กรุงเทพฯ 23 พ.ค. – นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยระบุ การนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ 1.2 ล้านตันยังคงมีอุปสรรคจากประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการนำเข้า ทั้งยังมีอำนาจอนุญาตนำเข้าด้วย จากองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการ เชื่อว่า อาจไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าเลย จึงทำหนังสือทวงถามรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ แต่ยังไม่ได้คำตอบ
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้ความเห็นต่อประกาศของกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับผ่อนปรนมาตรการนำเข้าวัตถุดิบได้แก่ ระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิชำระภาษีตามพันธกรณีตามความตกลงการเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564 ถึงปี 2566 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 และระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตให้นำข้าวสาลีเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565 รวมทั้งคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน (ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์)
สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเห็นว่า ระเบียบทั้ง 2 ฉบับกำหนดให้คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทนเป็นผู้พิจารณาการนำเข้าซึ่งขัดแย้งกับ คำสั่งประกาศแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบติดตามการนำเข้าวัตถุดิบให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศและไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาและเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยไม่ได้ระบุให้คณะอนุกรรมการฯมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองหรืออนุญาตนำเข้าแต่อย่างใด
ที่ผ่านมาการนำเข้าวัตถุดิบทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้กรอบ WTO และการนำเข้าข้าวสาลีต้องขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐประกอบด้วย กรมการค้าต่างประเทศและกรมปศุสัตว์ ดังนั้นการกำหนดให้ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการชุดที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จึงถือเป็นการซ้ำซ้อน และเพิ่มขั้นตอนในการขออนุญาต อีกทั้งเป็นวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกับการนำเข้าวัตถุดิบอื่น อาทิ การนำเข้าข้าวโพดในกรอบ AFTA
นอกจากนี้องค์ประกอบของคณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และ วัตถุดิบทดแทนไม่เท่าเทียมกัน โดยมีฝั่งผู้ที่คัดค้านการผ่อนปรน 3 หน่วยงานได้แก่ 1. สภาเกษตรกรแห่งชาติ 2. สมาคมการค้าพืชไร่ 3. สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ในขณะที่มีฝั่งผู้เรียกร้องให้ผ่อนปรน 2 หน่วยงานได้แก่ 1. สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และ 2. ผู้แทนกลุ่มผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ดังนั้นการให้อำนาจคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาอนุญาตนำเข้านั้นมีความเป็นไปได้ที่จะไม่เกิดการอนุญาตให้นำเข้าเลย อีกประการหนึ่งการผ่อนปรนมาตรการนำเข้าของรัฐในครั้งนี้ ถือเป็นการทั่วไป ไม่ใช่ผ่อนปรนให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือสมาคมใดสมาคมหนึ่ง คณะอนุกรรมการชุดนี้จึงไม่สามารถตรวจสอบ และอนุมัติจำนวนจะนำเข้าได้เพราะมีองค์ประกอบไม่ครอบคลุมผู้นำเข้าจากทุกองค์กร
นายพรศิลป์กล่าวต่อว่า ยังคงรอคำชี้แจงจากกระทรวงพาณิชย์ถึงข้อคิดเห็นของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยที่มองว่าประกาศของกระทรวงพาณิชย์เป็นอุปสรรคต่อการผ่อนปรนนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ขณะที่สต๊อกวัตถุดิบของบริษัทผลิตอาหารสัตว์ต่างๆ เหลืออยู่ประมาณ 1 เดือนเศษเท่านั้น.- สำนักข่าวไทย