฟไปที่ จ.หนองคาย จากนั้นไปเปลี่ยนถ่ายขบวนไปยังรถไฟจีนลาวที่เวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค ผ่านคุณหมิง จนถึงฉงชิ่ง ซึ่งเป็นฮับของจีนตะวันตก และขนส่งไปยุโรปด้วยรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป (เฉิงตู-ฉงชิ่ง)” นายพิเชฐ กล่าว -517-สำนักข่าวไทย