กรุงเทพฯ 18 ก.พ.-คลังชูฐานะมั่นคง เตรียมพร้อมเข้าสู่งบสมดุล ในระยะยาว ยืนยันเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเต็มที่ กลับมาขยายตัวตามศักยภาพนับจากนี้
เมืองพัทยา 18 ก.พ.- นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เพื่อรักษาวินัยทางการเงิน การคลัง อย่างเคร่งครัด เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น กระทรวงคลังต้องพิจารณารายได้ รายจ่ายงบประมาณ ภาระหนี้สาธารณะในระยะปานกลาง เพื่อกลับมาพิจารณาการจัดทำงบประมาณแบบสมดุล คือ การทำงบประมาณเมื่อจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ให้เท่ากับรายจ่ายออกไป รัฐบาลได้เคยจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 40 แต่หลังจากนั้นมากว่า 20 ปี รัฐบาลยังไม่เคยจัดทำงบประมาณสมดุล เพราะต้องใช้เงินดูแลฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะนี้เรตติ้งของประเทศ ความมีเสถียรภาพทางการเงินของไทยสูงมาก นักลงทุนต่างชาติจึงเกิดความมั่นใจเข้ามาลงทุน การจัดทำงบประมาณแบบสมดุล จึงเป็นจังหวะเตรียมการได้ในระยะปานกลาง
โดยกระทรวงการคลังจะผลักดันผ่านแนวทางการขยายฐานภาษี เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรูปแบบใหม่ แต่ไม่ใช่เพิ่มอัตราภาษี โดยวันจันทร์นี้(19 ก.พ.) เตรียมเสนอร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีจากที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ติดกับทางด่วน รถไฟฟ้า ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อให้รัฐมนตรีคลังพิจารณา รวมทั้งการเดินหน้าเสนอร่างกฎหมาย จัดเก็บภาษี E-Commerce เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับการเสียภาษีของร้านค้าทั่วไปกับร้านค้าออนไลน์ และยังเดินหน้าออกฎหมาย E-Business เพิ่มเติมด้วย ขณะที่กรมสรรพสามิตเตรียมเสนอจัดเก็บภาษีทำลายสุขภาพ ภาษีทำลายสิ่งแวดล้อมและต้องการย้ำกับร้านค้าประชารัฐ ร้านธงฟ้า เมื่อร่วมติดตั้งเครื่องรูดบัตร EDC ซึ่งขณะนี้ เริ่มมียอดขายเพิ่มสูงขึ้นจากการซื้อสินค้าของผู้มีบัตรสวัสดิการ ซึ่งประเมินว่าแต่ละร้านจะมียอดขายเป็นเงินสูงกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี และทำให้เกิดความยุ่งยากในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทรวงคลัง จึงต้องออกทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการร้านค้า ว่า ไม่ต้องกลัวการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สรรพากรไม่ได้ตรวจสอบอะไรเข้มงวดเหมือนกับที่ผ่านมา รวมทั้งมาตรการจัดตั้งเมืองการค้าชายแดน (Border Trade City ) นำร่อง อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น การขยายฐานภาษีเหล่านี้คาดว่าจะทำให้รายได้สมดุลกับรายจ่ายมากขึ้นในอนาคต
นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรอง โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คาดว่า เศรษฐกิจไตรมาส 4 ของปี 60 จะเติบโตได้มากกว่าร้อยละ 4 เพราะหลายปัจจัยดีขึ้นหลายด้าน โดยเฉพาะการส่งออกขยายตัวร้อยละ 9.9 สูงสุดในรอบ 6 ปี รายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 12.2 ภาคเอกชนยื่นขอหักค่าเสื่อมราคา 1.5 เท่า จากมาตรการส่งเสริมการลงทุน 2.8 แสนล้านบาท อัตราเงินเฟ้อต่ำร้อยละ 0.7 ไม่เป็นอุปสรรค์ต่อการลงทุนภาคเอกชน นับว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว และเริ่มกลับมาขยายตัวตามศักยภาพ โดยกระทรวงคลังคาดว่า จีดีพีในปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.2 ซึ่งกระทรวงคลังยังไม่ใส่ปัจจัยการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีในโมเดลคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)เพราะช่วงนั้นกฎหมายยังไม่ผ่านการพิจารณาของสนช.
ทั้งนี้ ยอมรับว่าค่าเงินบาทผันผวนมากในช่วงนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2561 ค่าเงินบาทแข็งค่าร้อยละ 3.35 แข็งค่าสุด 31.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จึงต้องการให้ผู้ส่งออกติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในส่วนของกระทรวงการคลังพยายามลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ด้วยการชำระต้นเงินกู้ต่างประเทศของรัฐบาล แต่ยอดเงินกู้ไม่สูงนักประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจที่มีแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เร่งนำเข้าเครื่องมือ เครื่องจักร มาใช้ในการลงทุนเพราะใช้เงินบาทซื้อในราคาถูกลง ขณะที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)เดินหน้าให้บริการค้ำประกันความเสี่ยงจากการส่งออก กระทรวงคลังยังต้องการส่งเสริมให้นักลงทุนสถาบันขยายเพดานการลงทุนต่างประเทศ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม พิจารณาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อผลักดันเงินบาทออกไปลงทุนและซื้อสินค้านำเข้า-สำนักข่าวไทย