กรุงเทพฯ 14 ต.ค. – ปลัดเกษตรฯ ย้ำกรมชลฯ เร่งระบายน้ำจากพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังจากฝนที่ตกต่อเนื่อง โดยเฉพาะระหว่างนี้จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “นังกา” ตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจในพื้นที่ทำงาน 24 ชั่วโมง รวมพื้นที่เกษตรเสียหายแล้วกว่า 2.5 แสนไร่ ย้ำเข้าสำรวจความเสียหายและฟื้นฟูทันทีที่น้ำลด
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการให้กรมชลประทานจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาอุทกภัยขึ้นทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นศูนย์ติดตาม ประสานงานและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่นั้นๆ ตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ทั้งนี้เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนว่า พายุโซนร้อนนังกา จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศเวียดนามในวันนี้ จะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นด้านตะวันออกและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันจึงจะทำให้ภาคใต้และอ่าวไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก
ขณะนี้ยังคงมีน้ำท่วมขังใน 6 จังหวัดได้แก่ นครราชสีมา เพชรบุรี สระแก้ว พังงา ตรัง และสตูล โดยนครราชสีมายังมีน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำใน อ.เมือง 6 ชุมชนและน้ำไหลหลากจากเขาใหญ่ลงต้นน้ำลำตะคอง เขตเขาใหญ่ ทำให้น้ำท่วม ต.หมูสี อ.ปากช่อง ขณะนี้ได้ระบายน้ำอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงวันละ 4.85 ล้านลบ.ม. ทั้งลงคลองส่งน้ำสายและลงลำน้ำธรรมชาติ อีกทั้ง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำน้ำบริบูรณ์ 3 เครื่องและลำตะคอง 3 เครื่อง นำรถแบ็คโฮ 5 คันขุดลอกคลองสายใหญ่ ต.หมื่นไวย อ.เมืองนครราชสีมา ระยะทาง 11 กม. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำลงสู่ลำน้ำบริบูรณ์
ด้านที่เพชรบุรีติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณอ.เมือง บ้านแหลม และท่ายาง 22เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 14เครื่อง นำรถแบ็คโฮ 5 คัน รถเครน 1 คันเปิดเส้นทางน้ำ และเตรียมกระสอบทรายเพื่อใช้อุดท่อ ระบายน้า และวางแนวตลอดลำน้ำ ที่จะเข้าสู่ตัวเมือง นอกจากนี้กองทัพเรือติดตั้งเรือผลักดันน้ำที่สะพานวัดคุ้งตำหนัก 10 ลำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ สำหรับจ. สระแก้วยังมีน้ำไหลหลากเข้าท่วมที่ลุ่มต่ำริมคลองพระสทึง อ.เมือง เขาฉกรรจ์ และวังน้ำเย็น ระดับน้ำที่สถานี KGT.9 บ้านเขาฉกรรจ์ อ.เขาฉกรรจ์เมื่อคืนที่ผ่านมา (13 ต.ค.) สูงกว่าตลิ่ง 0.51 ม. แนวโน้มเพิ่มขึ้น สถานี KGT.10 บ้านสระขวัญ อ.เมือง สูงกว่าตลิ่ง 0.03 ม. แนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 4 เครื่องเพื่อเร่งบายน้ำบริเวณสะพานบ้านแก่งสีเสียด อ.เมือง จังหวัดตรังมีฝนตกหนักจนถึงเช้าวันนี้ (14 ต.ค.) ที่อ.เมือง พื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอได้แก่ อ.นาโยงและอ.เมือง มีน้ำท่วมบริเวณที่ลุ่มต่ำริมคลองนางน้อยและผิวจราจรภายในหมู่บ้าน 10 –20 เซนติเมตร โครงการชลประทานตรังสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 19 เครื่องและเครื่องผลักดันน้ำ 16เครื่อง ด้านจังหวัดพังงา ได้รับผลกระทบที่อ.ตะกั่วป่า ซึ่งพื้นที่ลุ่มต่ำมีน้ำท่วมขังบ้านเรือนและน้ำท่วมผิวถนน รถไม่สามารถสัญจรได้ โครงการชลประทานพังงาจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่องและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แนวโน้มระดับน้ำลดลง
ส่วนที่จังหวัดสตูล ฝนที่ตกหนักเมื่อคืนทำให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ละงูและอ.ท่าแพ ปัจจุบันน้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมผิวจราจรหมู่บ้านและพื้นที่เกษตรลุ่มต่ำริมคลอง ระดับน้ำสูง 0.30 –0.50 ม. คาดการณ์ว่า หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มและน้ำทะเลไม่หนุน ระดับน้ำจะลดลงต่อเนื่อง โดยจัดเครื่องสูบน้ำสนับสนุน 5 เครื่อง
นายทองเปลวกล่าวต่อว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ สั่งการให้ทุกหน่วยงานช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับจากอุทกภัยอย่างสุดกำลัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด พร้อมทั้งรายงานผลกระทบเข้ามายังศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรทุกวัน ขณะนี้ด้านพืชได้รับผลกระทบ 7 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สระแก้ว จันทบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และตรัง เกษตรกร 63,859 ราย พื้นที่ 266,523 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 110,469 ไร่ พืชไร่ 116,267 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 39,787 ด้านประมง ได้รับผลกระทบ 2 จังหวัดได้แก่ ราชบุรีและกาญจนบุรี เกษตรกร179ราย พื้นที่บ่อปลา 171 ไร่ ด้านปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 1 จังหวัดคือ นครราชสีมา เกษตรกร 17ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 957 ตัว ทั้งสัตว์ใหญ่และเล็ก
“ย้ำให้ทุกหน่วยงานเข้าสำรวจความเสียหายอย่างละเอียดทันทีที่น้ำลด เพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อน แล้วช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบราชการต่อไป” นายทองเปลวกล่าว