กรุงเทพฯ 21 ส.ค. – กรมบัญชีกลางออกหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการขอกันเงินงบประมาณปี 63 ไว้เบิกเหลื่อมปี
นางสาววิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 43 กำหนดให้การขอเบิกเงินจากคลังตามงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณใด ให้กระทำได้เฉพาะภายในปีงบประมาณนั้น ในกรณีที่หน่วยรับงบประมาณได้ก่อหนี้ผูกพันไว้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ และไม่สามารถเบิกจ่ายเงินได้ทัน ให้ขยายเวลาขอเบิกเงินได้อีกไม่เกิน 6 เดือน ของปีงบประมาณถัดไป เว้นแต่มีความจำเป็นต้องขอเบิกเงินภายหลังเวลาดังกล่าว ให้ขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอขยายเวลาออกไปอีกไม่เกิน 6 เดือน โดยหน่วยรับงบประมาณได้มีการกันเงินไว้ตามระเบียบเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินจากคลังแล้ว ซึ่งตามระเบียบฯ ข้อ 106 กำหนดในเรื่องการขอกันเงิน ไว้เบิกเหลื่อมปี หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการก่อนสิ้นปีงบประมาณ โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กรมบัญชีกลางโดยได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการขอกันเงินงบประมาณปี พ.ศ. 2563 ไว้เบิกเหลื่อมปี (กรณีมีหนี้ผูกพัน ทุกรายการโดยไม่กำหนดวงเงิน) ให้หน่วยงานของรัฐที่มีสัญญาหรือข้อตกลงซื้อหรือจ้าง ดำเนินการผ่านระบบ GFMIS Web Online เพื่อให้สามารถใช้จ่ายเงินงบประมาณได้อย่างต่อเนื่องบรรลุวัตถุประสงค์ ถูกต้อง ครบถ้วน และสอดคล้องกับแนวทาง ตามกฎหมาย ดังนี้
- หน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการ ให้บันทึก PO
- หน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการและต้องชำระเงินให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศ และหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ ให้บันทึกเป็นเอกสารสำรองเงินประเภท CX
- หน่วยงานของรัฐที่ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุและอยู่ระหว่างกระบวนการอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ให้บันทึกเป็นเอกสารสำรองเงินประเภท CX ตามแนวทางปฏิบัติในการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี กรณีมีหนี้ผูกพัน
เมื่อได้รับอนุมัติให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี และได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างพัสดุเรียบร้อยแล้ว ให้แก้ไขการบันทึกรายการดังกล่าว จากเอกสารสำรองเงินประเภท CX เป็น PO ให้แล้วเสร็จภายในวันทำการสุดท้ายของเดือนมีนาคม 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง - หน่วยงานของรัฐที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในรายการเงินชดเชยค่างานก่อสร้าง ตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) ในรายการต่าง ๆ ที่กำหนด ให้บันทึกเป็นเอกสารสำรองเงินประเภท CK
“สำหรับหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการและเป็นหน่วยงานผู้เบิกที่มีสำนักงานอยู่ในภูมิภาค ต้องเลือก (LIST) เอกสารสำรองเงิน สรุปเลขที่เอกสารสำรองเงิน และรายละเอียดในแบบแจ้งรายละเอียดการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี ส่งให้ส่วนราชการเจ้าของงบประมาณหรือหน่วยงานผู้เบิกแทนเป็นผู้รวบรวม ยืนยันข้อมูล (CONFIRM) ในระบบ GFMIS และส่งให้กรมบัญชีกลางพิจารณา ทั้งนี้ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการขอกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีให้แล้วเสร็จ ภายในวันทำการสุดท้ายของเดือนกันยายน 2563 หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด งบประมาณดังกล่าวต้องถูกพับไป” โฆษกกรมบัญชีกลางกล่าว . – สำนักข่าวไทย