กรุงเทพฯ 24 ก.ค. – ตลท.จับมือพันธมิตรภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ รวม 11 หน่วยงาน ประกาศเจตนารมณ์ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” แลกเปลี่ยนข้อมูล-ตรวจสอบ-ชี้เป้าข่าวปลอม ขณะที่ FETCO เตรียมเสนอเอาผิดแพลตฟอร์มออนไลน์รับลงโฆษณาจากมิจฉาชีพ ด้าน ดีอีเอสรับลูกเตรียมหารือ ขณะที่ “วิกรม” รับทุกข์ใจ ถูกใช้ชื่อ-ภาพ แอบอ้างบ่อยจนรู้สึกเสมือนเป็นผู้ต้องหา
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จับมือพันธมิตรภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ได้แก่ก.ล.ต.สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ประกาศเจตนารมณ์ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” แลกเปลี่ยนข้อมูล ตรวจสอบและชี้เป้าข่าวปลอม พร้อมรณรงค์เตือนตอกย้ำประชาชนสร้างภูมิคุ้มกันด้วยสติ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหลอกลงทุน พร้อมจัดเสวนา “รู้ทันหลอกลงทุน ด้วยภูมิคุ้มกันความลวง” Ffp,uวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์เพื่อหาทางออกในการจับปลอมหลอกลงทุน ได้แก่ นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส), นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน, นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย, นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน, และ นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ ตลท.
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันปัญหามิจฉาชีพชักชวนลงทุนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมีเป็นจำนวนมาก มีการแอบอ้างองค์กร ชื่อ ภาพ ผู้บริหารของหลายหน่วยงาน ร่วมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ หลอกลวงให้มาลงทุน สร้างความเสียหายแก่ประชาชน ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง โดยสถิติย้อนหลังช่วง 16 เดือน (1 มี.ค.2565-28 มิ.ย.2566) พบว่าคดีอาชญกรรมออนไลน์ “หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์สูงเป็นอันดับ 4 แต่มูลค่าความเสียหายสูงที่สุดกว่า 11,500 ล้านบาท ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะแพลตฟอร์มการลงทุนของประเทศ จึงร่วมกับหน่วยงานภาคตลาดทุนริเริ่มโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” โดยในเฟสแรก จะร่วมกันสื่อสารโดยตีแผ่ข้อเท็จจริง ชี้เป้าข่าวเท็จควบคู่ไปกับการให้ความรู้สร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ลงทุนและประชาชนไม่ให้เป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ผ่านช่องทางของพันธมิตรและสื่อในหลากหลายรูปแบบที่เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง และในเฟสถัดไปจะมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งภาคตลาดทุนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนากระบวนการในการจับปลอมหลอกลงทุนได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่ากลโกงหลอกให้ลงทุนทางออนไลน์เป็นหนึ่งในภัยคุกคามซึ่งสร้างความเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก โดยมักแอบอ้างชื่อหรือโลโก้ของ ก.ล.ต. หน่วยงาน บริษัท รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในภาคตลาดทุน ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งนี้ ก.ล.ต. ตระหนักถึงปัญหาของภัยหลอกลวงที่ขยายวงกว้างมากขึ้นในปัจจุบันและที่ผ่านมา ได้ดำเนินการในหลายมิติเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนและประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เพียงพอและสามารถปกป้องตนเองจากภัยดังกล่าว โดย ก.ล.ต. มีความยินดีอย่างยิ่งกับการริเริ่มโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันป้องปรามการหลอกลงทุน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ปัญหามิจฉาชีพหลอกลงทุนเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ การแก้ไขปัญหาและการป้องกันไม่สามารถจัดการได้โดยบุคคลหรือองค์กรที่ถูกแอบอ้างโดยลำพังหรือเป็นปัญหาขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องทำทั้งกระบวนการตั้งแต่การป้องปรามและปราบปรามไปพร้อมกัน การที่องค์กรต่าง ๆ ในตลาดทุนและภาครัฐ ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการช่วยกันแก้ไขปัญหา ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทย มี 3 แนวคิด เตรียมเสนอเพื่อร่วมแก่ปัญหา ได้แก่ ให้มีการเอาผิดแพลตฟอร์มออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ที่รับลงโฆษณาให้กับกลุ่มมิจฉาชีพที่มีเนื้อหาในการแอบอ้างชื่อบุคคล องค์กร มาหลอกลงทุน โดยต้องมีการพูดคุยกับกระทรวงดีอีและตำรวจ สอท. ว่าหากยังรับเงินโฆษณา ถือว่าสมรู้ร่วมคิดในการกระทำความผิด, ควรมีการให้สินบนนำจับ เพื่อสร้างเครือข่าย มีประชาชนช่วยเป้นหูเป็นตา และพัฒนาระบบเอไอในตลาดทุน เพื่อนำข้อมู,มาประมวลผลเอนำมาใช้แจ้งเตือนได้
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้น ของความร่วมือในอีกหลายๆเรื่องให้ขยายวงมากขึ้น ซึ่งทาง ดีอีเอส จะมีการเร่งผลักดัน ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อเตือนภัย โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์โซเชียลมีเดีย ที่มิจฉาชีพไปซื้อโฆษณา ส่วนการจะเอาผิดแพลตฟอร์ม ต้องมีการพูดคุยกันเพื่อเติมในรายละเอียด ทั้งการหาตัวผู้ที่ซื้อโฆษณา รวมทั้งเตือนไปยังเจ้าของแฟลตฟอร์มถึงการรับซื้อโฆษณาจากมิจฉาชีพว่าข้ความลักษณะไหนเข้าข่ายการหลอกลวง และหากพิสูจน์ได้ว่ายังจงใจรับซื้อโฆษณา ตัวแพลตฟอร์มก็จะมีความผิดฐานสมรู้ร่วมคิดสนับสนุนให้เกิดการฉ้อโกง
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่าสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงผลกระทบจากภัยทางการเงิน และการหลอกลงทุน โดยเฉพาะ “แชร์ลูกโซ่” ที่แฝงมาในชื่อ “การออม” หรือ “การลงทุน” สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจร้ายแรง จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการป้องกันภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการป้องกัน เช่น ยกเลิกส่ง SMS อีเมลล์ แนบลิงก์ แจ้งเตือนผู้ใช้บริการ Mobile Banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง สแกนใบหน้ายืนยันตัวตนก่อนโอนเงินเกิน 5 หมื่นบาทขึ้นไปต่อครั้ง หรือ ยอดโอนสะสมครบทุก 2 แสนบาทต่อวันต่อบัญชี หรือ ปรับเพิ่มวงเงินโอนตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป มาตรการตรวจจับและติดตาม พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทุจริตในภาคธนาคาร (Central Fraud Registry) เพื่อตรวจสอบธุรกรรมต้องสงสัยและบัญชีม้าช่วยป้องกันและจำกัดความเสียหายได้เร็วขึ้น และมาตรการตอบสนองและรับมือ โดยจัดให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน(Hotline) 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน เพื่อจัดการปัญหาให้ผู้เสียหายได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างเกราะป้องกันภัย ด้วย “การให้ความรู้ทางการเงิน” กับประชาชนทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม การป้องกันภัยต้อง “เริ่มต้นที่ตัวเรา” ประชาชนต้องหมั่นเช็กข้อมูลธุรกรรมการเงินของตัวเองสม่ำเสมอ วิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้านทุกครั้งก่อนลงทุน ติดตามข่าวสารภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อรู้เท่าทันกลโกง ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
นางสาวอังคณา เทพประเสริฐวังศา เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า บริษัทจดทะเบียนถูกมิจฉาชีพนำไปแอบอ้างในการหลอกลงทุน สร้างความเสียหายแก่ประชาชนที่หลงเชื่อ ขณะเดียวกัน บริษัทจดทะเบียนก็นับเป็นผู้เสียหายเช่นกัน โดยเฉพาะในเชิงความน่าเชื่อถือ สมาคมฯ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและจะสื่อสารไปยังบริษัทจดทะเบียนให้ร่วมรณรงค์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย
นายวิรัฐ สุขชัย นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ กล่าวว่า จากสถานการณ์มิจฉาชีพหลอกลงทุนในปัจจุบัน ด้านผู้ประกอบการที่ถูกแอบอ้างไปหลอกเงินจากประชาชน ต้องมีแนวทางป้องกันไม่ให้ใครมาแอบอ้างโดยประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบ รวมถึงดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องปกป้องเงินของตนเองไม่ให้ใครมาหลอกลวง โดยสังเกตข้อพิรุธต่าง ๆ จากการโฆษณาชวนเชื่อสัญญาผลตอบแทนที่ไม่มีทางเป็นไปได้ ซึ่งสมาคมฯ จะร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทั้งบริษัทจดทะเบียนและประชาชนทั่วไปเพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากภัยหลอกลงทุนดังกล่าว
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่าปัจจุบันประชาชนมีความสนใจเรียนรู้และลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อเป้าหมายทางการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องดีเพียงแต่ต้องเลือกลงทุนอย่างระมัดระวัง เนื่องจากในโลกออนไลน์โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีมิจฉาชีพแฝงตัวอยู่จำนวนมาก ประชาชนต้องพิจารณาว่าเป็นบริษัทที่มีการรับรองอย่างถูกต้องรวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลและผลตอบแทนที่เชิญชวนว่าน่าเชื่อหรือไม่ โดยสมาคมฯ และบริษัทหลักทรัพย์จะร่วมสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ต่อเนื่อง
นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่าปัจจุบันมีการโฆษณาเชิญชวนหลอกให้มาลงทุนในกองทุนรวมจำนวนมากโดยให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งการโฆษณาดังกล่าวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทจัดการลงทุนแต่อย่างใด โดยผู้ประกอบธุรกิจการจัดการลงทุนต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานก.ล.ต. เท่านั้น และการโฆษณาเชิญชวนให้คนมาลงทุนในกองทุนรวมต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด ดังนั้นประชาชนผู้พบเห็นโฆษณาหลอกลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ ไม่ว่าจะแอบอ้างบริษัทหรือผู้บริหารท่านใด อย่าได้หลงเชื่อเป็นอันขาด
นายชนันต์ ชาญชัยณรงค์ ผู้จัดการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) กล่าวว่าหนึ่งในพันธกิจสำคัญของCMDF คือการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุน การลงทุน และการพัฒนาตลาดทุนให้แก่ผู้ลงทุนและประชาชน โดย CMDF สนับสนุนทุนในโครงการให้ความรู้ประชาชนผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบที่เข้าถึงประชาชนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งโครงการเกี่ยวกับการเสริมภูมิคุ้มกันในเรื่องหลอกลงทุนแก่ประชาชนในวงกว้างที่จะเริ่มเผยแพร่ในเร็วๆ นี้
นายวิกรม ประธานกรรมการ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน กล่าวว่าในฐานะที่ถูกมิจฉาชีพแอบอ้างนำชื่อและรูปภาพของตนไปใช้ ยอมรับว่ารู้สึกทุกข์ใจเสมือนตนเองเป็นผู้ต้องหา เนื่องจากผู้เสียหายยอมลงทุนเพราะเชื่อมันในตัวเรา ความมีชื่อเสียงถูกนำไปเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพในการการหลอกลวงลงุทน ปีที่ผ่านมามีการประสานจับกุมไปแล้ว 50 ราย ส่วนปีนี้ ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีการจับกุมไปแล้ว 5 ราย แม้จะยังไม่มีตัวเลขความเสียหายที่แน่ชัด แต่คาดว่ามูลค่าความเสียหายน่าจะหลายร้อยล้านบาท เสียหายสูงสุดต่อรายเกือบ 1 ล้านบาท พร้อมย้ำว่า บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน มีการลงทุนที่เดียวคือในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เคยมีการลงทุนที่อื่นหรือในนามส่วนตัวใดๆ ทั้งนี้ ความร่วมมือในโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ยอมรับว่าการแก้ปัญหาทำได้ยากหากกฏหมายยังไม่เด็ดขาด จึงอยากให้ดูแนวทางจากประเทศที่ทำสำเร็จ เช่น จีน มีประชากรจำนวนมาก แต่พบปัญหาหลอกลวงออนไลน์น้อย เพราะมีกฏหมายจัดการลงโทษจริงจัง ส่วนอีกแนวทางคือการประสานความร่วมมือกับประเทศต้นทางที่เกิดมิจฉาชีพ เช่น ไต้หวัน เชื่อว่าถ้าทำควบคู่กันทั้งกฏหมาย และความร่วมมือน่าจะเห็นผล
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” เช็ก ชี้ แฉ หากพบเห็นการเชิญชวนลงทุนโดยให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงภายในระยะเวลาสั้น ๆ หรือแอบอ้างองค์กรและบุคคลที่มีชื่อเสียง อย่าเพิ่งหลงเชื่อร่วมลงทุน และตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ โดยโปรดสอบถามที่องค์กรที่ถูกอ้างถึงโดยตรง หรือตรวจสอบรายชื่อบุคคล ผู้ประกอบธุรกิจหรือบริการทางการเงินว่าได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล.-สำนักข่าวไทย