กรุงเทพฯ 20 ก.ค. – กระทรวงคมนาคมยืนยันโครงข่ายแผนแม่บท MR–Map ประเทศ มีความจำเป็น เพื่อเตรียมพร้อมประเทศ นำ “มอเตอร์เวย์-รถไฟ” อยู่ในรั้วเดียวกัน
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวชี้แจงประเด็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนถึงกรอบแนวคิดในการจัดทำแผนแม่บท MR-Map ของกระทรวงคมนาคมในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลนั้นว่า กระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า การทำ MR-MAP ยังไม่ได้มีการลงทุน แต่โครงการนี้ต้องทำเพื่อเตรียมพร้อมประเทศ โดยจะมีการวางกรอบไว้ 3 แนวทาง คือ 1.เพื่อแก้ปัญหาของประเทศในระบบคมนาคมขนส่งที่มีมาในอดีต ที่มีการพัฒนาถนนเข้าไปสู่ชุมชน ทำให้เกิดการปะปนกันของรถบรรทุกขนาดใหญ่เพื่อการขนส่ง และรถส่วนบุคคลที่สัญจรในเมือง ทำให้เกิดอุบัติเหตุ และเกิดการพังเสียหายของถนนที่รัฐจะต้องเสียงบประมาณซ่อมบำรุงเป็นจำนวนมาก 2. เพื่อเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบเชื่อมภูมิภาคในอนาคต เพื่อให้ประเทศไทยที่มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง และ 3. เพื่อเป็นการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกต้องแก่ประเทศไทยอย่างเป็นระบบ เป็นทั้งการแก้ปัญหาอดีต และ ป้องกันปัญหาในอนาคต
อย่างไรก็ตามแผนแม่บท MR-Map นั้นเป็นการวางแผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมของประเทศ จะพัฒนาตามดีมานด์ที่เกิดขึ้น โดยจะต้องวางแผนพร้อมกัน เพื่อจะได้ลดความซ้ำซ้อนของโครงการ แต่ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างพร้อมกัน ซึ่งจะเน้นให้ลดการลงทุนของภาครัฐให้เหลือแต่เฉพาะค่าเวนคืนที่ดิน และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาเส้นทางถนนมอเตอร์เวย์ พัฒนาเส้นทางรถไฟ และพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบๆ โครงการ MR-Map
สำหรับตัวอย่างโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาตามกรอบแผนแม่บท MR-Map ได้แก่ โครงการ Landbridge ที่รัฐบาลจะไม่ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินภาษีของประชาชน แต่จะทำการศึกษาเชิง Concept ทางธุรกิจและ การออกแบบในกรอบที่เรียกว่า Definitive Design ให้มีข้อมูลเพียงพอก่อนที่จะออกเชิญชวน Roadshow ให้กลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุนผู้ประกอบการ ด้าน Logistics ทั้งในและต่างประเทศระดับโลก ให้เห็นถึงโอกาส เพื่อเชิญชวนมาเป็นผู้ลงทุนทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารธุรกิจการขนส่งโลจิสติกส์ของโครงการ
ซึ่งรวมถึงการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่หลังท่าเรือ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านอื่นๆ รวมไปถึงศึกษาวางรูปแบบการพัฒนาเชิงธุรกิจ เช่น ศูนย์กลางการบริการธุรกิจ ศูนย์กลางการค้า และศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนและนักธุรกิจ รวมถึงสายเดินเรือต่างๆ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ มาประกอบกิจการในประเทศไทย โดยรูปแบบการลงทุนโครงการจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ที่เปิดโอกาสให้ทั้งนักลงทุนไทย และนักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมกันพัฒนาโครงการ ทั้งนี้โครงการ MR-Map มีการดำเนินการทั่วไปในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา และเยอรมัน .-สำนักข่าวไทย