รัฐสภา 21 ก.ค.-“จิราพร” เปิดเอกสารลับ อสส. เสนอยกเลิกใช้ ม.44 กรณีสั่งยกเลิกเหมืองทองอัครา ชี้หากแพ้คดีอาจเสียค่าโง่ถึง 3 หมื่นล้านบาท
น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในประเด็นเหมืองทองอัครา ว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีใช้ ม.44 ปิดเหมืองทองอัครา บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ได้ขอเจรจาไกล่เกลี่ยกับประเทศไทย และหากไม่คืบหน้าจะนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ต่อมากระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักอัยการสูงสุด มีความเห็นว่า ควรเจรจากับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด เพื่อระงับข้อพิพาท เพราะไทยมีโอกาสแพ้คดีเหมืองทองอัคราสูงและมีโอกาสชดเชยความเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้เสนอความเห็นให้นายกรัฐมนตรีและ ครม.รับทราบ แต่นายกรัฐมนตรีเพิกเฉยไม่รับฟังความเห็นของหน่วยงาน จนทำให้ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ดฟ้องประเทศไทย ในวันที่ 2 พ.ย. 60
น.ส.จิราพร ยังกล่าวว่า มีบุคคลลึกลับ 2 คน คนแรกเป็นระดับรองนายกรัฐมนตรี มีความรู้ด้านกฎหมาย คนที่สองเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ขณะนี้ย้ายไปเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งทั้งสองจะคอยรับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี เพื่อครอบงำการทำงานของคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทย-คิงส์เกต
น.ส.จิราพร ยังได้เปิดเอกสารลับจากสำนักงานอัยการสูงสุด ในเอกสาร ระบุว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาและคณะทำงานชุดต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน ไม่สามารถสรุปได้ว่า การทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนในพื้นที่ และการตรวจสอบข้อเท็จจริงสุขภาพของประชาชนของกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ระดับโลหะหนักและสารเคมีจากตัวอย่าง เกิดจากการปนเปื้อนเหมืองทองคำของบริษัทอัครา ซึ่งข้อเท็จจริงของเอกสารฉบับนี้สอดคล้องกับหนังสือของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้รายงานข้อพิพาทไปยัง ครม. 19 ต.ค. 62 ที่ระบุว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น ทางอัยการสูงสุดจึงมีข้อเสนอให้ยกเลิกการใช้มาตรา 44 และคืนสิทธิให้กับเหมืองทองอัครา พร้อมกับชดเชย เยียวยา หรือตัวเงินอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การขยายระเวลาใบอนุญาตต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
“ในท้ายหนังสือของอัยการสูงสุด ได้เสนอให้ใช้วิธีการให้ พลเอกประยุทธ์ หัวหน้าคณะรัฐประหารในขณะนั้น ใช้อำนาจที่มีอยู่ ยกเลิกคำสั่ง คสช.ซึ่งจะทำให้หยุดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ในทันที” น.ส.จิราพร กล่าว
น.ส.จิราพร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นหนังสือฉบับนี้หรือไม่ ถ้าหากเคยเห็นแล้ว เหตุใดจึงไม่ฟังคำทัดทานจากอัยการสูงสุด จนเกิดความเสียหายกับประเทศ
“แม้ยังไม่มีคำชี้ขาดจากอนุญาโตตุลาการ แต่ในขณะนี้มีความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว โดยมีค่าใช้จ่ายดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ปีงบฯ 60-64 จำนวน 731 ล้านบาท ค่าภาคหลวงที่จัดเก็บไม่ได้ ตั้งแต่ปี 60-ปัจจุบัน ราว 3,000 ล้านบาท และหากในอนาคตไทยแพ้คดี ไทยต้องชดใช้ค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 720 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 3 หมื่นล้านบาท” น.ส.จิราพร กล่าว.-สำนักข่าวไทย