เมืองทองธานี 4 พ.ย.-ขุนคลัง เผยแบงก์รัฐช่วยตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานสุด ย้ำ งานมหกรรมแก้หนี้ ช่วยหาทางออกเติมทุน ช่วยฟื้นกิจการ ขณะที่สมาคมธนาคาร ยอมรับ 1 ม.ค.66 ส่ง เงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ กระบทต้นทุนแบงก์ทั้งระบบ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากเฟดได้ปรับเพิ่มดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ได้ขอให้แบงก์รัฐช่วยกันตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด แต่ในช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย ต่างต้องการเงินทุนไปใช้ปรับปรุง กิจการเพื่อรองรับออร์เดอร์ หากเป็นร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ต้องเงินทุนปรับปรุงร้าน เมื่อรายย่อยมางานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ จะพบหลากหลายผลิตภัณฑ์ของแบงก์รัฐ เงื่อนไขผ่อนปรน เพื่อนำทุนใหม่ไปฟื้นฟูกิจการ สำหรับรายย่อย หากเป็นหนี้ปกติ แต่กำลังจะกลายเป็นหนี้เสีย ขาดการผ่อนชำระในบางงวด งานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ จะช่วยหาทางออกให้กับลูกค้าแบงก์รัฐ
สำหรับการนำส่งเงินเข้ากองทุนแบงก์รัฐ ในช่วงสิ้นปี 2565 มาตรการปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) เหลือร้อยละ 0.125 ต่อปี จากเดิม ร้อยละ 0.25 ต่อปี จะสิ้นสุดลงสิ้นปีนั้น กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณา เพราะเป็นการนำส่งเข้ากองทุนจากฐานเงินฝาก ยอมรับว่าแบงก์รัฐ ต้องบริหารอย่างระมัดระวัง เนื่องจาก ยอดหนี้ NPL ทั้งของระบบร้อยละ 3.74 เป็นหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ร้อยละ 3 หรือประมาณ 5.2 แสนล้านบาท หนี้เสียของแบงก์รัฐร้อยละ 5 มูลหนี้ 3 แสนล้านบาท นับว่าสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ จึงต้องเข้มงวดในการแก้ปัญหาหนี้ NPL แบงก์ชาติได้กำชับมาโดยตลอด เมื่อยังรับนโยบายของรัฐในการพักหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ส่งผลต่อฐานะการเงินในรอบบัญชีถัดไป จึงต้องดูแลแบงก์รัฐให้มีความเข้มแข็ง
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ ต้องตรึงดอกเบี้ยเงินฝาก ด้วยเช่นกัน หากตรึงเป็นเวลานาน จะมีปัญหาสภาพคล่องไหลออก ธนาคารทุกแห่งจะดูแลตามฐานโครงสร้างเงินฝาก เงินกู้ของแต่ละแห่ง เมื่อถึง 1 ม.ค.66 จะเริ่มกลายเป็นต้นทุนของระบบ เพราะธนาคารทุกแห่งต้องส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯตามฐานเงินฝาก
หลังจาก ธปท. ประกาศปรับอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับสู่ระดับปกติที่ร้อยละ 0.46 ต่อปี เริ่มตั้งแต่ต้น 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป จากเดิมเคยปรับลดลงเหลือร้อยละ 0.23 ต่อปี เพื่อลดต้นทุนให้แบงก์ช่วยเหลือลูกหนี้ จากปัญหาโควิด-19 การปรับเพิ่มเงินนำส่งเข้ากองทุน เหมือนกับการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายทางอ้อมร้อยละ 0.5 จึงกระทบทั้งระบบ ทั้งเงินฝากและเงินกู้ของแบงก์ ยอมรับว่า กองทุนฟื้นฟูฯ จำเป็นต้องชำระหนี้ ตั้งแต่สมัยวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง.-สำนักข่าวไทย