กรุงเทพฯ 6 มิ.ย. – หน.ศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาฯ เตือนเฝ้าระวังและสกัดโรคฝีดาษวานรเข้มข้น ป้องกันแพร่เชื้อสู่คนไทย พร้อมเผยพบเชื้อกลายพันธุ์กว่า 40 ตำแหน่ง พบมากกลุ่มชายรักชาย 60% มีผื่นตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศ
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาฯ กล่าวว่า โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตระกูล orthopox ค้นพบครั้งแรกมีการติดเชื้อสู่คนจากการถูกลิงกัด ในปี ค.ศ. 1970 เป็นที่มาของชื่อโรคฝีดาษลิง การติดเชื้อไวรัส Monkeypox สามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือการรับประทานเนื้อสัตว์ตระกูลสัตว์ฟันแทะอื่นได้ด้วย เช่น กระรอก และหนู เป็นต้น หากมีการติดเชื้อในคนก่อให้เกิดอาการไข้ มีผื่นตุ่มน้ำ ตุ่มตามร่างกาย คล้ายโรคฝีดาษ smallpox ซึ่งถูกประกาศว่ากำจัดไปได้แล้วตั้งแต่ ค.ศ. 1968 เชื่อยาต้านไวรัส และวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ smalpox สามารถใช้รักษา และป้องกันโรค Monkeypox ได้ด้วยเช่นกัน
Monkeypox ยังคงพบได้ประปรายเป็นระยะ และพบว่ามีการระบาดสูงขึ้นเป็นครั้งคราว โดยมีถิ่นประจำอยู่ในแถบแอฟริกาตอนกลางและตะวันตก พบว่ามีอัตราผู้ติดเชื้อเสียชีวิตเฉลี่ย 3-6% การพบการติดเชื้อในผู้ป่วยที่อยู่นอกถิ่นแอฟริกา จึงนับว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากหากไม่มีการวินิจฉัยถูกต้องอย่างทันท่วงทีอาจนำไปสู่การแพร่กระจายเชื้อระหว่างคนสู่คนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง จากการเดินทางข้ามทวีปในปัจจุบันที่สะดวก
สำหรับการระบาดในยุโรป เมื่อเดือน พ.ค.2022 พบมีผู้ยืนยันการติดเชื้อที่มีประวัติเดินทางกลับจากไนจีเรีย จากนั้นเชื่อว่ามีการแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากไวรัสมีระยะฟักตัวนานถึง 21 วัน และบางรายพบว่ามีอาการผื่นตุ่มน้ำ เกิดขึ้นเพียงเยื่อบุช่องปาก หรืออวัยวะเพศ ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่าตัวเองป่วยเป็น Monkeypox ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อต่อไปยังผู้อื่นได้ง่าย จึงทำให้มีรายงานผู้ป่วยยืนยันมากกว่า 500 ราย กระจายทั่วโลก กว่า 20 ประเทศในยุโรปและกว่า 10 รัฐในสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนที่ผ่านมา และล่าสุดพบมีผู้ติดเชื้อแล้วเกือบ 1,000 คน ส่วนใหญ่พบในอเมริกา อังกฤษ โปรตุเกส แคนาดา และพบมากในกลุ่มชายรักชาย ซึ่งอัตราการติดเชื้อ 60% มักจะมีตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศ คนไข้ส่วนใหญ่คิดว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาเข้ารับการตรวจ จึงพบว่าติดเชื้อฝีดาษวานร จึงต้องเฝ้าระวังอาการเหล่านี้เป็นพิเศษด้วย
ผศ.นพ.โอภาส เปิดเผยอีกว่า ข้อมูลทางการแพทย์ พบว่าเชื้อไวรัส Monkeypox มีการกลายพันธุ์กว่า 40 ตำแหน่ง โดยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่าการกลายพันธุ์ดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวเนื่องทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นด้วยหรือไม่ แต่สิ่งที่พบ คือ อัตราการกลายพันธุ์เกิดขึ้นเร็วกว่าธรรมชาติ ซึ่งองค์การอนามัยโลกเน้นให้เห็นความสำคัญของการคัดกรอง และเฝ้าระวังอาการของโรคเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันยังไม่มีความจำเป็นต้องให้วัคซีน smallpx ในวงกว้าง เนื่องจากการติดเชื้อผ่านการสัมผัสใกล้ชิดเป็นหลัก จึงไม่ได้ติดเชื้อง่าย หากมีการแจ้งเตือนผู้ป่วยสงสัยอย่างรวดเร็ว ก็สามารถป้องกันและควบคุมโรคได้
ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องให้ความสำคัญของการคัดกรอง และแยกโรคเมื่อพบผู้ป่วยสงสัย พร้อมกับมีความรู้ความสามารถในการเก็บสิ่งส่งตรวจที่ถูกต้องเพื่อนำไปสู่กระบวนการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการที่ปลอดภัย โดยสำหรับวิธีตรวจปัจจุบันสามารถใช้วิธี RT -PCR และการถอดรหัสสารพันธุกรรมในการยืนยันโรค Monkeypox และในอนาคตหากมีพบผู้ป่วยในประเทศไทย การรักษายังคงเป็นการรักษาตามอาการ เนื่องจากโรคสามารถหายเองโดยส่วนใหญ่ แต่ควรมีการเฝ้าระวังและคัดกรองอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่พบมีการติดเชื้อมาก
ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี นักวิจัยประจำศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวา ฝีดาษวานรเป็นโรคอุบัติซ้ำที่มีข้อมูลทางการแพทย์อยู่แล้ว และมีความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยโรค ตอนนี้แลปของทางจุฬฯ ช่วยตรวจคอนเฟิร์มหาเชื้อกับแลปของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ควบคู่กันไป
สำหรับสิ่งส่งตรวจที่ใช้ มีทั้งการสะกิดแผลเก็บเชื้อจากตุ่มที่ขึ้น การตรวจเลือด และการสวอปจากลำคอและช่องจมูก คล้ายกับการตรวจหาเชื้อโควิด ซึ่งระหว่างนี้องค์การอนามัยโลกกำลังจะประชุม เพื่อหาข้อสรุปว่า ควรต้องเก็บเชื้อจากส่วนไหนถึงจะได้เชื้อมากที่สุด เพื่อความแม่นจำต่อการวินิจฉัย และสะดวกต่อคนไข้พร้อมย้ำว่าคนไทยยังไม่ต้องกังวลหรือระแวงสัตว์จนเกินเหตุ ว่าจะนำเชื้อมาแพร่สู่คน เนื่องจากกระรอกเป็นพาหะ ก็ต้องเป็นกระรอกที่อยู่ในแอฟริกา หากไม่มีการนำเข้ามาในไทย ก็จะไม่เกิดการแพร่เชื้อ ส่วนลิง ทางกรมอุทยานฯ และจุฬาฯ มีการตรวจหาเชื้ออย่างสม่ำเสมอ ตอนนี้ยังไม่พบมีการติดเชื้อฝีดาษวานรแต่อย่างใด.-สำนักข่าวไทย