กรุงเทพฯ 4 มิ.ย. – สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์เตรียมหารือกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ ขอให้เร่งแก้ปัญหาขาดวัตถุดิบอาหารสัตว์ เหตุจากมาตรการไม่รับซื้อข้าวโพดจากแปลงเผา คาดจะเป็นผลให้รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ได้ 2-2.5 ล้านตัน เสนอปลดล็อกการควบคุมการนำเข้า 3:1 โดยสมาคมพร้อมประกันราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศจากแปลงไม่เผา 9.70 บาท/กก.
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะประชุมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์และกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือมาตรการแก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์และการบรรเทาภาระต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์
ก่อนหน้านี้ได้ส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าภายในเพื่อแจ้งถึงการคาดการณ์ ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากแปลงที่มีการเผาซึ่งรับซื้อมาผลิตอาหารสัตว์ไม่ได้ประมาณ 2 – 2.5 ล้านตัน ตามที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5
ต่อมากระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตรออกประกาศ เรื่อง หลักกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอรับรองกระบวนการผลิตข้าวโพดเมล็ดแห้งแบบไม่เผา เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 (PM 2.5 Free Plus) และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้จัดประชุมคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการผลิตพืชแบบไม่เผา โดยเริ่มที่สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีเป้าหมายให้เป็นมาตรฐานบังคับในอนาคต
สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล แต่การดำเนินการดังกล่าว จะต้องมีมาตรการรองรับเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จะใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ลดลง โดยคาดการณ์ว่าข้าวโพดที่จะรับซื้อไม่ได้จะมากถึง 2 – 2.5 ล้านตันจาก 2 ส่วนหลักคือ
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยที่มีการเผาแปลงซึ่งต้องหยุดรับซื้อมีประมาณ 10-20% ของพื้นที่ปลูก จะมีปริมาณข้าวโพดที่ไม่สามารถซื้อได้ 0.5 – 1 ล้านตัน
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านจะลดลงหรืออาจนำเข้าไม่ได้เลยเพราะต้องพิสูจน์ข้าวโพดนำเข้าให้ได้ก่อนว่า ไม่มีการเผา ทำให้ปริมาณการนำเข้าเฉลี่ยปีละ 1.5 ล้านตันหายไป
สมาคมฯ ได้รับแจ้งจากสมาชิกถึงความยากลำบากในการจัดหาวัถุดิบซึ่งปัจจุบันราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ภายในประเทศและการนำเข้ามีการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดภาระต้นทุนในการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น โดยสถานการณ์เพาะปลูกข้าวโพดในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงจากภัยแล้ง เกษตรกรบางส่วนหันไปปลูกมันสำปะหลังและอ้อย อีกทั้งปลูกล่าช้าออกไปกว่า 1 เดือน จากกลางเดือนเมษายนเป็นปลายเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้ผลผลิตจะออกสู่ตลาดได้ในช่วงกลางเดือนกันยายน ขณะที่ภาวะสงครามทำให้ราคาข้าวสาลีปรับตัวสูงขึ้น ส่วนเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในประเทศบราซิลซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตหลัก ผนวกกับค่าเงินที่อ่อนตัว รวมถึงค่าระวางเรือที่ปรับสูง ทำให้ราคาปรับสูงขึ้นกระทบกับตันทุนการผลิตอาหารสัตว์
จากสภาวการณ์ข้างต้นทำให้พ่อค้าคนกลางเห็นโอกาสในการกักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไร แม้ปัจจุบันราคารับซื้อข้าวโพดขยับขึ้นมากกว่า 11.20 บาท/กิโลกรัม แต่กลับไม่มีของป้อนเข้าสู่โรงงาน สมาคมมองว่า หากเป็นเช่นนี้ราคาข้าวโพดในเดือนมิถุนายน – สิงหาคมจะปรับตัวสูงขึ้นอีกมาก โดยเกษตรกรไม่ได้รับผลประโยชน์เพราะช่วงดังกล่าว ผลผลิตไม่ได้อยู่ในมือเกษตรกรแล้ว
สมาคมเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกมาตรการซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนหรือมาตรการ 3 : 1 และการยกเลิกโควตานำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO เพื่อให้มีปริมาณจากแหล่งอื่นมาเติมเต็มส่วนที่จะหายไป การนำเข้าวัตถุดิบทั้งสองส่วนนี้ถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมเนื่องจากเป็นการนำเข้าจากแหล่งประเทศที่ห่างไกลจึงไม่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 หรือหมอกควันข้ามแดนมาสู่ประเทศไทย จึงเป็นการสนับสนุนให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ดำเนินนโยบายไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากแปลงที่มีการเผาได้โดยไม่เกิดผลกระทบกับภาคปศุสัตว์ ตลอดจนผ่อนคลายปัญหาต้นทุนวัตถุติบอาหารสัตว์ที่กำลังปรับตัวสูงขึ้นอยู่ในขณะนี้
นายพรศิลป์ กล่าวว่า การยกเลิกมาตรการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วนและโควตานำเข้าข้าวโพดจะไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ เนื่องจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยจะร่วมมือในการรับประกันราคารับซื้อข้าวโพดขั้นต่ำให้แก่เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด เพียงแต่จะต้องเพิ่มเติมเงื่อนไขการประกันเฉพาะแปลงที่พิสูจน์ได้ว่า ไม่เผาเท่านั้น โดยราคาประกันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2567 ที่จะให้ความร่วมมือคือ ราคา 9.70 บาท/กิโลกรัมและราคารับซื้อจากเกษตรกรอยู่ที่ 9.00 บาท/กิโลกรัม ที่ความขึ้น 14.5% ณ โรงงานกรุงเทพฯ – ปริมณฑลตามที่ได้มีการประชุมหารือกับกรมการค้าภายในมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ตรวจสต๊อกข้าวโพดของกลุ่มพ่อค้าเพื่อลดการกักตุนเก็งกำไรในช่วงนี้ซึ่งยังไม่ถึงฤดูกาลเพาะปลูกหลัก เพื่อให้สมาชิกสมาคมสามารถจัดหาข้าวโพดมาใช้ในการผลิตได่อีกทั้งขอให้พิจารณาอนุมัติให้มีการปรับราคาจำหน่าย (price List) ให้แก่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ตามที่ร้องขอเนื่องจากแนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบกำลังปรับสูงขึ้น. -512 – สำนักข่าวไทย