กรุงเทพฯ 25 ก.ย.-เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนแนะนักลงทุนหน้าใหม่ควรศึกษารายละเอียดก่อนเข้าลงทุน โดยเฉพาะต้องระวังการเข้าใจผิด เพราะชีวิตอาจเปลี่ยนไปสู่ความย่ำแย่ได้
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า การลงทุนมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงควบคู่กัน การไม่ลงทุนเลยเป็นการปิดโอกาสของอนาคตที่น่าเสียดายแต่ต้องไม่มั่นใจเกินความจริง เพราะโอกาสทายผิดเกิดขึ้นได้ในบางครั้ง โดยหลายปีที่ผ่านมา การที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารต่ำเตี้ยเรี่ยดินเพียง 0.50-1.50% เป็นเวลานาน มีผลทำให้เกิดผู้สนใจเข้าลงทุนในสินทรัพย์เพื่อการลงทุน ทั้งหุ้น ทอง กองทุน หุ้นกู้ หรือแม้กระทั่งคริปโท กันอย่างมากมาย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี ที่คนไทยได้หาทางออกในการออมเงินรูปแบบที่มากกว่าการฝากธนาคารเพียงอย่างเดียว โดยมีข้อมูลสถิติ และมีเหตุผลทางวิชาการสนับสนุนอย่างหนักแน่นว่า สินทรัพย์เพื่อการลงทุนนั้นมีผลตอบแทนระยะยาวดีกว่าเงินฝากแต่ก็มีความเสี่ยงที่สูงกว่าสอดคล้องกัน
สำหรับหลักการในการลงทุนต่างๆ เช่น ความรู้ในสินทรัพย์ที่ลงทุน การกระจายความเสี่ยงการลงทุน ความรู้ทางการวิเคราะห์ เทคนิคและกลยุทธ์การลงทุน คุณผู้อ่านน่าจะเคยเห็น เคยฟังกันมามากพอสมควร บทความวันนี้ ผมจะขอจับบางประเด็นของการลงทุนที่ต้องระวังการเข้าใจผิด เพราะชีวิตอาจเปลี่ยนไปสู่ความย่ำแย่ได้ มีประเด็นดังนี้ คือ
เรื่องของหุ้น หลายท่านรู้ว่า ให้ใช้หลักการกระจายการลงทุน จึงกระจายไปในหลายหุ้นแล้ว แต่ว่าหลายหุ้นนั้นเป็นธุรกิจประเภทเดียวกันหมดเลย เวลาธุรกิจนั้นแย่ จึงเเย่ไปทั้งหมด เช่นลงหุ้นเกี่ยวกับท่องเที่ยวทั้งหมด แล้วมาเจอภาวะโควิดอย่างยาวนาน ที่จริงต้องกระจายหุ้นไปในหลายธุรกิจ (ที่เลือกแล้วว่าแนวโน้มธุรกิจดี)
เลือกหุ้นที่มี Volume ซื้อขายเยอะ แสดงว่าหุ้นดีมีคนเข้าซื้อเยอะ อันนี้จริงบางส่วน แต่มีหลายหุ้นที่ไม่จริงนะครับ โดยเฉพาะหุ้นที่ผลการดำเนินงานปัจจุบันยังไม่เคยมีแววดีเลย มีแต่ข่าวและการแสดงวิสัยทัศน์ที่น่าตะลึงพรึงเพริด กรณีนี้นอกจากวิธีต้องไปตรวจจากงบการเงิน ดูกำไร และ Cashflow แล้ว ผมแนะให้ไปดูว่ามีบทวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐาน(IAA Consensus) ใน www.settrade.com หรือไม่นะครับ ปกติแล้ว แม้ว่านักวิเคราะห์ไม่ค่อยเขียนหุ้นขนาดกลางถึงเล็กเพราะไม่มีกำลังคนมากพอ แต่ถ้าเป็นหุ้นที่มีการซื้อขายมากและเป็นบริษัทดี นักวิเคราะห์ไม่ทิ้งให้เหงาแน่ ต้องมีคนเข้าไปวิเคราะห์ไว้มากมาย ดังนั้น ถ้าไม่มีเลย หรือมีแค่ 1-2 ราย ทั้งๆ ที่มี Volume มากแบบนี้ โปรดไตร่ตรองให้ดีครับ
ตลาดล่วงหน้าเปิดโอกาสให้ทำกำไรทั้งขาขึ้นและขาลง กรณีนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ท่านที่มีวิทยายุทธ์ที่ดีที่จะทายทิศทางให้ถูก จึงต้องเข้าใจตรงกันครับว่า ถ้าทายผิดก็ต้องขาดทุนครับ จึงไม่ควรทุ่มหนักตรงนี้เพราะเข้าใจว่าคงกำไรดีทั้งตอนขาขึ้นและขาลง
ทองคำ ตามรายงานข่าวมักเห็นคำว่า ทองคำเป็น Safe Haven หลายคนเลยเข้าใจว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยไม่เสี่ยงอันนี้ต้องเรียนว่า ตามสถิติเห็นได้ชัดเจนว่าทองคำเป็นสินทรัพย์เสี่ยงที่มีราคาขึ้นลงรุนแรงพอสมควร สถิติรายปี บางครั้งขึ้น 7-8 ปีต่อเนื่อง รวมแล้วหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่รอบที่ลงก็แย่ยาวไป 3-5 ปี รวมขาลง ร่วม 30-40% ทีเดียวแต่เฉลี่ยแล้วก็นับว่าให้กำไรระยะยาว เฉลี่ยปีละ 6% ดังนั้น แม้พวกเรารวมถึงผมด้วย จะสนใจลงทุนทองคำแต่ต้องเข้าใจตรงกันว่า เป็นของเสี่ยง มีโอกาสที่จะลงมากเป็นบางจังหวะครับ สรุปแล้วทองคำแม้จะน่าสนใจ แต่ไม่ควรทุ่มหมดหน้าตัก ควรกระจายเงินไปในสินทรัพย์การเงินอื่นๆด้วย
หลายคนฟังมาว่า หุ้นกู้เสี่ยงน้อยกว่าหุ้นสามัญ ดังนั้นถ้าไม่อยากเสี่ยงมาก ก็เล่นหุ้นกู้ ประเด็นนี้เป็นจริงในกรณีที่เป็นหลักการกว้างๆ โดยเฉลี่ย และเป็นจริงแน่ในกรณีเป็นหุ้นกู้เทียบกับหุ้นสามัญของบริษัทเดียวกันหรือระดับความเสี่ยงเท่ากัน แต่เนื่องจากหุ้นกู้นั้นมีหลายบริษัทเป็นผู้ออก จึงมีระดับความเสี่ยงแตกต่างกันมาก บางบริษัทมีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) สูง หรือค่อนข้างสูง ระดับ Investment Grade จึงสามารถให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่บางบริษัทก็มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า Investment Grade ซึ่งจัดเป็น Speculative-grade Bond บางทีก็เรียกชื่อที่บาดใจว่า Junk Bond นอกจากนั้น บางหุ้นกู้ที่ขาย ถึงขั้นไม่มีการประกาศอันดับความน่าเชื่อถือเลย แบบนี้ต้องใช้ความระมัดระวังมาก
แม้จะตั้งอัตราดอกเบี้ยให้สูงลิบลิ่ว 6-7 % ต่อปี ก็ไม่ได้แปลว่าน่าสนใจที่สุดเพราะได้ดอกเบี้ยมากที่สุด รวมทั้งอย่านึกไปว่ายังเสี่ยงน้อยกว่าเล่นหุ้น เพราะในเหตุการณ์จริงมีหุ้นกู้บางบริษัทที่ไม่สามารถจ่ายเงินคืนให้เห็น ขณะที่หุ้นสามัญของบริษัทชั้นดีในตลาด ก็ยังมีความแข็งแรงทางผลดำเนินงานและฐานะการเงิน ในระยะยาวถ้าราคาลงก็ยังมีโอกาสขึ้นไปใหม่ จ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ ถ้าอยากจะขายหุ้นสามัญชั้นดีก็สะดวกสบายขายได้ทันที ดูแล้วน่าสนใจกว่าไปลง Junk Bond ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีแบบนี้ครับ
คำว่าถ้าไม่ขายก็ไม่ขาดทุน ประเด็นนี้ น่าจะเป็นคำสอนที่พาลงเหวไปก็มากนะครับ เพราะคำนี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อหุ้นที่ถือมีธุรกิจที่ดี ยังไม่มีสถานการณ์วิกฤติทางธุรกิจหรือภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในทางแย่ลงรุนแรง ในความจริงนั้น ถ้าราคาหุ้นลงก็ต้องยอมรับความจริงว่ากำลังขาดทุน ส่วนจะสู้ต่อหรือมอบตัวแค่ตรงนี้ ก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง ดังนั้น ในกรณีหุ้นที่เราถืออยู่เกิดวิกฤติทางธุรกิจ หรือวิกฤติความน่าเชื่อถือ ถ้าไม่ขายก็หายนะได้เลยนะครับ
เข้าหุ้นตามคุณ ABC ดีกว่า เขาเคยเล่นได้กำไรหลายร้อยเปอร์เซ็นต์จนรวยแล้ว ไม่น่าจะพลาด ประเด็นนี้ ก็ไม่ควรมั่นใจสุดขีดขนาดนั้นครับ เพราะผลกำไรในอดีตไม่ได้รับประกันว่าจะได้เหมือนกันในอนาคต รวมทั้งคนที่เคยกำไรมากๆ บางกรณีนั้นอาจมาจากเล่นแบบใจถึงแล้วเดาถูกก็มี นอกจากนั้น เราก็น่าจะเคยเห็นการไปเล่นตามคนที่เคยกำไรดี พอครั้งหน้าเราทุ่มตามอย่างมั่นใจก็ขาดทุนเลยก็มี ดังนั้น เราอาจต้องไปดูก่อนว่า คุณ ABC มีหลักการเหตุผล วิธีการเลือกหุ้นลงทุนที่ดีน่าศึกษาเรียนรู้หรือไม่ ถ้าใช่ เราก็ลองศึกษาเรียนรู้ตามแนวทางที่เขาทำ และถ้ามีบทวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐานของนักวิเคราะห์ให้ดู ก็เอามาพิจารณาความสมเหตุสมผลประกอบ สุดท้ายเราเป็นผู้ไตร่ตรองตัดสินใจเองตามข้อมูล ดีกว่าเล่นตามคนอื่นเเบบไม่ดูเนื้อหานะครับ
อย่างไรก็ตาม สุดท้าย การลงทุนมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงควบคู่กัน การไม่ลงทุนเลยเป็นการปิดโอกาสของอนาคตที่น่าเสียดาย แต่ต้องไม่มั่นใจเกินความจริง เพราะโอกาสทายผิดเกิดขึ้นได้ในบางครั้ง .-สำนักข่าวไทย