กรุงเทพฯ 29 ส.ค. – คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 31.10 – 31.50 บาทต่อดอลล่าร์ฯ
จับตารายงานตัวเลขเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองไทย
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงาน ว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินเอเชียและเงินหยวน (หลังการหารือของสหรัฐฯ-จีนในเรื่องดีลการค้าเฟสแรกมีความคืบหน้า) ประกอบกับมีแรงหนุนจากปัจจัยทางเทคนิคหลังเงินบาทแข็งค่าผ่านหลายแนวสำคัญระหว่างสัปดาห์ ทั้งนี้เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่องจนถึงปลายสัปดาห์ และแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ที่ 31.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ กลับมาอ่อนค่าลง (จากที่ฟื้นตัวช่วงสั้นๆ หลังปาฐกถาของประธานเฟดเป็นไปตามที่ตลาดคาด) เนื่องจากตลาดมองว่า การเปลี่ยนมาใช้เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ยของเฟด จะทำให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเป็นเวลานาน และจะไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยล่วงหน้าเพื่อสกัดความเสี่ยงเงินเฟ้อ
ในวันศุกร์ (28 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.16 เทียบกับระดับ 31.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (21 ส.ค.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (31 ส.ค.-4 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.10 – 31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนก.ค. ของธปท. และสถานการณ์ทางการเมือง ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนี ISM และ PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP เดือนส.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน รายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือน ก.ค. และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของเฟด นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือน ส.ค. ของจีน ยูโรโซน และญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
ขณะที่หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อนแม้ลดช่วงบวกลงบางส่วนปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,323.31 จุด เพิ่มขึ้น 1.85% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 53,786.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.73% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.79% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 310.77 จุด
หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อนตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ท่ามกลางแรงหนุนจากรายงานข่าวเชิงบวกเกี่ยวกับแนวทางในการรักษาโรคโควิด-19 ขณะที่ ตลาดคลายความกังวลลงบางส่วนต่อสถานการณ์ตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน อย่างไรก็ดี หุ้นไทยลดช่วงบวกลงในช่วงปลายสัปดาห์ นำโดย หุ้นกลุ่มพลังงาน และวัสดุก่อสร้าง แม้จะมีแรงหนุนจากถ้อยแถลงของประธานเฟด ซึ่งบ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำนานขึ้นก็ตาม
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (31 ส.ค.- 4 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,310 และ 1,300 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,335 และ 1,350 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มเติม ประเด็นการเมืองในประเทศ สถานการณ์โควิด-19 และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนส.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนส.ค. ของจีน ญี่ปุ่น และยูโรโซน . – สำนักข่าวไทย