พรรคเพื่อไทย 2 ส.ค.-“จักรพล” ระบุ แผน การตลาดท่องเที่ยวไทยปี66 ยังมีช่องโหว่ แนะ 3 แนวทางพัฒนา ชี้อนาคตอย่าหวังพึ่งแต่นักท่องเที่ยวแดนไกล ต้องเน้นพึ่งพาตัวเองและศักยภาพเพื่อนบ้าน
นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ รองเลขาธิการและคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทำแผนการตลาดปี 2566 พร้อมเตรียมผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย 4 กลยุทธ์ และตั้งเป้าว่าจะดันรายได้การท่องเที่ยวปี 2566 รวม 2.38 ล้านล้านบาท ว่า เป็นเรื่องที่ดี แต่ยังมีช่องโหว่ของกลยุทธ์ดังกล่าวทั้งหมด 3 ช่องโหว่ คือ ช่องโหว่ที่ 1 คือ แผนการดำเนินการที่ไม่ชัด เห็นได้ว่ากลยุทธ์ทั้ง 4 ตัวนั้นขาดการวางแผนการดำเนินการที่ไม่รัดกุมและไม่รอบคอบ เช่น กลยุทธ์สร้างประสบการณ์การเดินทางที่มีความหมายและทรงคุณค่าให้กับนักท่องเที่ยว ทางรัฐบาลจะสร้างประสบการณ์นี้ได้อย่างไร ในเมื่อรัฐบาลยังตัดสินใจผิดพลาดในหลายๆเรื่องและหลาย ๆ ครั้ง และรัฐมักปล่อยให้ภาคเอกชนต้องเดินฝ่าอุปสรรคด้วยตนเองตลอดมา
“ช่องโหว่ที่ 2 คือ รัฐอาจจะแพ้ภัยตัวเอง จากผลการจัดอันดับพบว่า กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ประเทศไทย ติด 10 อันดับประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในฤดูร้อนประจำ ปี 2565 แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลทำผิดพลาดหลายครั้งทำให้เกิดการระบาดของโควิดมากกว่า 5 ระลอก และการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าทำให้ประเทศต้องฟื้นตัวช้ากว่ากำหนด และหากรัฐบาลยังหลงตัวเองคิดว่าตัวเองยังอยู่หัวคะแนนของตารางการท่องเที่ยวอยู่แบบนี้ ยิ่งทำให้รัฐบาลเพิกเฉยต่อธุรกิจการท่องเที่ยวไทยหรือไม่ การแพ้ภัยตัวเองนี้อาจจะนำไปสู่พิษเศรษฐกิจทางการท่องเที่ยวของไทยได้” นายจักรพล กล่าว
นายจักรพล กล่าวว่า ช่องโหว่ที่ 3 คือบาดแผลทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยหายไป จากที่ตนมีส่วนร่วมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพร้อมเสนอบาดแผลทั้ง 5 ประกอบด้วย 1.การว่างงานในระยะยาวอาจปรับตัวสูงสุดแตะได้ถึง 1.7 แสนคน 2.ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีการปรับตัวลดลง 3.ดัชนีความสุขของคนในประเทศไทยลดลงจากอันดับจากที่ 34 ให้ลงมาถึงอันดับที่ 46 4.จำนวนนักท่องเที่ยว ในปี 65 อาจจะหายไปถึง 33 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 63 และ 5.บาดแผลที่ 5 รายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่หายไปไปมากกว่า 3.5 ล้านล้านบาท และรัฐบาลยังสร้างบาดแผลเพิ่มจากแผนและกลยุทธ์การท่องเที่ยวที่เพ้อฝันอีก เป็นการทำลายฝันของธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์แบบ
นายจักรพล เสนอ 3 กลไกที่จะถูกผลักดันโดยเครื่องยนตร์ตัวที่ 5 คือ เครื่องยนต์ทางดิจิทัล ดังนี้ กลไกที่ 1 พัฒนากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Economic Cooperation: GMS) ด้วยการผลักดันสินค้า Soft power ไทยที่โดดเด่น เช่น เช่น เนื้อสัตว์แช่แข็ง ยางพารา ผลไม้สด ผลไม้แปรรูป เป็นต้น ผ่าน Platform และ E – Commerce ในความร่วมมือระหว่างประเทศ สนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารด้วย Covid Safety Food ผลักดันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาทิ การท่องเที่ยว 5 เชียง การท่องเที่ยวถนน R3A R3B ทางอากาศ ทางรางและทางเรือ พร้อมยกระดับ Logistics เพื่อสนับสนุน Supply Chain ทางอาหารและอื่นๆอย่างเป็นระบบ และรีบดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
“กลไกที่ 2 กรอบความร่วมมือแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (IMT-GT : Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) ด้วยการผลักดัน Supply Chain ทั้ง 6 เส้นทาง (EC1-EC6) โดยชูจุดเด่นของสินค้าไทย เช่น ยางพารา อาหารทะเล ไม้ยางแปรรูป ปาล์มน้ำมัน อาหารทะเลแปรรูป และผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย พร้อมทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม และมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น ชิโนโปรตุกีส นายจักรพลยังกล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมสนับสนุน Digital Platform ที่ทำให้ ผู้ประกอบการไทยและภาครัฐไทยพร้อมก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างจริง โดยมีกองทุนพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นกองทุนที่เข้าถึงง่าย ดอกเบี้ยต่ำ และยืดหยุ่นสูง” นายจักรพล กล่าว
นายจักรพล กล่าวว่า กลไกที่ 3 การเพิ่มขีดจำกัดของการแข่งขันในพื้นที่ ประกอบด้วย 1.การกำหนดสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน 2.การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนและนวัตกรรมสาหรับผู้ประกอบกิจการทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น SMEs และ Micro SMEs รวมถึงธุรกิจ Startup และ 3.การสนับสนุนการลงทุน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่นำร่องการพัฒนากับโครงข่าย หลักโดยรอบเพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุน โดยเน้นการใช้และเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่ เพื่อเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนกลไกที่ 1 และ 2 หากได้ดำเนินนโยบายดังกล่าวเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวและการส่งออกในเขตเศรษฐกิจซึ่งนำไปสู่รายได้ในพื้นที่ขั้นต่ำ 23 ล้านล้านบาท
“นี่คือกรอบวิสัยทัศน์ของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยในอนาคต ที่จะไม่ได้พึ่งพาแต่นักท่องเที่ยวแดนไกลแต่จะเป็นการพึ่งพาตัวเองและศักยภาพของเพื่อนบ้านที่พร้อมพัฒนาไปด้วยกัน แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่เคยให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ และยังสร้างความล้มเหลวด้วยการตัดสินใจที่ไม่มีข้อมูลนำไปสู่ความผิดพลาด และไร้ซึ่งจริยธรรมในการบริหารประเทศ ในฐานะที่ผมเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาระเบียงเศรษฐกิจที่ได้ศึกษาและดูงานทั้งหมด ได้เห็นโอกาสที่หลุดลอย ถูกทำให้เคว้งคว้าง ไร้จุดหมาย และแผนการที่ดำเนินการอยู่ก็ดูยากที่จะไปถึง ทั้งหมดนี้ไม่ควรเป็นคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้นำเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและคนทั้งประเทศ แต่ก็เป็นข่าวดีของประเทศไทยเพราะเวลาที่ตกต่ำที่สุดของประเทศไทยใกล้จบลงแล้ว พรรคเพื่อไทยพร้อมนำประเทศไทยกลับมาสู่ยุคแห่งความรุ่งเรืองของประเทศอีกครั้ง ได้เวลานับถอยหลังของพล.อ.ประยุทธ์ แล้ว” นายจักรพล กล่าว.-สำนักข่าวไทย