“ดร.อนุสรณ์” แนะผนึกกำลังอาเซียนเพิ่มอำนาจต่อรอง

กรุงเทพฯ 6 เม.ย. – “ดร.อนุสรณ์” แนะผนึกกำลังอาเซียนเพิ่มอำนาจต่อรอง หวั่นเศรษฐกิจสหรัฐอาจโตไม่ถึง 1% กำแพงภาษีนำเข้าทำลายห่วงโซ่อุปทานบรรษัทข้ามชาติ ระบบการค้าเสรีภายใต้ WTO ล่มสลาย


รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การทำงานเชิงรุกเพื่อรับมือกับผลกระทบจากภาษีตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยไม่ให้จีดีพีของไทยขยายตัวต่ำกว่า 2% หากเจรจาลดภาษีไม่ได้เลย จีดีพีไทยอาจติดลบ ถ้าภาคส่งออกติดลบเกิน 5% ดังนั้น การผนึกกำลังกับอาเซียน เพื่อไปเจรจาต่อรองร่วมกัน จะเพิ่มอำนาจต่อรองให้ประเทศไทย ผู้นำอาเซียนต้องหารือกัน หากแต่ละประเทศเจรจาแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ จะไม่มีอำนาจต่อรองอะไร การทำงานในนามของ “อาเซียน” ย่อมมีพลังมากกว่าการไปเจรจาแบบทวิภาคี

การนำมาตรการลดภาษีนำเข้าให้สินค้าสหรัฐฯ ไปแลกกับการลดกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อสินค้าไทย ต้องประเมินผลกระทบข้างเคียงด้วย เพราะอัตราภาษีนำเข้าของสินค้าบางตัวของไทย ทำเพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ การแลกได้แลกเสีย (Trade Off) ล้วนเกี่ยวพันกับมิติเศรษฐศาสตร์การเมืองทั้งสิ้น เนื่องจากกลุ่มทุนที่มีอำนาจผูกขาด ต้องการรักษาอำนาจผูกขาดไว้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจอุตสหกรรมโทรคมนาคม ธุรกิจอุตสาหกรรมการเงิน เป็นต้น


นอกจากนี้ ไทยควรมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งและเข้าร่วม North Asia and AEC New Free Trade Zone เนื่องจากจีนประกาศเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐฯ 34% และประกาศไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย รวมทั้งประกาศเจรจาตั้ง Free Trade Zone ใหม่กับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งไทยและอาเซียนควรเข้าร่วมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ใหม่นี้
  
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า การเก็บภาษีพื้นฐาน 10% ทุกประเทศพร้อมเก็บภาษีตอบโต้ จะทำให้โครงสร้างและพัฒนาการของระบบการค้าเสรีของโลกเปลี่ยนแปลงไป โลกาภิวัตน์จะไม่เหมือนเดิม การเก็บภาษีตอบโต้ทางการค้าทำให้ระบบการค้าเสรีของโลกภายใต้ระบบ WTO ล่มสลายลง อัตราภาษีศุลกากรขึ้นไปสูงที่สุดในรอบ 100 ปี ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งหนักเช่นเดียวกันกับช่วงเกิดการแพร่ระบาดของ Covid-19 และการที่จีนและกลุ่มอียูก็ตอบโต้ทางการค้าด้วยกำแพงภาษีนำเข้าเช่นเดียวกัน ย่อมทำให้ผลสุทธิทางด้านสวัสดิการเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของโลกจะย่ำแย่ลงอย่างมาก จะสะท้อนมาที่ปริมาณและมูลค่าการค้าโลกจะลดลงอย่างรุนแรงในปีนี้

รวมทั้งอัตราการขยายตัวจีดีพีของโลกจะลดลงจากปัจจัยดังกล่าว ประเทศจีนอาจมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง จากการถูกขึ้นภาษีถึง 54% ในสินค้าทุกประเภท อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจต่ำกว่า 3% หากจีนไม่สามารถหาตลาดอื่นๆ มาชดเชยได้ ภาคส่งออกเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญ คิดเป็นสัดส่วน 14% ของการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนปีนี้ งานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก และธนาคารโลก ล้วนบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การปรับเพิ่มภาษีนำเข้าเพื่อปกป้องทางการค้า มีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกมาก ภายใต้โครงสร้างการผลิตของโลกที่มีลักษณะเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก การขึ้นกำแพงภาษี นอกจากกระทบต่อการเติบโตของการค้า เศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ยังกระทบต่อการจ้างงานโดยรวม กระทบต่อผลิตภาพ รวมทั้งกดทับการสร้างมูลค่าของสินค้าและบริการต่างๆ การกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา อาจทำให้ดุลการค้าสหรัฐฯ ดีขึ้นในระยะสั้น ปกป้องอุตสาหกรรมและตลาดแรงงานภายในได้ระดับหนึ่ง แต่จะเกิดต้นทุนต่อเศรษฐกิจ โดยอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น อัตราการเติบโตในระยะยาวลดลงได้

รศ.ดร.อนุสรณ์ คาดว่า การชุมนุมประท้วงต่อนโยบายรัฐบาลทรัมป์ ความขัดแย้งทางนโยบายในทีมบริหารและที่ปรึกษา อาจทำให้มีการทบทวนนโยบายการกีดกันการค้าและนโยบายอื่นๆ ขณะที่ Elon Musk เสนอเขตการค้าเสรีสหรัฐ-ยุโรป ภาษี 0% ส่วน Peter Navaro ที่ปรึกษาการค้าของทรัมป์ ยังผลักดันให้เก็บภาษีตอบโต้ เศรษฐกิจถดถอยลง อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น จะสร้างแรงกดดันต่อการเดินหน้าต่อในการทำสงครามการค้าและการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าต่อประเทศต่างๆ อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นไปแตะ 3-4% อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจโตไม่ถึง 1% จนสร้างแรงกดดันทางการเมืองให้มีการทบทวนนโยบายได้ มูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ หายไป 5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ภายในสองวัน และมีแนวโน้มยังอยู่ในช่วงขาลงต่อไป


นอกจากกำแพงภาษีจากลัทธิกีดกันการค้า จะเกิดการเบี่ยงเบนทางการค้าแล้ว จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อย้ายฐานการผลิต การเก็บภาษีสินค้าไทยเพิ่มอีก 37% จากภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10% อาจทำให้สินค้าส่งออกสหรัฐฯ สูงสุด 5 อันดับแรกย้ายฐานการผลิต

ประกอบไปด้วย 1. คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ 3.7 แสนล้านบาท สัดส่วนมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ 19.23%) 2. โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ 1.6 แสนล้านบาท สัดส่วนมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ 8.45%) 3. อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ 4. หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ 5. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้า 15 รายการที่ส่งออกไปสหรัฐฯ สูงสุดส่วนใหญ่เป็นของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออก ยกเว้น ข้าว อาหารสัตว์ และเครื่องนุ่งห่ม แม้สินค้าหลายตัวผลิตโดยบรรษัทข้ามชาติ แต่โรงงานอยู่ในประเทศไทย เสียภาษีเงินได้ให้ไทย ย่อมกระทบต่อจีดีพีไทย กระทบต่อเศรษฐกิจไทย กระทบต่อการจ้างงานในประเทศ เมื่อการส่งออกเหล่านี้ลดลงอย่างมากจากกำแพงภาษี ย่อมส่งผลต่อกระแสรายได้ การขยายของการผลิตในประเทศ ปัญหาการย้ายฐานผลิตของบรรษัทข้ามชาติในไทยจะเร่งตัวขึ้น

หากประเทศอาเซียนอื่นๆ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หรือ มาเลเซีย สามารถรีบไปเจรจาต่อรองได้ก่อนและเจอกับภาษีนำเข้าต่ำกว่า การเปลี่ยนแปลงทิศทางทางการค้า (Trade Diversion) ที่ไม่ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการสูญเสียสวัสดิการสังคมโลกโดยรวม (Social Deadweight Loss) จะนำมาสู่อัตราเงินเฟ้อโลกสูงขึ้น โดยเฉพาะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา อาจสร้างแรงกดดันต่อการตัดสินใจในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐได้ การรักษาระบบการค้าเสรีของโลกต้องยึดถือระเบียบการค้าโลกที่ตกลงเอาไว้ เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศ หากระบบการค้าโลกไม่ขึ้นกับระเบียบ แต่ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองแบบไร้ระเบียบ ภายใต้ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ระยะยาวแล้วจะไม่มีใครได้ประโยชน์ มีโอกาสในการเกิดความขัดแย้งทางเศรษฐกิจขยายวงกว้าง นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนความขัดแย้งทางการทหารได้
 
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลขององค์การการค้าโลก (WTO) พบว่า มาตรการการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่การตั้งกำแพงภาษี ตั้งแต่ปี 2552-2567 มีจำนวนรวมมากกว่า 60,000 มาตรการ โดยเป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า 18,000 มาตรการ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของมาตรการการค้าที่ไม่ใช่กำแพงภาษีทั้งหมด แนวโน้มในปีหน้า การกีดกันทางการค้าโดยอ้างสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อม อาจเบาลงจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคโดนัล ทรัมป์ ที่ผ่านมา มาตรการการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers, NTB) ในด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีจำนวนมากที่สุด คือ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับมาตรการด้านเทคนิค (Technical barrier to Trade : TBT) ที่บังคับใช้แล้ว ประเทศคู่ค้าหลักของไทย ที่มีการใช้มาตรการ NTB มากที่สุด คือ สหภาพยุโรป  อันดับสอง คือ สหรัฐอเมริกา ขณะนี้สหรัฐฯ ยังไม่ได้นำเรื่อง NTB มาเป็นประเด็นในก่อสงครามทางการค้า.-515-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ผ่าไชน่า เรลเวย์ คว้า 3 โครงการรัฐในภูเก็ต

เหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม กลายเป็นปฐมบทในการปูพรมตรวจสอบบริษัท ไชน่า เรลเวย์ หลังพบเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการก่อสร้างตึก สตง. และโครงการรัฐหลายแห่งทั่วประเทศ ล่าสุดที่ จ.ภูเก็ต ตรวจพบ 3 โครงการ และหนึ่งในนั้นกำลังมีปัญหาก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน

มหาสงครามโลก

นักวิชาการชี้ “มหาสงครามโลกครั้งที่ 3” เกิดแน่ถ้าโลกยังตึงเครียด

นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศระดับแนวหน้าของไทย มีความเห็นตรงกันว่า หากผู้นำชาติมหาอำนาจไม่เร่งลดระดับความตึงเครียดสถานการณ์โลก

กู้ภัยนานาชาติ เครือข่าย USAR ถอนกำลังแล้ว

กู้ภัยนานาชาติ เครือข่าย USAR ถอนกำลังแล้ว หลังอยู่ปฏิบัติภารกิจค้นหา-กู้ชีพ สนับสนุนกู้ภัยไทย เหตุตึก สตง.ถล่ม กว่า 1 สัปดาห์

ธรรมชาติใต้ดินเปลี่ยนไป หลังแผ่นดินไหว 1 สัปดาห์

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งแรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ แม้บนพื้นผิวดินจะไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก แต่พบความเปลี่ยนแปลงสภาพใต้ดินจนเกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งหลุมยุบขนาดใหญ่ น้ำพุร้อนที่เคยพุ่งจากใต้ดินหายไป แต่น้ำตกที่แห้งในหน้าแล้งกลับมีน้ำไหลออกมา ซึ่งนักธรณีวิทยายืนยันเป็นผลพวงจากแผ่นดินไหวครั้งนี้

ข่าวแนะนำ

อุตุฯ เตือนไทยตอนบนมีพายุฝนฟ้าคะนอง-ลมกระโชกแรง

กรมอุตุฯ เตือนไทยตอนบนมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ส่วน กทม.-ปริมณฑล ฝนฟ้าคะนอง 40% กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

“ไฮโซกำมะลอ” กระโดดชั้น 3 สน.โคกคราม

“ไฮโซเก๊” โลก 2 ใบ เครียดปีนตึก หลังถูก “คะน้า” ดาราสาว ออกมาแฉกลางรายการดัง จนตำรวจต้องเข้าเกลี้ยกล่อมพาไปโรงพัก แต่ยังวิ่งหนีการควบคุม กระโดดลงมาจากชั้น 3 สน.โครกคราม บาดเจ็บ

วันที่ 11 ปฏิบัติการกู้ซากตึก สตง. ถล่ม

วันที่ 11 ของปฏิบัติการกู้ซากตึก สตง. พังถล่ม เจ้าหน้าที่เดินหน้าใช้เครื่องจักรหนักเข้า เคลียร์ซากต่อเนื่อง โดยเฉพาะโซนบี และซี ที่คาดว่าเป็นจุดที่มีผู้ติดค้างอยู่จำนวนมาก