กรุงเทพฯ 31 มี.ค.- “แผ่นดินไหว” กระเทือนตลาดทุน กลุ่มอสังหา-แบงก์ถูกเทขาย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินกระทบจีดีพีราว 0.06% หรือ 2 หมื่นล้านบาท ท่องเที่ยว ประกัน กระทบไปด้วย รัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่น คาดกระทบระยะสั้น
SET ปิดวันนี้ 1,158.09 จุด ลดลง 17.36 จุด มูลค่าซื้อขาย 40,260.73 ล้านบาท ปรับลงจากปัจจัยต่างประเทศที่กังวลสงครามการค้าที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐเตรียมประกาศภาษีตอบโต้ในวันที่ 2 เม.ย. และเผชิญแรงขายออกมามากในกลุ่มแบงก์และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อที่ 28 มี.ค. 68
ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเหตุแผ่นดินไหว คาดเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท หรือกระทบ GDP -0.06% หลักๆ มาจากการหยุดชะงักหรือเลื่อนออกไปของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงกำลังซื้อที่อาจลดลง เพราะธุรกิจและครัวเรือนต้องโยกกระแสเงินสด/รายได้ไปใช้เพื่อการตรวจสอบความเสียหายและซ่อมแซมอาคาร และ หากรวมความเสียหายต่ออาคาร ทรัพย์สิน การทรุดตัว/การสั่นสะเทือนของอาคารบางแห่งเพิ่มเติม รวมถึงการซ่อมแซมและการเคลมประกันหลังจากนี้ ผลกระทบจะมากกว่านี้
แม้การซ่อมแซมความเสียหายและความต้องการในการหาที่พักสำรอง จะทำให้การก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ที่พักแนวราบ ได้รับอานิสงส์ แต่ผลกระทบด้านลบคงจะมีต่อยอดขายและการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจช้าลงในบางโครงการ และตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะสั้นตามความเชื่อมั่นต่อการเดินทางและการหาที่พัก ซึ่งโรงแรมในกรุงเทพฯส่วนใหญ่ก็เป็นอาคารสูง
ผลต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์ มองว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน คงช่วยประคองภาพสินเชื่อรวม ขณะที่ ประเด็นติดตามจะอยู่ที่ 1) คุณภาพหนี้ โดยเฉพาะหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 2) การไถ่ถอนหุ้นกู้ของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในระยะที่เหลือของปีนี้ และ 3) ผลจากการลดดอกเบี้ยในประเทศ หากเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการชะลอตัวที่ชัดเจนขึ้น อันจะกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบแบงก์ไทยเพิ่มเติม
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ขณะนี้อาจยังเร็วเกินไปที่จะประเมินตัวเลขผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งภาพการนำเสนอข่าวแผ่นดินไหว ตึกถล่ม ที่อาจดูรุนแรงอาจะกระทบต่อความกังวลของนักท่องเที่ยวอาจจะมีการชะลอ หรือยกเลิกการจองตั๋วเครื่องบิน-ที่พักไปก่อน แต่ต้องติดตามดูว่าเรื่องความเชื่อมั่นจะกลับมาได้เร็วขนาดไหน และอาจะมีผลให้การบริโภคชะลอตัวลงในระยะสั้น เนื่องจากประชาชนจะนำเงินไปใช้สำหรับการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย แม้บางส่วนจะมีสภาพคล่องที่ได้รับกลับคืนมาจากการเคลมประกัน รวมทั้งมาตรการจากภาครัฐที่เข้ามาช่วยเหลือก็ตาม
นอกจากนี้จะกระทบต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะตึกสูง เช่น คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ที่ได้รับผลกระทบจากความกังวลของประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะของการชะลอการเช่าและการซื้ออาคารสูง
ส่วนเหตุแผ่นดินไหวจะทำให้ประสิทธิผลของการผ่อนคลายมาตรการ LTV (สินเชื่อซื้อบ้านหลังที่2 ขึ้นไป )ในรอบล่าสุดต้องลดน้อยลงไปหรือไม่นั้น นายสักกะภพ ระบุว่า มาตรการผ่อนคลาย LTV ที่ออกไป ไม่ได้คาดหวังว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจมากอยู่แล้ว แต่เป็นเพียงการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ ที่มีปัญหาอุปทานคงค้างในระดับสูง
ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะมีผลทำให้ต้องใช้การผ่อนคลายนโยบายการเงิน ด้วยการลดดอกเบี้ยหรือไม่ นายสักกะภพ มองว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)รอบ วันที่ 30 เม.ย. จะมีการนำไปประมวลผลกระทบ หลังจาก รอบล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.พ.68 ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ซึ่งที่ประชุม ก็ได้ให้น้ำหนัก ความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ยอมรับว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหว มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่กระทบเพียงเล็กน้อยและในระยะสั้นเท่านั้น โดยหลังจากนี้ ทุกภาคส่วนต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นที่เป็นรูปธรรม ส่วนจะต้องมีการใช้งบประมาณในการดูแลให้ความช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหนนั้น คงต้องรอประเมินผลกระทบก่อน แต่เบื้องต้นคาดว่าจะไม่สูงมาก ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือออกมาอย่างต่อเนื่อง
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบ แต่เชื่อว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น จะเป็นเพียงเหตุการณ์ระยะสั้นเท่านั้น พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีความเข็มแข็ง และรัฐบาลยังเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ตัวเลข GDP ปีนี้ขยายตัวได้ถึง 3% โดยหลังจากนี้ทุกภาคส่วนต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างเร็วที่สุด
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ และระดมทุกสรรพกำลัง สร้างความเชื่อมั่น อัปเดตสถานการณ์ เผยแพร่สื่อสารให้สังคมไทย และโลกรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง ขณะเดียวกัน เรื่องระบบแจ้งเตือนภัยเเป็นเรื่องสำคัญ แม้แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่คาดการณ์ก่อนไม่ได้ แต่ถ้ามีการสร้างการรับมือ การสื่อสารได้ดีก็เป็นเรื่องที่ทุกคนจะเชื่อมั่น ส่วนผลกระทบด้านท่องเที่ยว มากน้อยแค่ไหนทั้งหมดอยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่นของรัฐ ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนมั่นใจ -511 สำนักข่าวไทย