กรุงเทพฯ 28 พ.ค.- ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ เผยปี 2567 กองทุน CMDF มอบทุน 22 โครงการ เล็งดึง ตั้งกองทุนร่วมลงทุน (Matching Fund) ในกระดานเทรดใหม่ที่คาดว่าจะชัดเจนใน 3-4 เดือน ผจก.CMDF ระบุสิ้นปี 2567 มีเงิน 5.8 -5.9 พันล้านบาท เปิดแผน 68-69 มุ่งส่งเสริมโครงการ Jump+ และ TISA
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) กล่าวว่า CMDF มุ่งสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาระบบนิเวศของตลาดทุนไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการเงินการลงทุน พัฒนาศักยภาพบุคลากรในตลาดทุน และมีบทบาทในการสนับสนุนการผลักดันกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับแนวโน้มการดำเนินธุรกิจการเงินการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งยกระดับการทำวิจัยด้านตลาดทุนไทยเพื่อให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินการลงทุนในรูปแบบใหม่ ๆ มุ่งผลักดันให้ผลการวิจัยถูกนำไปใช้จริง โดยส่งต่อองค์ความรู้และข้อเสนอเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินงานหรือกำหนดแนวทางเชิงปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา CMDF ได้ให้ทุนสนับสนุนแก่ 22 โครงการ อาทิ การพัฒนาด้าน ESG การพัฒนาบุคลากรตลาดทุน และการส่งเสริมให้ประชาชนมี Investment literacy เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ นอกจากนี้ ยังได้ให้การสนับสนุนการศึกษาแนวทางการจัดทำนโยบายบัญชีการออมส่วนบุคคล (TISA) เพื่อวางรากฐานเชิงโครงสร้างด้านการออมที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว สะท้อนความมุ่งมั่นของ CMDF ในการเป็นกลไกขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยคณะกรรมการ CMDF เชื่อว่าการสนับสนุนทุนของ CMDF จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนไทยในหลากหลายมิติ เพื่อให้ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง
ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใน 3-4 เดือนนี้ จะมีความชัดเจนถึงความคืบหน้าของแผนการศึกษาการจัดตั้งกระดานซื้อขายหุ้นใหม่ สำหรับบริษัทเทคโนโลยี (New Economy) และบริษัทสตาร์ตอัพ (Startup) เหมือนโมเดลในต่างประเทศ โดยเร่งพิจารณาโมเดลจากทั้ง จีน, มุมไบ, เวียดนาม และสหรัฐฯ (New York Stock Exchange) รวมทั้งพิจารณากฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสียที่จะเกิดขึ้นด้วย มุ่งเป้ากลุ่มบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติหรือบริษัทต่างชาติที่เข้ามาขอสิทธิประโยชน์ BOI ในประเทศไทย และผลักดันบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการ Spin-Off บริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยี โดยไม่ต้องรอมีกำไร 3 ปี สามารถเข้ามาจดทะเบียนในกระดานใหม่นี้ได้เลย และพร้อมจะสนับสนุนในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม โดยต้องมีขั้นตอนและกฎเกณฑ์ที่เข้มข้น เพราะต้องการมุ่งหาบริษัทที่มีศักยภาพการเติบโตจริง ๆ ไม่ได้มุ่งเน้นในเชิงปริมาณทั้งนี้ เป็นไปได้ว่าอาจดึง CMDF ตั้งกองทุนการร่วมลงทุน (Matching Fund) มาลงทุนในบริษัทในกระดานเทรดใหม่ เพื่อนำร่องเป็นเจ้าภาพและสนับสนุนบริษัทใหญ่ ๆ เข้ามาลงทุนต่อไป ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้
นายจักรชัย บุญยะวัตร ผู้จัดการ CMDF เปิดเผยว่านับตั้งแต่กองทุน CMDF เริ่มดำเนินการขึ้นเมื่อปี 2563 มีเงินทุนตั้งต้น 5,700 ล้านบาท และได้รับเงินสนับสนุนนำส่งมาจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมาณ 90% ของกำไรในแต่ละปี ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้นปี 2567 กองทุน CMDF มีเงินที่บริหารจัดการอยู่รวมประมาณ 5,800-5,900 ล้านบาท โดยเงินก้อนนี้ถูกบริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) ซึ่งได้ผลตอบแทนอยู่ประมาณ 4-5% ต่อปี โดยตั้งแต่ปี 2563 – 2567 CMDF ได้อนุมัติโครงการรวม 153 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2,928 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ 83 โครงการ ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบนิเวศของตลาดทุนในด้านต่าง ๆ และสอดคล้องกับพันธกิจของ CMDF นอกจากการศึกษาแนวทางการจัดทำนโยบายบัญชีการออมส่วนบุคคล (TISA) แล้ว ในปี 2567 สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน (CMRI) ภายใต้ CMDF ยังได้สนับสนุนงานวิจัยอื่นที่หลากหลาย อาทิ แนวทางการบริหารเงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณอายุ การศึกษาเพื่อป้องกันปัญหาการฉ้อโกงในตลาดทุนและแนวทางการปกป้องนักลงทุน แนวทางการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย เป็นต้น ในด้านการพัฒนานักวิจัย มีโครงการสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ให้สนใจทำงานด้านตลาดทุนเพิ่มขึ้น (Researcher Pool) โดย CMDF ร่วมมือกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนทุนวิจัยในรูปแบบ Matching Fund ให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ด้านตลาดทุนที่เป็นบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาภายใต้สังกัดของกระทรวง อว.
สำหรับในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านี้เน้น 2 ภารกิจหลัก คือ สนับสนุนโครงการ Jump+ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งกองทุน CMDF จะเข้าไปสนับสนุนด้านเงินทุนและองค์ความรู้ เพื่อให้บริษัทเหล่านี้เพิ่มศักยภาพและเติบโตได้อย่างมั่นคง
และการส่งเสริม Financial Well-being ของคนไทย เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ด้านการออมการเงินการลงทุน และมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะมาเสริม เช่น การศึกษาเรื่อง Thailand Individual Saving Account (TISA) ซึ่ง CMDF สนับสนุนการวิจัยแล้วเสร็จและมอบผลการศึกษาให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สำนักงาน ก.ล.ต. และกระทรวงการคลัง นำไปพิจารณา เป้าหมายเพื่อให้คนไทยเข้าถึงการลงทุนระยะยาวได้ง่ายขึ้น และอาจช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้
ทั้งนี้ ผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา CMDF ได้ส่งเสริมการพัฒนาองค์กรกว่า 3,500 องค์กร พัฒนาบุคลากรในตลาดทุนรวมกว่า 15,000 คน ส่งเสริมการศึกษาสำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมทั้งที่เป็น Global และ Local Certificate รวมกว่า 940 ราย เผยแพร่และสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ มียอดเข้าถึงกว่า 80 ล้านครั้ง รวมถึงการเผยแพร่งานวิจัยผ่านเว็บไซต์ CMRI รวมกว่า 50 บทความ ยอดเข้าชมมากกว่า 17,300 ครั้ง เผยแพร่งานวิจัยผ่านหน่วยงานต่าง ๆ มากกว่า 600 เล่ม ให้แก่ 30 หน่วยงาน สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.cmdf.or.th/grant/result-announcement/.-516-สำนักข่าวไทย