กรุงเทพฯ 23 มิ.ย.-แบงก์รัฐจับมือกระทรวงดิจิทัลฯ มุ่งดูแลข้อมูลลูกค้าแบงก์ รองรับสังคมค้าขาย ชำระสินค้าออนไลน์
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “PDPA กับเศรษฐกิจดิจิทัลและภาคการเงิน” ในงานสัมมนา “PDPA เศรษฐกิจดิจิทัลและสถาบันการเงิน” ว่า หลังจาก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) มีผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2565 รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการผลักดันกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จึงต้องกำกับดูแลการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลขององค์กรต่างๆ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เมื่อสังคมยุคใหม่มีคนใช้โมบายแบงก์กิ้งสูงมากอันดับต้นๆ ของโลก เพื่อโอนเงินผ่านออนไลน์ ชำระค่าสินค้า สถาบันการเงินและภาครัฐจึงต้องดูแลปรับปรุงระบบ คนซื้อได้สินค้า คนขายได้รับชำระเงิน จึงต้องดูแลข้อมูลลูกค้าไม่ให้ถูกส่งต่อนำไปใช้ประโยชน์ สถาบันการเงินต้องรับผิดชอบ
ภาครัฐจึงต้องออกกฎหมายควบคุมดูแล ไม่ให้นำข้อมูลไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง รวมถึงข้อมูลอ่อนไหวส่วนบุคคลต้องให้การดูแล วันนี้ต้องสร้างการรับรู้ เมื่อข้อมูลลูกค้าอยู่กับแบงก์ต้องจัดเก็บให้ดี หากทิ้งต้องทำลายให้เรียบร้อย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และหากมีปัญหาการชำระเงินออนไลน์ หรือถูกหลอกลวง ร้องเรียนผ่านสายด่วน 1212 หรือแจ้งความผ่านออนไลน์กับตำรวจสายด่วน 1414 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน โดยไม่คุมเข้มเรื่องข้อมูล PDPA มากเกินไป เพื่อให้รายย่อยปรับตัว แต่ต้องร่วมกันดูแลข้อมูลลูกค้า
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า ธอส. และสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง ต่างให้ความสำคัญกับกฎหมายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งด้านการเก็บรวบรวม การใช้ควบคุม หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล จึงร่วมมือสร้างความเข้าใจกับลูกค้าในการนำข้อมูลมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย แบงก์รัฐมีลูกค้า 40 ล้านราย นับเป็นกลุ่มรายย่อยที่ไม่เข้มแข็งมาก จึงต้องดูแลไม่ให้ข้อมูลลูกค้ารั่วไหล ที่ผ่านมา ธ.กรุงไทย ให้บริการผ่านแอปฯ เป๋าตัง ทำให้ลูกค้าใช้บริการออนไลน์คล่องมากขึ้น ดังนั้น หากธนาคารจะให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพิ่มเติม อาจต้องให้ลูกค้าทำการยืนยัน เพื่อยินยอมการใช้ข้อมูลในการให้บริการด้านต่างๆ เพิ่มเติม.-สำนักข่าวไทย