รัฐสภา วันนี้ (20 มิ.ย.) “กรณ์” จี้ “จุรินทร์” ใช้อำนาจควบคุมราคากลั่นน้ำมัน เชื่อช่วยประชาชนได้ถึง 4 บาทต่อลิตร แนะรัฐออก พ.ร.ก.ควบคุมราคาการกลั่น อย่าตกลงปากเปล่า ไร้กฎหมายควบคุม ท้า “สุพัฒนพงษ์” เปิดข้อมูลปัจจุบัน หลังออกมาโต้ราคากลั่นแค่ 3 บาทต่อลิตร ซัดกลับถ้าโรงกลั่นไม่ได้กำไรมหาศาล คงไม่ยอมจ่าย 2 หมื่นล้านง่ายขนาดนี้
นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า แถลงนำเสนอแนวทางที่จะทำให้ราคาน้ำมันหน้าปั๊มลดลงได้ลิตรละ 4 บาทว่า จากการตรวจสอบ พบว่าทั้งก๊าซปิโตรเลียมเหลวและน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นหนึ่งในสินค้าควบคุมตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2564 แต่กลับไม่ปรากฏมาตรการที่จะออกมาควบคุมตามกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องค่ากลั่นน้ำมัน จึงเรียกร้องให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ใช้อำนาจโดยตรงในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร.ควบคุมราคาน้ำมัน ซึ่งมองว่าหากใช้อำนาจดังกล่าวทันที คนไทยจะได้ใช้น้ำมันลดลงถึง 4 บาทต่อลิตร ภายในสัปดาห์นี้
นายกรณ์ ยังเปิดเผยว่า อัตราค่าการกลั่นในปี 2565 เพิ่มขึ้นทุกเดือน โดย 3 เดือนแรก ปรับเพิ่มเฉลี่ย 1.91 บาทต่อลิตร สร้างกำไรให้โรงกลั่นถึง 28,000 ล้านบาท และปัจจุบันค่าการกลั่นขยับสูงขึ้นเกือบ 6 บาทแล้ว ดังนั้น หากนำส่วนต่างของค่าการกลั่นไปลดราคาน้ำมันหน้าปั๊ม จะทำให้สามารถช่วยเหลือประชาชน ประหยัดเงินลงได้ 4 บาทต่อลิตร
ส่วนกรณีที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมายืนยันว่าค่าการกลั่นแค่ 3 บาทต่อลิตร ไม่ใช่ 8 บาทตามที่นายกรณ์ออกมาเปิดเผยนั้น นายกรณ์ระบุว่าข้อมูลที่ตนนำมาคำนวณก็ได้จากกระทรวงพลังงานและบริษัท ปตท. ในการคิดคำนวณ ซึ่งเชื่อถือได้ ส่วนสูตรการคำนวณคือ ราคาน้ำมันสำเร็จรูป – ราคาน้ำมันดิบ ซึ่งจะเท่ากับ ค่าการกลั่น ดังนั้น สิ่งที่นายสุพัฒนพงษ์บอกว่าลิตรละ 3 บาท ถือเป็นเพียงค่าเฉลี่ยของ 5 เดือนแรกของปีนี้เท่านั้น ไม่ใช่ข้อมูลปัจจุบัน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หากกำไรของโรงกลั่นไม่มากพอ คงไม่กล้าคืนเงิน กว่า 2 หมื่นล้านบาทเข้ากองทุนน้ำมันทันที
นายกรณ์ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องค่ากลั่น ด้วยการออกเป็นพระราชกำหนดลดค่าภาระน้ำมันแพงให้ประชาชน เพื่อวางหลักเกณฑ์เรื่องของค่าการกลั่นให้ชัดเจนและโปร่งใส ภายใต้กติกาและมีหลักธรรมาภิบาล ที่สำคัญจะได้รองรับปัญหาความยืดเยื้อของวิกฤตพลังงานที่อาจยาวนานเกิน 3 เดือน แต่หากไม่มีการออกเป็นข้อกฎหมาย ก็จะเป็นเพียงสัญญาปากเปล่าที่ไม่มีอะไรเชื่อถือได้.- สำนักข่าวไทย