กรุงเทพฯ 18 พ.ค. – กรมปศุสัตว์ ย้ำร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนการลักลอบนำ “หมูเถื่อน” ส่งขายตามร้านค้า แหล่งจำหน่าย หรือสถานที่ตัดแต่งใด หากพบจะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ระบุห่วงประชาชน แนะเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากผู้ผลิตมาตรฐาน สังเกตตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” เพิ่มความมั่นใจ ได้บริโภคเนื้อหมูของไทยที่ผลิตได้มาตรฐานและปลอดภัย
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์เร่งขยายผลปราบปรามขบวนการลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” อย่างจริงและต่อเนื่อง โดยขณะนี้กำลังสืบสวนสอบสวนว่า มีการลักลอบนำหมูเถื่อนส่งขายตามร้านค้า แหล่งจำหน่าย หรือสถานที่ตัดแต่งใด โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าติดตามไปจนถึงสถานที่ดังกล่าว หากตรวจสอบพบว่า เนื้อสุกรเหล่านั้นไม่มีแหล่งที่มา หรือมาจากการลักลอบนำเข้า จะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด จึงขอเตือนผู้ที่ลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน หรือผู้ที่สนับสนุนโดยการซื้อและนำมาจำหน่ายให้ผู้บริโภค ขอให้หยุดการกระทำในทันที
ทั้งนี้ “หมูเถื่อน” เป็นเนื้อสุกรลักลอบนำเข้าที่ไม่ได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัย ผู้บริโภคจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสารปนเปื้อน นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการนำโรคระบาดเข้ามาในประเทศไทย โดยโรคระบาดที่สำคัญ ได้แก่ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) และโรคปากเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease : FMD) ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยและเสี่ยงต่อความปลอดภัยในอาหารของผู้บริโภค
สำหรับผู้บริโภค แนะนำให้เลือกซื้อเนื้อสุกรจากสถานที่หรือแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือและมั่นใจได้ว่าไม่มีการนำ “หมูเถื่อน” มาจำหน่าย กรมปศุสัตว์ดำเนินโครงการ “ปศุสัตว์ OK” เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นโครงการที่รับรองว่า เนื้อสุกรหรือเนื้อสัตว์ที่จำหน่ายมีความปลอดภัยได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ว่ามาจากฟาร์มเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน และมาจากโรงชำแหละที่ถูกสุขอนามัย โดยให้สังเกตตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ที่ช่วยตอกย้ำความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่า ได้บริโภคเนื้อหมูของไทยที่ผลิตได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยอย่างแน่นอน
ส่วนธุรกิจบริการอาหาร (Food Service) ขอให้ตรวจสอบว่า เนื้อสุกรเหล่านั้นมาจากแหล่งผลิตในประเทศหรือเป็นเนื้อสุกรที่มาจากการลักลอบนำเข้า หากมีเบาะแสว่า เนื้อสุกรที่ซื้อมาเพื่อใช้สำหรับนำไปตัดแต่งหรือนำไปแปรรูปเพื่อให้ประชาชนบริโภค อาจไม่ใช่เนื้อสุกรในประเทศ ขอให้แจ้งผ่านช่องทางของกรมปศุสัตว์ ที่สายด่วนแจ้งโรคระบาดกรมปศุสัตว์ call center 063-225-6888 หรือแอปพลิเคชัน DLD4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” โดยเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามา จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและรายงานผลให้ผู้ร้องเรียนทราบว่าได้รับการแก้ไขหรือไม่ด้วย.-สำนักข่าวไทย