กรุงเทพฯ 23 พ.ค. – เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.80-32.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (09.56 น.) ใกล้เคียงกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.83 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังจากที่แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน ครึ่งวานนี้ที่ 32.54 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทอ่อนค่าลง ด้าน รมว.พาณิชย์ เรียกร้อง ธปท.ดูแล ”บาท” อ่อนค่า
นส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เงินบาทอ่อนค่าลง วันนี้กลับมาเคลื่อนไหวในกรอบแคบสอดคล้องกับแรงเทขายทำกำไรทองคำในตลาดโลกที่ทำให้ราคาทองคำ Gold Spot กลับมาอยู่ต่ำกว่าแนว 3,300 ดอลลาร์ฯ/ออนซ์ นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาค่อนข้างดี อาทิ ดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือน พ.ค. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ หนุนเงินดอลลาร์ฯ ให้ฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ดี Sentiment ในภาพรวมของเงินดอลลาร์ฯ ยังคงเปราะบาง และตลาดยังคงให้ความสนใจกับประเด็นเรื่องแนวโน้มฐานะการคลังที่อ่อนแอของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 32.70-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก สถานะฟันด์โฟลว์ต่างชาติ ประเด็นสงครามการค้า และสถานการณ์ของร่างกฎหมายปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลของสหรัฐฯ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และตัวเลขยอดขายบ้านใหม่เดือน เม.ย. ของสหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาทได้ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามการรีบาวด์สูงขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับจังหวะการย่อตัวลงของราคาทองคำ รวมถึงการส่งสัญญาณจากนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่อยากให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เหมาะสมอย่าง 36.00-37.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยการอ่อนค่าของเงินบาทก็ดูจำกัดลงแถวโซนแนวต้านแรก 32.95-33.00 บาทต่อดอลลาร์
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว หลังสภาผู้แทนฯ ของสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมายภาษีและงบประมาณรายจ่าย ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังมีความกังวลต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ
ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่าสภาผู้แทนฯ ของสหรัฐฯ จะสามารถผ่านร่าง “Fiscal Bill” ได้สำเร็จ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ทว่าการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงบอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่างบอนด์ยีลด์ 30 ปี ในช่วงที่ผ่านมา ยังคงสามารถดึงดูดความสนใจของผู้เล่นในตลาดได้บ้าง ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถทยอยย่อตัวลงบ้างจากโซนเหนือระดับ 4.60% สู่โซน 4.53% อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังเสี่ยงผันผวนสูงได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดมีความกังวลต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ มากขึ้น ทว่า เราคงย้ำมุมมองเดิมว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ก็จะเปิดโอกาสในการทยอยเข้าซื้อสะสม (Buy on Dip) ได้. -511- สำนักข่าวไทย